สั่งการด่วน!‘พัชรวาท’วาง 3 กฎเหล็ก แก้ปมพิพาทเฉือน‘ป่าทับลาน’ ยันเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯคืนประชาชนแค่ 5 หมื่นไร่ ด้าน‘อธิบดีกรมอุทยานฯ’รอกรรมการเคาะ ย้ำยึดถูกต้อง ให้สิทธิ์คนอยู่ก่อน-เกษตรกรเดิม
ความคืบหน้ากรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ จนเกิดกระแสในโลกออนไลน์ได้มีการติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน กันในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ได้มีการรณรงค์ให้ลงชื่อคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าหากเรื่องนี้ผ่านแล้วจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้กว่า 265,000 ไร่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 มีรายงานว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีข้อสั่งการด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการปมประเด็นข้อพิพาทป่าทับลาน คือ
1.ให้พิจารณาสิทธิชาวบ้านในการถือครองที่ดินซับซ้อน ส.ป.ก.ที่ทำกิน ต้องไม่มีนายทุนนักการเมือง ถือครองเด็ดขาด พิสูจน์สิทธิให้ชัดเจน
2.ให้ความเป็นธรรมชาวบ้าน ที่อยู่มาดั้งเดิมกว่า 40 ปี เพื่อรับสิทธิที่ดินอย่างถูกต้องเป็นธรรม เพื่อจะกันพื้นที่ให้ชัดเจนลดความคัดแย้งที่มีมายาวนาน
3.พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะไม่อนุญาตให้แบ่งแยกออกไป เพราะต้องรักษาผืนป่าไว้ และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ
บทสรุปคือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้นที่เป็นชุมชนดั้งเดิม พื้นที่จะไม่ถึงกว่า 2.6 แสนไร่
ต่อมาเวลา 09.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์และคัดค้านจากสังคมไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อนำพื้นที่บางส่วนไปจัดสรรให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จากนั้นจะรวบรวมส่งเรื่องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณา และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในภายใน 30 วัน โดยที่ดินของชาวบ้านในขณะนี้มีประมาณ 5 หมื่นไร่ ที่เราจะดูแลชาวบ้านเป็นหลักก่อน ส่วนที่ดินทั้งหมดมีประมาณ 2.6 แสนไร่
เมื่อถามถึงกระแสคัดค้านของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำพื้นที่อุทยานดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ เพราะอาจเป็นการเอื้อให้กับนายทุน พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า เรารับฟังทุกเสียง เมื่อมีกระแสคัดค้านเราก็รับฟังและนำมาพิจารณา
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลา 40 ปี นับตัังแต่ปี 24 และพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่าสงวนมาก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน ต่อมาได้มีการจัดสรรให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและชุมชนโดยรอบไปใช้ประโยชน์ทำกิน 5.8 หมื่นไร่ ต่อมาได้ประกาศพื้นที่อุทยานไปทับกับพื้นที่ดังกล่าว ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต จึงมีข้อเรียกร้องให้กันพื้นที่ตรงนี้ออกจากเขตอุทยาน นำมาซึ่งการสำรวจพื้นที่ในปี 43 กำหนดแนวเขตขึ้นใหม่ แต่ยังไม่สิ้นสุดตามกฎหมายทำให้พื้นที่ยังมีสภาพป่า
ทั้งนี้ รัฐบาลหลายชุดพยายามแก้ปัญหาให้ประชาชน จนมาถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติให้กันพื้นที่ชุมชนออกไปอยู่ ในความดูแลสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยครม. มีมติเห็นชอบตาม คทช. โดยยกเว้นบุคคลที่มีคดีความจะไม่ได้รับการคุ้มครองและยกเว้นในที่ดิน โดยเรื่องคดีนับวันที่เกิดเหตุว่าทำผิดหรือไม่
นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนการปรับปรับปรุงแนวเขตอุทยานที่เราเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศทางออนไลน์แล้วจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแล้วใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน โดยคณะกรรมการยึดหลักความถูกต้องและฟังเสียงทั้งหมดทุกประเด็นในการพิจารณา ทั้งการทำกินและการรักษาพื้นที่ป่า ทั้งนี้ พื้นที่กว่า 2 แสนไร่ มีทั้งชาวบ้านที่อยู่เดิม คนมาซื้อที่ต่อ และกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดี 1.2 หมื่นไร่ ต้องนำมาพูดคุยว่าจะพิจารณาอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจะพิจารณาให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมใช้ประโยชน์ก่อนใช่หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า คนที่จะได้รับสิทธิ์ต้องมีคุณสมบัติ โดยชอบตามกฏหมาย แต่ทั้งหมดต้องรอรับฟังความเห็นและข้อยุติในคณะกรรมการอุทยาน ก่อนฯ
เมื่อถามว่า จากมติครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ถูกมองว่าเป็นการเอื้อให้นายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำรีสอร์ท นายอรรถพล กล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอยู่ และพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยให้คงสภาพเป็นที่ดินของรัฐ และที่ดินส.ป.ก.ยังถือเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ใครใช้ประโยชน์จะต้องมีคุณสมบัติ หากคุณสมบัติไม่ถูกต้องจะถูกนำที่ดินกลับคืน ส่วนบุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าวนั้น จะไม่ได้รับการยกเว้น
เมื่อถามย้ำว่า หากมีการจัดสรรพื้นที่ใช้ประโยชน์ใหม่ จะให้สิทธิ์ชาวบ้านที่อยู่เดิมหรือพิจารณาชาวบ้านทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับเท่ากันหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า สถานภาพของพื้นที่ได้เท่ากัน แต่คุณสมบัติของคนที่จะได้รับไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิมบางคนมาซื้อเปลี่ยนมือ บางคนมากว้านซื้อทีหลังซึ่งน่าจะไม่มีสิทธิ์ เมื่อถามอีกว่า ผู้ที่เป็นเกษตรกรใช้ที่ดินทำกิน จะได้รับการพิจารณาจัดสรรก่อนใช่หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ถูกต้อง นี่คือ หลักการการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ถือครอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมครม. พิจารณายกเลิกมติครม. เดิม ที่ทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ต้องรอความเห็นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติก่อน
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี