“ทุกคนมีเวลาเท่าเทียมกัน ทุกคนมี 24 ชั่วโมง ไม่มีใครมี 23 ไม่มีใครได้ 27 ทุกคนได้เท่ากัน แล้วภายใน 24 เราจะแบ่งประเภทการเคลื่อนไหวออกเป็น 3 ประเภท คือเรามีการเคลื่อนไหว เรียกว่า Physical Activity (กิจกรรมทางกาย) แล้วเราก็ไม่เคลื่อนไหว เรียกว่า Sedentary
Behavior (พฤติกรรมเนือยนิ่ง) แล้วก็มีการนอนหลับอันนี้คือหลับจริงๆ ไม่ใช่นอนแต่ดูมือถือหรือดูทีวีอันนั้นถือเป็น Sedentary Behavior”
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “ประชากรไทยกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 18“ประชากรและสังคม 2567” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา อธิบายการใช้เวลาของมนุษย์ในแต่ละวัน โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ และคนคนหนึ่งจะมีสุขภาพเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลาใน 3 กิจกรรมนี้ด้วย
เช่น คนที่พักผ่อนน้อย ในระยะสั้นเห็นผลทันทีคือมีสภาพมึนๆ งงๆ หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็แนะนำว่าคนเราควรมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ และไม่ควรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง อาทิ ใครนั่งนานๆ ก็ต้องลุกบ้าง ทั้งนี้ คนเราโดยมากจะนั่งทำงานเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน หรือบางช่วงอาจนานกว่านั้น คือยาวไปถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับว่าจะต้องนอนและมีกิจกรรมทางกายน้อยลง
เมื่อดูผลสำรวจการจัดสรรเวลาของประชากรไทยมีการสำรวจการใช้เวลาของประชากรไทยระหว่างปี 2552 และปี 2558 (ข้อมูลเก่า แต่เป็นข้อมูลชุดเดียวเท่าที่พอจะหาได้) จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 10 ปีที่ขึ้นไป รวม 135,824 คนพบว่า ในด้านกิจกรรมทางกาย (ซึ่งไม่เฉพาะการออกกำลังกาย แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายด้วย) ปี 2558 อยู่ที่ 8.6 ชั่วโมง/วัน ลดลงจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 9.5 ชั่วโมง/วัน หรือลดลงเฉลี่ย 54 นาที
ขณะที่ พฤติกรรมเนือยนิ่ง ปี 2558 อยู่ที่ 5.96 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 5.3 ชั่วโมง/วันหรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 39.6 นาที และการนอนหลับ ปี 2558 อยู่ที่ 9.44 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 9.2 ชั่วโมง/วัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.4 นาที ซึ่ง “การที่คนเรามีกิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง แต่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อความเสี่ยงเรื่องน้ำหนักตัว” เพิ่มโอกาสป่วยเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มอายุ
“กลุ่มประชากรไหนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เราก็จะเห็นว่าในช่วง Weekend (วันหยุดสุดสัปดาห์) จะมีการลดลงของกิจกรรมทางกายมากที่สุด เช่นเดียวกับในกลุ่มของผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไปจะมีการลดลงของกิจกรรมทางกายมากที่สุด เช่นเดียวกับพฤติกรรมเนือยนิ่ง เราจะเห็นว่ากลุ่มเดิมก็คือมีกิจกรรมทางกายลดลงมากที่สุดและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดเช่นกัน ส่วนนอนหลับจะใกล้ๆ กัน 10-15 นาที ในแต่ละกลุ่ม
ฉะนั้นอย่างที่บอกเลย การที่เราแทนที่กิจกรรมทางกายด้วยพฤติกรรมเนือยนิ่ง ล้วนแล้วแต่เสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักตัวแล้วก็โรคอ้วน แล้วก็ความผิดปกติทางโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุด้วย และกลุ่มที่มีความเสี่ยงก็คือกลุ่มที่มีการศึกษาจบระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป แล้วก็ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วอีก 2 กลุ่มที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงและมีกิจกรรมทางกายน้อย ก็คือผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่มีงานทำ” นุชราภรณ์ ระบุ
นุชราภรณ์ ฝากทิ้งท้ายว่า สำหรับข้อเสนอแนะ 1.สื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลสำคัญ ให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น และไม่ใช่เฉพาะเรื่องส่งเสริมการออกกำลังกาย แต่ต้องลดพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วย 2.การศึกษาพฤติกรรมแบบองค์รวมตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่งและการนอนหลับ 3.ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ทั้งในสถานที่ทำงาน ชุมชนและสถานที่สาธารณะ
อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันคือ “การตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงส่งผลต่อการกินของเด็กไทยในกรุงเทพฯ อย่างไร” บรรยายโดย นงนุช จินดารัตนาภรณ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในรอบ 10 ปีล่าสุด พบเด็กไทยมีภาวะอ้วนมากขึ้น และผลงานศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศ ชี้ชัดว่ากลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมอาหาร มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก
ทั้งนี้ เรื่องที่นำมาบรรยาย เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มของเด็กในประเทศไทย” ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจตัวอย่างเด็กจากทั่วประเทศกว่า 4 พันคนแต่ในครั้งนี้เลือกเฉพาะกลุ่มตัวอย่างเด็กในกรุงเทพฯ จำนวน 462 คน มานำเสนอ ขณะที่ “นิยามการตลาด” ในงานวิจัยนี้ จะเชื่อมโยงไปกับ “(ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลต่อสุขภาพของเด็ก”ที่ทาง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพในการยกร่างกฎหมายขึ้น
โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุการตลาดไว้ 9 รูปแบบ คือ 1.การใช้ภาพตัวการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์ 2.การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์ (เช่น ดารา อินฟลูเอนเซอร์) ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ 3.การตลาดแบบลด-แลก-แจก-แถม-ชิงโชค 4.ป้ายลดราคา 5.การให้ทุนการศึกษากับโรงเรียน 6.การให้เด็กถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอคู่กับผลิตภัณฑ์เพื่อเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ 7.ชักชวนให้ติดตามสื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ (เช่น เพจเฟซบุ๊ก) 8.การแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้ทดลอง และ 9.ส่งข้อความถึงเด็กโดยตรง (เช่น SMS)
“เราจะพบว่าที่เด็กในกรุงเทพฯ เห็นเยอะที่สุด เขาเห็นตัวการ์ตูนบนซองขนมหรือขวด รองลงมาก็จะเป็นป้ายลดราคาอาหาร จากนั้นก็จะเป็นเรื่องการเห็นการใช้คนดัง อินฟลูเอนเซอร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ทีนี้เราก็ถามต่ออีกว่าเห็นแบบนี้ไปเห็นที่ไหนบ้าง? เราก็จะพบว่าเด็กๆ ในกรุงเทพฯ เห็นมากที่สุดคือสื่อกลางแจ้ง (ป้ายโฆษณาต่างๆ) รองลงมาคือโทรทัศน์ แล้วหลังจากนั้นจะเป็นพวกสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook , YouTube , TikTok)
ทีนี้ก็จะเป็นส่วนที่ถามว่า สุดท้ายเห็นแล้วมันมีผลกับการกินของเขาไหม? เราก็พบว่าการขาย การให้ การแจก หรือการให้ทุนการศึกษาที่โรงเรียน มีผลกับการกินขนมหลายชนิดเลย หลายชนิดที่ให้พลังงานสูง ในขณะที่การลด-แลก-แจก-แถม-ชิงโชค ก็เป็นเหมือนกับที่ไปทำการตลาดในโรงเรียน หรือการที่เราใช้สิ่งจูงใจ เขาเรียกว่าเสี่ยงโชค ก็จะมีผลกับการกินอาหารของเด็กหลายชนิดมาก ในขณะที่ป้ายลดราคาการเห็นบรรจุภัณฑ์มีการ์ตูน มันก็จะเชื่อมโยงกับการกินขนมขบเคี้ยว ขนมหวานเครื่องดื่มรสหวานของเด็ก” นงนุช กล่าว
จากข้อค้นพบข้างต้น นงนุช เสนอแนะว่า กลยุทธ์การตลาดอาหารมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็ก โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานสูง และอยากให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดันร่างกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลต่อสุขภาพของเด็ก
เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทำให้เด็กไทยได้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี