เวียนมาอีกครั้งกับเทศกาล “เข้าพรรษา” ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ในศาสนาพุทธจะอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง ไม่เดินทางไกล โดยระหว่างอยู่ประจำที่วัดเป็นเวลา 3 เดือนตลอดช่วงเข้าพรรษา จะเป็นช่วงที่พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาทบทวนหลักธรรมอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนิกชนที่เป็นฆราวาส ก็อาจใช้ช่วงเข้าพรรษา ลด-ละ-เลิกอบายมุข เปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองให้ดีขึ้นได้ ดังตัวอย่างของโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 มีการจัดงานแถลงข่าว “ฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา 2567 เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ใน 90 วัน” โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. กับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2566 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า มีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 10.2 ล้านคนจากจำนวนผู้ที่ดื่มทั้งหมด 24.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 7.7 แสนคน
ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ผู้งดดื่มตลอดพรรษา 21.3% ผู้ที่งดบางช่วง 9.1% และผู้ที่ไม่งดแต่ลดการดื่มลง 10.5% โดยกลุ่มตัวอย่าง 66.3% ระบุว่าได้รับผลดีจากการลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายดีขึ้น สุขภาพจิตใจดีขึ้น รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยคนละ 1,506.97 บาท รวมทั้งประเทศประหยัดได้ราว 4.2 พันล้านบาท
นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2567 นี้ สคล. ร่วมกับหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน กว่า 3,500 แห่ง ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างการรับรู้และเชิญชวนงดเหล้าเข้าพรรษา รวมทั้งตั้งจุดลงนามปฏิญาณตน โดยมีโปรแกรม Sober CHEERs ซึ่งเป็นการจัดเก็บระบบฐานข้อมูล และติดตามผู้ที่เข้าร่วมบวชใจงดเหล้า ที่สมัครใจร่วม ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษาโดยใช้โมเดล SoBrink Soclub
น.ส.ฟ้าอิงตะวัน ไวยกรรณ์ นักกระบวนกรหลักสูตรเสริมพลังตับฟื้นพลังชีวิต สคล. กล่าวว่า ตนเป็นสาวสายปาร์ตี้ ชีวิตวนเวียนอยู่กับเหล้าเกือบ24 ชม. จนเมื่ออายุ 38 ปี ตรวจพบอาการตับแข็งและค่าตับที่สูงมีแนวโน้มของการเป็นมะเร็งตับ จึงหันมาเริ่มศึกษาภูมิปัญญาจากแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เพื่อช่วยล้างพิษและเสริมพลังตับ จนพบว่าสมุนไพรไม่ได้ปรุงเป็นยาเพื่อรักษาเท่านั้น แต่ปรุงเป็นอาหาร และเครื่องดื่มได้ จึงพัฒนาสูตร SoBrink ใช้สมุนไพรต่อต้านอนุมูลอิสระ
มีทั้งสูตรอาหาร และเครื่องดื่ม จากพืช ผัก สมุนไพรที่หาได้จากหลังบ้านมาแปลงเป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อล้างพิษตับ เสริมพลังตับ และเลือกวัตถุดิบที่ไม่ผ่านกรรมวิธีการแปรรูป และทำควบคู่กับกิจวัตรประจำวันตามนาฬิกาชีวิต คือ นอนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด ออกแดด ออกกำลังกาย ให้อภัยไม่เครียด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่นำสูตรนี้ไปใช้ได้รับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ในช่วง 3 เดือนนี้ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล และการจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “SoBrink”
น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังมุ่งสร้างรากฐานการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ หนี้ครัวเรือน และหนี้ส่วนบุคคล เพราะมีรายจ่ายที่สูงกว่ารายรับ ขาดการวางแผนด้านการเงิน ปัญหาคือไม่มีเงินเก็บ แนวทางการแก้ไข ต้องเสริมทักษะการวางแผนทางด้านการเงิน ให้ความสำคัญในการออมเงิน เก็บทีละเล็ก ทีละน้อยจนเป็นนิสัย จึงอยากแนะนำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้จ่ายโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น และทำลายสุขภาพ ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ซึ่งสามารถเปลี่ยนเงินค่าเหล้ามาเป็นเงินออม
นายชาคริต จินะคำปัน อายุ 42 ปีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านเกาะกลาง ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 20 ปี กลายเป็นคนขี้เหล้า ไม่ทำอะไร ไม่มีใครไว้ใจ หลังจากพ่อป่วยทำอะไรไม่ได้ จึงตัดสินใจ “หักดิบ”เลิกดื่มแบบจริงจัง พอได้กินอิ่มนอนหลับ ร่างกายได้พักผ่อนก็มีแรง สามารถมาทำงานประกอบอาชีพ มีรายได้ มีเงินเก็บ คนในชุมชนได้เปิดโอกาสให้เราเข้ามาช่วยงานสังคม ช่วยกิจกรรมต่างๆ จึงได้ชักชวนคนในหมู่บ้านเลิกดื่มเหล้าไปได้แล้วหลายคน
อีกด้านหนึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ “การบำบัดผู้ป่วยติดสุรา ได้ผลดี หากไม่ทำแบบตั้งรับ” โดย รศ.ดร.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การตั้งรับคือรอให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าผู้ป่วยหยุดการรักษากลางคันและกลับไปดื่มอีก ในขณะที่วิธีการเชิงรุก คือการคัดกรองผู้เสี่ยงติดสุราในชุมชน อำนวยความสะดวกในการส่งรักษาต่อในสถานพยาบาล และติดตามต่อ โดยการเยี่ยมบ้านโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
เน้นการสื่อสารเชิงบวกและมี “เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์” มือถือราคาย่อมเยาเป็นอุปกรณ์หลักในการเยี่ยมบ้าน และติดตามผล ว่ายังมีการดื่มสุราอยู่หรือไม่ หากหยุดดื่มได้ อสม. จะกล่าวชมเชย หากยังหยุดดื่มไม่ได้ ก็กล่าวให้กำลังใจให้ผู้ดื่มมีความพยายามในการเลิกสุราต่อไป อย่างไรก็ตามต้องให้เวลากับผู้ดื่มระยะหนึ่งในการเลิกสุรา เนื่องจากจำนวนไม่น้อยยังอาจมีการดื่มๆ หยุดๆ ในระยะแรก แต่เมื่อผ่านไป 4 เดือนผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่ง สามารถหยุดดื่มได้ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี