หลังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการ มีมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบให้สามารถขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ในวันพระใหญ่ประกอบด้วยวันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชาวันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ที่ท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ โดยจากนี้ ก็ต้องไป ปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ต่อไป
เมื่อดูเหตุผลของการเปิดไฟเขียวรอบนี้พอรับได้ เพราะเป็นการอนุญาตเฉพาะการขาย การดื่มในกลุ่มที่จะบินออกนอกประเทศเท่านั้น ซึ่งปกติ คนที่บินออกนอกประเทศบางครั้งยังสามารถดื่มได้บนเครื่องบินด้วยซ้ำ ดังนั้นการอนุญาตตรงนี้จึงไม่มีผลกระทบต่อข้อกังวลเรื่องผลกระทบกับประเทศ ในทางกลับกัน อาจจะพอกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวได้ด้วย...คณะกรรมการเค้าว่ามาอย่างนั้น
แต่ที่ทำเอาสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามมากมายก็คือกรณีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. อยากเอาด้วย จึงเสนอเข้าที่ประชุมบ้าง โดยขอให้พิจารณาแนวทางการขอยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นได้ให้ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับ ร.ฟ.ท.หารือแนวทางและมาตรการควบคุมป้องกันด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยวและร่างกฎหมายส่งให้ คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พิจารณาถึงความเหมาะสมและผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนต่อไป
เรื่องนี้มีคนออกมาคัดค้านมากมาย โดยเฉพาะเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพฯ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เพราะมองว่า ข้อเสนอนี้นอกจากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาพรวมแล้ว ยังเป็นการทำลายคุณภาพของการท่องเที่ยวจากคนเมาหยำเปเกลื่อนไปทั่ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบด้านลบตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเสียงดังรบกวนผู้โดยสารคนอื่น การทะเลาะวิวาท อาชญากรรม การลวนลามทางเพศ ฯลฯ
ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือไม่อยากจะเชื่อว่า “ร.ฟ.ท.” จะกล้าเสนอมาตรการนี้ออกมา เพราะเหตุผลหลักของการที่บ้านเมืองต้องออกกฎหมายควบคุมการขาย การดื่มที่สถานีรถไฟ ตลอดจนการดื่มบนขบวนรถไฟ ก็เนื่องจากเมื่อ 10 ปี ก่อน พนักงานการรถไฟเองนั่นแหละที่ทั้งเสพยาบ้า และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา แล้วก่อเหตุข่มขืน เด็กหญิงวัยเพียง 13 ปีก่อนจะโยนร่างออกจากขบวนรถไฟ จนเสียชีวิต นับเป็นเหตุฆาตกรรมสะเทือนใจคนทั้งประเทศ
เรื่องนี้ เครือข่ายฯ กัดไม่ปล่อย เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องมากมาย โดย 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็ยื่นหนังสือถึง นายจเร รุ่งฐานีย รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อคัดค้านการยกเลิกห้ามขายห้ามดื่มเหล้าเบียร์บนรถไฟและสถานี และทวงถามการติดตามเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจครอบครัวเหยื่อฆาตรกรรมสะเทือนขวัญ
เจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพฯ ระบุว่า จากกรณีเด็กหญิงถูกพนักงานรถไฟข่มขืน และทิ้งร่างน้องลงข้างทาง จนเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจกับประชาชนทั้งประเทศเหตุเกิดเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เครือข่ายฯ ได้ร่วมกันผลักดันให้มีมาตรการห้ามขายห้ามดื่มเหล้าเบียร์บนรถไฟและสถานีรถไฟ จนมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. 2558 ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
จากนั้นเครือข่ายฯ มีการติดตามการบังคับใช้กฎหมายมาต่อเนื่อง จึงไม่เห็นด้วยที่ ร.ฟ.ท.เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ขอให้มีการพิจารณาทบทวน ยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือการดื่มแอลกอฮอล์ บริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัย ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ จนไปถึงการเสียชีวิตย่อมตามมาอีกแน่นอน
สำทับด้วย ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ระบุว่า การรถไฟฯจะคิดง่ายๆแบบนี้ไม่ได้ เราจะตอบครอบครัวของผู้สูญเสียในวันนั้นได้อย่างไร เพราะกฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุร้ายกับน้องก็เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับคนอื่นอีก เครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อการรถไฟฯ ดังนี้ 1.ขอคัดค้านการยกเลิก ข้อยกเว้นการห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถไฟที่อยู่บนทางรถไฟ
2.ขอสอบถามความคืบหน้าไปยัง ร.ฟ.ท.เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่ออายุ 13 ปี ที่ถูกกระทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 3.ขอเรียกร้องให้ ร.ฟ.ท.เร่งพัฒนาคุณภาพการบริการ ความปลอดภัยในการใช้รถไฟ ความตรงต่อเวลาของสถานีรถไฟ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการใช้บริการรถไฟมากยิ่งขึ้น มากกว่าการมุ่งจะขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะสร้างผลกระทบตามมาอีกมากมาย และ 4.ขอเรียกร้องให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนการตัดสินใจต่อมาตรการนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด
ในวันนั้นมีผู้แทนมารับหนังสือ แต่ทุกอย่างก็หายเงียบเข้ากลีบเมฆ กระทั่งเครือข่ายฯยังไม่ยอมแพ้ ล่าสุดวันที่ 19 กรกฎาคม ถึงได้รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อไปยื่นหนังสือ ถึง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงที่ทำการกระทรวงคมนาคม เพื่อคัดค้านข้อเสนอของ ร.ฟ.ท.ซึ่งมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. เป็นผู้มารับหนังสือ
โดยทางเครือข่ายได้ย้ำจุดยืนว่า ร.ฟ.ท.ไม่ควรเสนอมาตรการอนุญาตให้ขาย – ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สถานีรถไฟ และบนขบวนรถไฟ และก็ไม่ควรมีใครเสนอมาตรการนี้เช่นเดียวกัน ต้องไม่ลืมความเจ็บปวดของครอบครัวผู้สูญเสีย
สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายวันนั้นมี 4 ข้อเช่นกัน แต่ในรายละเอียดมีความแตกต่างกัน ยกมาให้อ่านอีกครั้ง ดังนี้ 1.ขอคัดค้านข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรการห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถไฟ อาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย เพิ่มปัญหาและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ ในขณะที่ตำรวจรถไฟได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
2.ขอเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการให้ ร.ฟ.ท.พัฒนาคุณภาพการบริการ ความปลอดภัยในการใช้รถไฟ ความตรงต่อเวลาของสถานีรถไฟ เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมมากกว่าการเปิดทางให้เมาขาดสติเดินทางด้วยรถไฟ 3.ขอเรียกร้องให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความเห็นก่อนการตัดสินใจต่อมาตรการนี้ให้รอบด้านที่สุด และ 4.ขอเรียกร้องให้นำตำรวจรถไฟกลับมาเป็นผู้ดูแลขบวนรถไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารเช่นเดิม
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องเพื่อให้สังคมไทยห่างไกลจากผลกระทบที่เลวร้ายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี