ผ่านพ้นไปแล้วกับ “การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)” โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรอง สว. ชุดใหม่ หลังจากตลอดทั้งเดือนมิ.ย. 2567 ได้จัดให้มีการ “เลือกกันเอง” ของบรรดาผู้สมัครตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนมาถึงระดับประเทศซึ่งเป็นรอบสุดท้าย ในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 และเมื่อ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือก สว. แล้ว ก็เท่ากับเป็นการ “สิ้นสุดภารกิจ” ของบรรดา สว. ชุดตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หลังทำหน้าที่มา 5 ปีและรักษาการต่ออีก 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม การเฟ้นหาสมาชิกสภาสูงรอบล่าสุดถูกตั้งคำถามเรื่อง “ความโปร่งใส” อย่างมาก “ฮั้ว”, “จัดตั้ง”, “บล็อกโหวต” กลายเป็นคำที่พูดกันทั่วไปเมื่อกล่าวถึงการเลือก สว.ครั้งนี้ มีการออกมา “แฉ” ผ่านสื่อ และมีบรรดาผู้สมัครที่พลาดหวังพากันไป “ร้องเรียน” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ จนเวลานั้นมีการคาดเดาว่า อาจจบที่คำว่า “โมฆะ” ต้องเริ่มต้นกระบวนการเลือกกันใหม่ กระทั่ง กกต. ตัดสินใจรับรองผลในที่สุด
อีกทั้งยัง “ร่ำลือ” กันไปว่า “กลุ่มสายสีน้ำเงิน” ที่ได้สัดส่วนเก้าอี้ สว. เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลถึงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีอดีตสภาสูงบางท่านมองว่าไม่เกี่ยวกัน อาทิ วันชัย สอนศิริ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 ชี้ว่า “ต่อให้มี สว. ในมือเยอะๆ ก็ไม่มีผลอะไร เพราะ สว. ชุดใหม่ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี” และไม่ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีอำนาจต่อรองในรัฐบาลเพิ่มขึ้น
ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 วันชัย สอนศิริ (ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็น สว. รักษาการ) ได้ให้ความเห็นในรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์”ในเรื่องการเฟ้นหาสภาสูงชุดใหม่ ว่า “เพราะเป็นของใหม่ กติกาใหม่จึงมีความสับสนอลหม่าน” อีกทั้งกติกาแบบนี้เอื้อต่อการจัดตั้ง ใครที่มาแบบไปคนเดียว ตนบอกเลยอย่างไรก็ไม่ได้ แม้แต่ตนที่ดูเป็นคนมีชื่อเสียง แต่หากตนไปคนเดียวก็ตกเหมือนกัน ที่บอกว่าห้ามหาเสียง ห้ามจัดตั้ง ห้ามบล็อกต่างๆ เอาจริงๆ ก็ยาก
ซึ่งตนพูดมาตลอดว่าถ้าจับได้ไล่ทันก็เล่นงานไป แต่ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันท่านก็มาเป็น สว. กันต่อไป “เราหวังว่าทุกคนจะบริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริง ทุกการแข่งขันมีการวางแผนจัดตั้งและดำเนินการ ดังนั้นประเด็นคือจะจับคนทำผิดได้หรือไม่แต่คนที่ตกรอบคือไม่ได้จัดตั้งหรือยังจัดตั้งไม่พอ” แต่ถึงจะมองว่าจัดตั้ง เท่าที่ตนลองอ่านประวัติว่าที่ สว. แต่ละคน คนอื่นจะว่าอย่างไรไม่รู้ แต่โดยส่วนตัวตนมองว่าก็ใช้ได้ อย่างน้อยคือราวๆ 150 คน
“เผอิญอาจจะมีแม่ค้ากล้วยทอดเข้ามาบ้าง คนขับรถเข้ามาบ้าง อาจจะมีโฆษกงานวัดงานบุญงานบวช เราไม่เคยเห็นเราก็เลยมองดู โอ้โห!..เป็นเรื่องประหลาด เรื่องตื่นตระหนกตกใจ แต่ส่วนใหญ่..เอาเป็นว่าส่วนใหญ่ ผมว่าเป็นคนที่มีคุณสมบัติซึ่งบางครั้งผมก็ยังคิดไม่ถึงเลย เออ!..มันก็แปลก เพราะฉะนั้นผมว่ามีความหลากหลายดี แล้วถามว่าทำหน้าที่ได้ไหม? ผมมองว่าการเป็น สว. ไม่ได้ยากอะไรเลย ใครก็เป็นได้ เราคิดไปเอง” นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย อธิบายประเด็นนี้เพิ่มเติมโดยย้อนถามว่า “การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) คิดว่าเป็นยากหรือไม่?” ซึ่ง “ก็ไม่ได้ยาก” เพราะเขาต้องการความรู้ความสามารถของคนแต่ละสาขาอาชีพ อย่างเรื่องการทำนา ทำสวน หรือเรื่องเทคโนโลยี ต่างก็มีความยาก เพียงแต่เขาต้องการให้คุณมาพูดในสิ่งที่คุณมีความรู้ เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง อย่างตนไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจหรือวิทยาศาสตร์ ในที่ประชุมตนก็ไม่พูดเรื่องเหล่านี้ แต่ตนรู้เรื่องกฎหมายและวิธีปฏิบัติทางคดี เขาก็ต้องการคนแบบตน ดังนั้นจะเป็นเกษตรกร พ่อค้า-แม่ค้า คนขับรถ ก็ถือว่าเป็นอาชีพอิสระ
แต่เรื่องสำคัญคือ “ต้องเสียบบัตรให้เป็น และดูปุ่มกดให้ถูกว่าอันไหนเห็นด้วย อันไหนไม่เห็นด้วย และอันไหนงดออกเสียง” เพราะการใช้สิทธิ์โหวตถือเป็นเรื่องใหญ่ และตนเชื่อว่าแม้จะขายกล้วยแขกแต่ก็ต้องเสียบบัตรเป็น ส่วนเรื่องปุ่มกดก็เป็นสีต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ที่เหลือก็เป็นการมานั่งประชุม ซึ่งตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตนเห็น สว. บางคนในที่ประชุมไม่เคยพูดแม้แต่ครั้งเดียว เพียงแต่ในชั้นกรรมาธิการก็จำเป็นต้องพูดให้ความเห็นแต่สาระสำคัญคือการต้องมาประชุมและโหวต ไม่ว่า สว. หรือ สส. เขามีไมโครโฟนให้ นั่นแปลว่าต้องการให้มาพูด
“พูดนี่ไม่จำเป็นต้องพูดทุกคน ส่วนใหญ่เขาแทบจะเตี๊ยมกันมาแล้วทั้งนั้น เขาเรียกว่าวิปกันมาแล้วทั้งนั้น เรื่องนั้นจะโหวตว่าอย่างไร อะไรต่างๆ มันแทบจะมีกระบวนการ แต่นี่มันเป็นพิธีกรรม เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าใครจะเป็นนักมวย เป็นคนขับรถ ขายกล้วยทอด โฆษกงานวัด เท่ากัน! ถ้าเป็น สว.ก็เท่ากับจบปริญญาเอก เพราะคนปริญญาเอกก็ทำนาไม่เป็น” นายวันชัย ระบุ
นายวันชัย กล่าวต่อไปถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ สว. ชุดใหม่ ที่มี “หลายสาย” ทั้งสีน้ำเงิน สีส้มและสีแดง ว่า “หากไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะวุฒิสภาเป็นเพียงสภากลั่นกรองเท่านั้น” อย่างเรื่องการออกกฎหมายต่างๆ วุฒิสภาไม่สามารถทำเองได้เหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งในกลไกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สส. ที่มีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ เข้าไปร่วมอยู่ ก็แทบจะมีความเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้ว และแม้จะมีความพยายามขอปรับแก้ร่างกฎหมาย สุดท้ายก็ต้องไปจบที่การตั้ง กมธ. ร่วมของทั้ง 2 สภา
และในท้ายที่สุด “สว. ก็ไม่สามารถปฏิเสธร่างกฎหมายที่ สส. เสนอเข้ามาได้ หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติจะให้ร่างกฎหมายนั้นออกมามีผลบังคับใช้” ดังนั้น สว. จึงไม่สามารถช่วยต่อรองทางการเมืองได้ ขณะที่ “การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ” อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ซึ่งกังวลกันว่า “การเมืองอาจแทรกแซง” แต่ในความเป็นจริง “สว. ก็ไม่ได้เสนอชื่อบุคคลกันขึ้นมาเอง” เพราะมีกลไกสรรหา
“มันจะต้องผ่านกระบวนการของกรรมการสรรหา 9 ท่าน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และยังต้องประกอบด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน แล้วนอกนั้นก็จากองค์กรอิสระต่างๆ ทั้งหมดที่เขาเลือกกันมา 9 ท่าน แปลว่าใครจะเป็นได้นั้นต้องตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตรวจสอบกลั่นกรองแล้วจึงเสนอชื่อมาให้วุฒิสภาโหวต 2 คน 3 คน 5 คน
คนที่ไม่ผ่าน เท่าที่ผมนั่งดูมาโดยตลอด ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีปัญหาด้วยตัวของเขาเอง มีประวัติไม่ดี เคยมีปัญหาทะเลาะกับเมียน้อย มีปัญหาถูกฟ้องร้อง มีปัญหานู่นนี่ ซึ่งคุณสมบัติมีปัญหาในตัวแล้วถึงไม่ผ่าน และ สว. ก็ไม่โหวตให้ผ่าน ฉะนั้นกรรมการสรรหาแต่ละท่าน ผมเอ่ยมา 9 คน แล้วคนจะสมัคร คุณสมบัติต้องเป็นอธิบดี จะต้องเป็นนู่นเป็นนี่ แล้วแต่ละคนมาแล้วคุณว่ามันจะสีไหนได้ ผมถึงบอกว่าพูดกันนึกเอาเอง คิดเอาเอง”นายวันชัย อธิบาย
นายวันชัย กล่าวต่อโดยยกตัวอย่าง เช่น เมื่อคณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อบุคคลที่สมควรให้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระเข้ามาให้ สว. ลงมติ หากพรรคสีน้ำเงินอยากได้ผู้สมัครคนใด ก็อาจบอกให้ทีมช่วยโหวตคนนั้นให้ที แต่ถึงไม่บอกให้ช่วยโหวตเผลอๆ คนคนนั้นก็อาจได้เช่นกัน เพียงแต่ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง และจากประสบการณ์ของตน “เอาจริงๆ คนที่อยากเป็นองค์กรอิสระ ที่เห็นผ่านๆ มาก็วิ่งกันทั้งนั้น” ก่อนที่ประชุม สว. จะเริ่มการโหวต
อย่างตนก็เคยมีคนประสานเข้ามา อ้างว่าเป็นเพื่อนคนนั้นบ้าง เรียนรุ่นนี้บ้าง เป็นคนจังหวัดโน้นบ้าง “คนที่อยู่เฉยๆ มีน้อยมาก” หรือบางคนก็มีการไปพบ ไปหา ไปเจรจาร้อยแปดพันประการ ดังนั้นตนถือว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นการตัดสินใจของเรา เช่น อาจมีคนมาหาตน 3 หรือ 5 คน แต่จะชอบหรือไม่ชอบใครก็เป็นเรื่องของตน โดยสรุปแล้วก็ต้องย้ำว่า เมื่อ สว. ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องก็ไม่มีอะไรไว้ใช้ต่อรอง แม้ว่าพรรคการเมืองนั้นจะมี สว. ครบ 200 คน เต็มโควตาวุฒิสภาก็ตาม
และที่สำคัญ “คน 200 คน เขาก็มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง จะไปบอกว่าสามารถสั่งซ้ายหัน-ขวาหัน เหมือนฝึกนักเรียนนายร้อยหรือนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) คงเป็นไปไม่ได้” ดังนั้นที่บอกว่า สว. ชุดใหม่ จะผลักดันให้บุคคลบางท่านเป็นนายกฯ ได้ นั่นคือการพูดบนความไม่เข้าใจบทบาท ซึ่งแม้เมื่อดูการเลือกตั้งต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จริงอยู่ที่ใครๆ ก็อยากให้พรรคพวกของตนเองได้ตำแหน่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งเหล่านั้นมีระเบียบมีกติกากำกับอยู่
แม้กระทั่ง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่บอกว่า “ต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3” สมมุติบอกว่ามี สว. สายสีน้ำเงิน 123 หรือ 130 คน ก็ยังเหลือ สว. กลุ่มอื่นๆ อีก 70 คน และถึงจะบอกว่า สว. 120 กว่าคน แต่เวลาแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน เชื่อว่าพรรคสีน้ำเงินอยากแก้ในหลายจุด และทุกพรรคการเมืองก็มีทั้งจุดร่วมและจุดต่างในการแก้ไข ดังนั้นจะให้มีเสียง สว. 70 กว่าเสียง ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ไม่ได้มีผลขนาดพลิกฟ้าคว่ำดิน หรือไม่ได้มีอำนาจต่อรองถึงขั้นพลิกรัฐบาลได้
“ผมเห็นคนวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์กันในทีวี ในโซเชียลแล้ว คือเขาไปคิด แม้แต่พรรคสีส้มบางคนยังมานั่งวิเคราะห์ว่าจะมีอำนาจต่อรองว่าจะเป็นอย่างนั้น สว. มีฤทธิ์อยู่คือชุดผมนี่พอวันที่ 10 (10 พ.ค. 2567 วันที่ สว. ชุดตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หมดวาระ) หมดฤทธิ์แล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาๆ เลย 10 พฤษภา ที่ผ่านมามันหมดฤทธิ์แล้ว” นายวันชัย สรุปประเด็นข้อวิเคราะห์ต่างๆเกี่ยวกับ สว. ชุดใหม่
จากเรื่อง สว. นายวันชัย เล่าต่อไปถึงประสบการณ์ทางการเมืองของตนเกือบ 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่เริ่มเกิดความขัดแย้งแบ่งคนเป็นเสื้อสีต่างๆ ซึ่งตนก็เคยมีจุดยืนร่วมกับกลุ่มเสื้อเหลือง ต่อสู้กับกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่วันหนึ่ง ตนเห็นการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธเกลียดชิงชัง ทำให้หลายครั้งที่มีโอกาสได้พูดในสภา ก็ได้ย้ำเรื่องของ “ปรองดอง-สมานฉันท์” ว่าเป็น “เรื่องใหญ่ของประเทศ” เพราะแม้จะมีกฎหมายดีและมีงบประมาณมหาศาล แต่ประชาขนยังแบ่งสีเป็นกลุ่มต่างๆ เข้าห้ำหั่นกันก็ไม่มีประโยชน์
เมื่อการเมืองแบ่งสี พี่น้องแตกคอ ครอบครัวแบ่งแยก คนในหมู่บ้านเดียวกัน คนหนึ่งแดง-คนหนึ่งเหลือง กินข้าวร่วมกันก็ไมได้ บรรยากาศมีแต่ความเครียด แม้แต่ในสภา (นายวันชัย เคยเป็น สว. แบบสรรหา สมัยยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550) ก็เหมือนกับจะฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง ไม่ใช่เวทีของเหตุผล ซึ่งบรรยากาศอาจซาลงบ้างในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ และเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตนก็ยังมีความรู้สึกอึดอัดอยู่ เพราะ สว. กับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ก็ยังยืนอยู่คนละข้างกัน และเห็นว่าบรรยากาศแบบนี้ควรเลิกได้เสียที
นายวันชัย ชี้ว่า “เหตุที่ประชาชนแตกแยกแบ่งฝ่ายก็มาจากนักการเมืองแย่งอำนาจ” ถึงขนาดที่บางยุคสมัย นักการเมืองหรือแม้แต่คนเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีบางพื้นที่ที่ไม่สามารถเดินทางไปได้ กระทั่งวันที่ 22 ส.ค. 2567 จึงได้เห็นภาพการรวมตัวของคู่ขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย-กลุ่มเสื้อแดง กับพรรคพลังประชารัฐ-พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่อยู่ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์และมีกลุ่ม กปปส. เป็นมวลชนสนับสนุน เวลานั้นตนเห็นว่านี่คือ “ปฐมบทแห่งการปรองดอง” ที่เป็นรูปธรรมที่สุด
“มันเหมือนปลดปล่อย ผมเอง..เออ! บ้านเมืองมันอาจจะมีคนได้บ้าง คนเสียบ้าง ยอมกันบ้าง ไม่ถูกบ้าง ผิดบ้าง มันไม่มีใครดีหมดทุกคน แล้วก็ไม่มีใครเสียหมดทุกคน แล้วคนเป็นนายกรัฐมนตรีมามีใครชอบหมดทุกคน? ผมจึงมีความรู้เลยว่าจบแล้ว ผมไม่มีสิทธิ์ประคับประคอง เพราะผมเป็นตัวเล็กๆ หนึ่งแต่โดยส่วนตัวของผม อะไรที่ทำให้เกิดความทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้ง ตอกลิ่ม ผมเลิก! แล้วผมคิดว่าอะไรที่จะทำให้บ้านเมืองมันสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เดินหน้ากันไป ยอมกันบ้างได้กันบ้างเสียกันบ้าง แต่บ้านเมืองลดสีแบ่งฝ่าย ลดความห้ำหั่น ลดการอาฆาตมาดร้าย ลดอาการทะเลาะกัน อันนี้จึงเป็นจุดยืนที่ผมแสดงออก” นายวันชัย กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้าจะมาเป็น สว. บทบาทของ วันชัย สอนศิริ ที่คุ้นชินตามสื่อต่างๆ คือการเป็น “ทนายความ” มีชื่อเสียงจากการออกมาให้ความรู้ด้านกฎหมายกับสังคมไทย ดังนั้นเมื่อถามถึงสิ่งที่จะทำต่อไปหลังสิ้นสุดภารกิจการเป็น สว. นายวันชัย กล่าวว่าคงจะกลับไปทำรายการให้ความรู้ด้านกฎหมายเช่นเดิม แต่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ และเพิ่มเติมด้วยการวิเคราะห์การเมืองจากประสบการณ์ตรง ซึ่งจะแตกต่างจากการวิเคราะห์จำนวนมากซึ่งอ้างอิงข้อมูลข่าวสารตามที่ปรากฏผ่านสื่อ
“ผมก็เริ่มทำ TikTok ทำ Facebook ทุกวันศุกร์-เสาร์ อะไรอย่างนี้ ก็จะเขียนข่าว Live ยัง แต่ TikTok ก็เริ่มแล้ว สัปดาห์ละครั้งสองครั้ง ก็มีคนตาม บาง TikTok ก็ 7 แสน
บาง TikTok ไม่มีเลยก็แสนกว่า ก็ถือว่าน่าจะทำประโยชน์อะไรให้กับประชาชนได้” นายวันชัย กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น.โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี