เครือข่าย RSA Thai ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขตลอดจนสหวิชาชีพอื่นๆ ได้จัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ความท้าทายในการเข้าถึงและกำลังจ่ายของบริการยุติการตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์” เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากนับจากวันที่ 6 ก.พ. 2564 ซึ่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 ที่มีสาระสำคัญคือ “อนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์หรือ “ทำแท้ง” ได้ ส่วนอายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้อยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์” ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็เป็นเวลา 3 ปีกว่าแล้ว
ชีวิน วงษาทองไชย เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้รับบริการในกรณีซับซ้อน สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (วันที่ 1 ม.ค.-14 ก.ค. 2567) มีหญิงตั้งครรภ์ใช้บริการสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ส่วนใหญ่เป็นอายุครรภ์น้อยกว่า 11 สัปดาห์ 15,877 ครั้ง รองลงมา อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ 2,618 ครั้ง และอายุครรภ์ 20-28 สัปดาห์ 481 ครั้ง
โดยในส่วนของ “ความไม่พร้อมมีบุตร” จึงต้องโทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษา ปัจจัยอันดับ 1 คือเรื่องเศรษฐกิจ เช่น มีรายได้ไม่เพียงพอใช้จ่ายในครัวเรือน ถูกเลิกจ้างไม่มีงานทำ มีหนี้สิน นอกจากนั้น “ในความเป็นจริงยังพบสถานประกอบการบางแห่งที่กดดันให้ลูกจ้างลาออกหากพบว่าตั้งครรภ์” รองลงมา คือเรื่องความสัมพันธ์กับคู่ครองหรือครอบครัว เช่น ฝ่ายหญิงท้องแล้วฝ่ายชายทอดทิ้ง ครอบครัวไม่ยอมรับหรือไม่อยากให้มีบุตร
ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น หากมีบุตรหลายคนอาจไม่สามารถเลี้ยงได้ไหว โดยครอบครัวในอดีตมีลูก 2-3 คนไม่เป็นอะไร แต่ปัจจุบันมีคนแรกก็ลำบากแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็จะสัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่กรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ และกรณีทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายผิดปกติ พบน้อยมาก แต่จะเป็น 2 กรณีที่สถานพยาบาลยินดียุติการตั้งครรภ์ให้มากที่สุด
“สาเหตุที่ทำให้คนรู้ตัวช้าว่าตัวเองตั้งครรภ์ อันที่ 1 เขามั่นใจเรื่องการคุมกำเนิดว่าฉันคุมมาดีแล้วนะ กินยาคุมอยู่ตลอด หรือฉีดอยู่ตลอด หรือฉีดบ้างไม่ฉีดบ้างแต่เข้าใจว่าคุมอยู่ก็เลยไม่ได้คำนึงว่าอาจจะตั้งครรภ์ได้ อันนี้คืออันดับต้นๆ คือไม่รู้ตัว อันที่สองคือไม่รู้ความเสี่ยง อย่างเช่นก็มีความเสี่ยงแต่คิดว่าคงไม่ท้องหรอก ก็รอดูประจำเดือน ประจำเดือนมาบ้างไม่มาบ้างอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
2 อันนี้เป็นอันดับต้นๆ ว่าคนรู้ตัวว่าตัวเองท้องช้ามารู้ตอน 5 เดือน 4 เดือนครึ่ง คือเกินไปแล้ว มันเลยทำให้เขาอยู่ภาวะที่วิกฤตในตอนนั้น ประกอบกับบางคนอาจจะรู้เร็วก็ได้ แต่รอดูสถานภาพความสัมพันธ์ของแฟน-ของครอบครัว หรือฝ่ายชายมาทิ้งทีหลัง ซึ่งอันนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมทั้งหมด แต่อันหลังก็ไม่ค่อยเยอะเท่าไรนะ” ชีวิน กล่าว
ชีวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “อุปสรรคการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ (กรณีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์)” ไล่ตั้งแต่ 1.การเดินทาง เนื่องจากสถานพยาบาลที่ให้บริการมีจำนวนจำกัดโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เช่น ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 3-4 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง2.ข้อจำกัดในการใช้บริการ เช่น ต้องเป็นวัยรุ่นเท่านั้น (ไม่ใช่วัยรุ่นไม่สามารถเข้าถึงได้) ต้องเป็นคนในพื้นที่เท่านั้น (เช่น เฉพาะในจังหวัดหรือภาคที่ตั้งของโรงพยาบาล) ต้องมีญาติมาเซ็นยินยอม (ในความเป็นจริง ผู้ที่ท้องไม่พร้อมมักปิดบังไม่ให้ผู้อื่นรู้)
ต้องมีใบส่งตัวจากสถานพยาบาลต้นสิทธิ์ ไม่ได้ให้ทางเลือกในการคุมกำเนิด (ยุติการตั้งครรภ์ให้ แต่ต้องถูกบังคับคุมกำเนิดตามที่สถานพยาบาลกำหนดเท่านั้น) หากเป็นคนนอกพื้นที่มารับบริการต้องเสียค่าใช้จ่าย (ยิ่งพักรักษาตัวในสถานพยาบาลนานค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูง) การให้บริการมีความซับซ้อน (ไม่มีการอธิบายว่าผู้รับบริการต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง) อายุครรภ์เกิน สถานพยาบาลรับได้ในจำนวนจำกัดและต้องนัดหมายนาน (ซึ่งในความเป็นจริง มีกรณีที่ตอนส่งตัวหรือไปติดต่อขอรับบริการครั้งแรกยังไม่เกิน แต่ไปติดขั้นตอนต่างๆ ก็ทำให้เกินได้)
“เฉพาะที่ส่งต่อเจ้าหน้าที่มาที่มีความซับซ้อน 15 วัน (วันที่ 1-15 ก.ค. 2567) เคสที่อายุครรภ์ 20-29 สัปดาห์ ที่โทรมาแล้วตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ 20 คน ใน 15 วันนี้ และส่วนมากไม่มีสตางค์ แล้วก็ 13-19 สัปดาห์ 38 ราย 15 วัน ก็ไม่น้อยเหมือนกัน (ส่วนอีก 169 ราย คืออายุครรภ์ตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์) ก็คือรวมๆ แล้ว 227 ราย ที่ส่งต่อเจ้าหน้าที่กรณีที่ขอความช่วยเหลือกรณีซับซ้อน หมายถึงอายุน้อย อายุครรภ์เยอะ ไม่มีเงิน ไม่มีญาติเซ็น ฯลฯ ที่ไม่สามารถบอกให้เขาไปรับบริการได้เอง ฉะนั้นอันนี้คือความวิกฤต 15 วัน 20 เคส ผมก็เพิ่งเคยเจอ มันเยอะอยู่’” ชีวิน ระบุ
ขณะที่ในมุมของผู้ให้บริการ นพ.ชัชวาล ก่อสกุล หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวช โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า สถิติในปี 2565 สำหรับผู้ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ได้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ไป 51 ราย แบ่งเป็นคนในพื้นที่ จ.สงขลา 39 ราย มาจากพื้นที่อื่นๆ 12 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 (จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา) และคนจากจังหวัดอื่นๆ นอกเขตสุขภาพที่ 12 แต่มาอยู่ใน จ.สงขลา แต่ไม่ได้ย้ายสิทธิการรักษาพยาบาลมาด้วย เช่น เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ต่อมาในปี 2566 สถิติเพิ่มขึ้นเท่าตัว คือ 100 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนในพื้นที่ จ.สงขลา 63 ราย และมาจากพื้นที่อื่นๆ อีก 37 ราย และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤษภาคม) ยังเพิ่มขึ้นอีกเป็น 126 ราย “ดูแล้วแนวโน้มผู้มารับบริการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ขณะเดียวกัน ในส่วนของการให้บริการก็มีอุปสรรค คือ “ผู้ให้บริการไม่อยากให้บริการ” เช่น แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ รู้สึกอิดออดและสร้างเงื่อนไขให้เข้าถึงบริการยากขึ้น จึงต้องสร้างระบบขึ้นมา ให้ผู้ที่ไม่ยินดีให้บริการไม่ต้องลำบากใจ แต่ผู้มารับบริการยังได้รับบริการจากผู้ที่พร้อมให้บริการ
“ผมไปดีลกับพยาบาลที่เป็นด่านหน้าของ OPD (ผู้ป่วยนอก) นรีเวชเลย ผมก็สั่งไว้ว่า ถ้าผู้รับบริการมาถึงโรงพยาบาลมาถึงแล้วหมอหรือนักสังคมฯ ไม่ให้บริการ คุณอย่าเพิ่งให้เขากลับ คุณต้องรายงานผมก่อน พอรายงานผมก็แค่บอกว่าแอดมิทไปเลยก็จบแล้ว เขาก็จะได้รับบริการทันที หรือถ้ามีเครือข่ายเราติดต่อมาก่อน ผมก็จะบอกให้เขาเตรียมเสื้อผ้ามานอนโรงพยาบาลหลายวัน เตรียมมาเลย
แล้วก็จะสั่งพยาบาลไว้ว่าเดี๋ยวจังหวัดนี้มา 20 สัปดาห์ 18 สัปดาห์ ถ้าไม่เจอผมก็ไม่ต้องตกใจอะไร ให้นอนโรงพยาบาลเลย บอกแพทย์ประจำบ้านให้รับไว้เลย แล้วเดี๋ยวผมจะไปจัดการเอง จริงๆ เรามี Protocol (แนวปฏิบัติ) เรียบร้อยแล้ว น้องเขาเวลาโทรรายงานผม เขาบอกเอาตาม Protocol ใช่ไหม? OK เอาตาม Protocol เลย ทุกคนก็ทำตาม Protocol ทุกอย่างจะง่ายและเข้าระบบ” นพ.ชัชวาล กล่าว
ด้าน ศศิธร มูลสิงห์ นักสังคมสงเคราะห์ รพ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ผู้มารับบริการยุติการตั้งครรภ์ทุกรายต้องผ่านขั้นตอนการให้คำปรึกษาทางเลือก จากนักสังคมสงเคราะห์ที่ผ่านการอบรมจากกรมอนามัย โดยในปี 2565 มีหญิงท้องไม่พร้อมมาใช้บริการ 181 ราย ต่อมาในปี2566 เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมาอยู่ที่ 417 ราย และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) อยู่ที่ 280 ราย ทั้งนี้ ราวร้อยละ 40 ของผู้มาใช้บริการ มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์
โดยปัญหาที่พบในการให้บริการ คือมีแพทย์ที่พร้อมให้บริการยุติการตั้งครรภ์เพียง 2 ท่าน และทั้ง 2 ท่านก็ยังต้องออกตรวจผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย จึงจำกัดผู้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ไว้ที่ 4 รายต่อแพทย์ 1 ท่าน หรือรับได้ 8 รายต่อสัปดาห์จึงเป็นที่มาของการต้องรอคิวยาวและทำให้อายุครรภ์เพิ่มขึ้นซึ่งผู้รับบริการจะมาทั้งจากสายด่วน 1663 และจากเครือข่ายโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ
นอกจากนั้น หากผู้รับบริการต้องนอนโรงพยาบาล หรือแม้แต่ผู้ป่วยนอกใช้ยา เมื่อนัดมาติดตามผลแล้วการแท้งไม่สมบูรณ์ ก็ต้องมีขั้นตอนเพิ่มและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาด้านบุคลากรนั้นพบค่อนข้างน้อย เพราะกระบวนการช่วยเหลือทำมานานก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้ และการยุติการตั้งครรภ์ก็เริ่มทำตั้งแต่เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ มีการวางแนวปฏิบัติและบุคลากรก็รับรู้อย่างชัดเจน เมื่อไปติดต่อที่จุดประชาสัมพันธ์ จะมีเจ้าหน้าที่พาไปทำบัตร พบนักสังคมสงเคราะห์ และนัดวันพบแพทย์ตามลำดับ
“แต่ละวิชาชีพเขาให้ดำเนินการในส่วนของตัวเองค่อนข้างอยู่ตัว เพราะเราดำเนินการมาสักระยะหนึ่ง ตอนนี้ปัญหาที่เราเจอ เราจะได้ยิน มีข้อเสนอจากผู้ใช้บริการโดยเฉพาะวัยรุ่น อยากให้โรงพยาบาลมีการประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์ ให้ทราบว่ามีบริการนี้ แต่ด้วยในบริบทของเราเป็นโรงพยาบาลของรัฐคือมันเป็นการบริการที่เราไม่สามารถไปประชาสัมพันธ์ได้ เขาก็จะเสนอว่าเข้าถึงยากเพราะไม่รู้ข้อมูล จริงๆ เรามีทำแผ่นพับโบชัวร์ แต่น้องรุ่นใหม่ๆ เขาบอกมันไม่ทันสมัยสำหรับยุคนี้เราก็ไม่สามารถทำได้ขนาดนั้น” ศศิธร กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี