“ใช่ว่าหนี้จะเป็นสิ่งไม่ดี! บางคนสร้างเนื้อสร้างตัวได้จากการก่อหนี้ แต่หลายคนที่บริหารจัดการหนี้ไม่ดีก็นำมาซึ่งปัญหา แล้วก็มีผลกระทบต่อครอบครัว” เป็นคำโปรยของการบรรยายเรื่อง “พาเบิ่ง...พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” โดยวิทยากรซึ่งเป็น นักวิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) 2 ท่านคือ อภิชญาณ์ จึงตระกูล และ พรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ เกริ่นนำเรื่องของ “หนี้สิน” ที่เป็นได้ทั้งช่องทางแสวงหาโอกาสและปัจจัยส่งผลกระทบ
การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไรให้ยั่งยืน” เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม
อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น วิทยากรได้เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม “เชื่อไหมว่าเกษตรกรอีสานเกือบทั้งหมดเป็นหนี้?” โดยพบเกษตรกรถึงร้อยละ 93 ที่มีหนี้สิน และในจำนวนนี้ “ร้อยละ 53.3 หรือกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง” ซึ่งหมายถึงเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรเหล่านี้จะใช้หนี้หมดก่อนอายุถึง 70 ปี และย่อมหมายถึงการเป็น “มรดกหนี้ข้ามรุ่น” ส่งต่อไปยังลูกหลานด้วย
“ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรติดกับดักหนี้” มี 3 ประการ คือ 1.รายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย อย่างที่ทราบกันว่า “เกษตรกรมักฝากชะตากรรมไว้กับลมฟ้าอากาศ” โดยร้อยละ 88 อยู่นอกเขตชลประทาน “จึงมีรายได้ไม่แน่นอน” เกษตรกรเกือบร้อยละ 40 มีรายได้ทั้งปีไม่พอกับรายจ่าย และแม้ในรายที่มีรายได้เพียงพอทั้งปี แต่ก็มีบางเดือนที่รายได้ขาดมือ ในขณะที่รายจ่าย “เกษตรกรอีสานมีรายจ่ายเพื่อสังสรรค์และเสี่ยงโชคมากกว่าภาคอื่น” อยู่ที่ร้อยละ 16 มากกว่าภาคใต้ (ร้อยละ 10)หรือภาคเหนือ (ร้อยละ 6) จึงน่าจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงบ้างเพื่อให้ฐานะการเงินดีขึ้น
2.ทัศนคติและพฤติกรรม ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์สำรวจช่วงปี 2562-2563 พบว่า “เกษตรกรอีสานมีพฤติกรรมและทัศนคติเรื่องการเงินที่น่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับภาพรวมของประเทศ”เช่น ร้อยละ 77 มองว่า การกู้ยืมไปใช้หนี้หรือที่เรียกว่า “หมุนหนี้” เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกษตรกรที่ให้ข้อมูล ยอมรับว่ามีหนี้หลายก้อนจากเจ้าหนี้หลายราย และบางครั้งก็ไปกู้กับนายทุนที่เก็บดอกเบี้ยสูง ทำให้นอกจากหนี้จะไม่ลดแล้วยังเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนั้น “ร้อยละ 83 มองว่าการชำระหนี้ล่าช้าเป็นเรื่องปกติ” ซึ่งทัศนคติข้อนี้จริงๆ ต้องบอกว่าพบสูงมากทั่วทั้งประเทศ จึงสะท้อนบรรทัดฐานบางอย่างทางสังคมว่าไม่ใช่เรื่องผิด ใครๆ เขาก็ทำกัน โดยสาเหตุน่าจะมาจากบทลงโทษที่ไม่รุนแรง เช่น จ่ายช้าก็แค่เสียดอกเบี้ยเพิ่ม ไม่ถึงกับถูกยึดที่ดินทำกิน เป็นต้น แต่อีกสาเหตุก็อาจเป็นเพราะตนเองมีภาระหนี้สูง จึงเสียกำลังใจในการชำระหนี้
รวมถึงยังมีความเชื่ออื่นๆ เช่น “เกษตรกรอีสาน ร้อยละ 77 เชื่อว่ามีหนี้ติดตัวดีกว่าขายทรัพย์สินใช้หนี้” เพราะทรัพย์สินป็นเครื่องแสดงฐานะได้ชัดเจน ในขณะที่หนี้สินหากไม่บอกก็ไม่มีใครเห็น หรือ “ร้อยละ 43 เชื่อว่า ต้องกู้สถาบันการเงินทุกปีไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิ์การกู้” ทำให้เป็นหนี้เรื้อรังได้เพราะกู้โดยไม่จำเป็นต้องกู้ และ 3.นโยบายที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้ชำระหนี้อาทิ “มาตรการพักชำระหนี้” สถิติ 10 ปีล่าสุด พบว่าไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน แถมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมียอดหนี้สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เข้าร่วมอีกต่างหาก
หรือหากไปดูตัวอย่างจาก ประเทศอินเดีย ที่ไม่ใช่การพักชำระหนี้แต่เป็นการยกหนี้ให้ทั้งหมด ยิ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียรุนแรงขึ้น เพราะเกษตรกรขาดวินัยทางการเงิน อย่างไรก็ตาม “ระยะหลังๆ พบการออกแบบมาตรการพักชำระหนี้ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชำระหนี้มากขึ้น”เช่น หากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมาจ่ายหนี้ เงินที่จ่ายก็ไปตัดยอดเงินต้นได้ทันที โดยรัฐยอมรับภาระส่วนของดอกเบี้ยให้ หรือมีโครงการลุ้นโชคสำหรับลูกหนี้ที่มีวินัยในการชำระหนี้ เรื่องนี้ก็ตอบโจทย์พฤติกรรมชอบเสี่ยงโชค
อย่างไรก็ตาม “ที่ผ่านมาเกษตรกรมีความเข้าใจผิดว่า โครงการพักชำระหนี้คือการพักไว้ก่อน เมื่อหมดโครงการแล้วจึงค่อยกลับมาจ่าย” ซึ่ง ธปท. ได้ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทำโครงการศึกษา “ทดสอบประสิทธิผลของหน่วยกระจายข้อมูลเพื่อกระตุ้นให้การชำระหนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เพื่อหาแนวทางสื่อสารไปยังเกษตรกรให้เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง เลือกพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการทดลอง จำนวน 200 หมู่บ้าน จาก 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมาและร้อยเอ็ด เก็บข้อมูลช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567
แบ่งช่องทางสื่อสารเป็น 4 ช่องทาง คือ 1.ช่องทางสื่อสารปกติของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่สื่อสารกับเกษตรกรอยู่แล้ว กับอีก 3 ช่องทางเพิ่มเติม คือ 2.สื่อสารผ่านผู้ใหญ่บ้าน เพราะมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลคนในหมู่บ้าน 3.สื่อสารผ่านร้านค้าชุมชน เพราะเป็นสถานที่ที่คนในหมู่บ้านมารวมตัวกันหรือผ่านไป-มา 4.สื่อสารผ่านบุคคลที่ชาวบ้านเชื่อถือไว้วางใจ (Local Influencer) เพราะเป็นบุคคลที่ชาวบ้านชอบเข้ามาขอคำปรึกษา โดยนำเรื่องมาตรการพักหนี้ครั้งนี้ที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ไปบอกเล่ากับทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว
เบื้องต้นสามารถสรุปผลการศึกษาได้ใน 2 จังหวัด คือขอนแก่นและอุดรธานี พบว่า “การสื่อสารผ่านบุคคลที่ชาวบ้านเชื่อถือไว้วางใจ (Local Influencer) ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ในทางที่ดีขึ้นได้มากที่สุด” โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 สูงกว่าอันดับ 2 คือการสื่อสารผ่านผู้ใหญ่บ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และอันดับ 3 การสื่อสารผ่านร้านค้าชุมชน ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.7 อย่างไรก็ตาม การสื่อสารเพิ่มเติมผ่านทั้ง 3 ช่องทาง ไม่ว่าช่องทางใดก็ล้วนได้ผลดีกว่าการไม่สื่อสารเพิ่มเติมใดๆ เลย นอกเหนือจากช่องทางปกติที่ ธ.ก.ส. สื่อสารกับเกษตรกรอยู่แล้ว
บทสรุปของเรื่องนี้คือ “นโยบายจะดีเพียงใดแต่หากคนไม่เข้าใจก็ไม่เกิดประโยชน์” แต่การมีความหวังที่จะเห็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องทำควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้ และการออกแบบนโยบายให้ตรงจุดด้วย!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี