สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัล) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดเวทีสัมมนา “เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ Web Accessibility Guidelines” เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมและความต้องการใช้บริการอินเตอร์เนตของ
คนพิการ 250 คน ในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและระบบสื่อเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ที่ สสส. ให้การสนับสนุนอยู่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
พบว่าร้อยละ 95% ต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการเข้าถึงอินเตอร์เนต ค่าบริการอินเตอร์เนตซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับรายได้ของคนพิการ การเข้าถึงข้อมูลและบริการดิจิทัลด้านสุขภาพ การพัฒนาทักษะอาชีพ บริการด้านการเงิน การเดินทาง รวมถึงข้อมูลที่ส่งเสริมการใช้งานสื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย เว็บไซต์ในไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาให้ครอบคลุมการใช้งานของคนพิการ
“จากสถานการณ์นี้ สสส. เดินหน้าส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนพัฒนาเว็บไซต์และบริการดิจิทัลตามมาตรฐาน WCAG เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการที่มี
มากถึง 5 ล้านคนในประเทศ ได้เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเป้าให้เกิดองค์กรต้นแบบมาตรฐานเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ 25 แห่ง ภายในปี 2568” ญาณี กล่าว
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า WCAG หรือมาตรฐานเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถูกออกแบบโดยองค์กร W3C-World Wide Web Consortium ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากลที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานของทุกคน รวมถึงคนพิการ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ เช่น สวทช. กสทช. สำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และสภาดิจิทัล รวมถึงองค์กรเพื่อคนพิการ ได้แก่ สมาคมคนตาบอด สมาคมคนหูหนวก มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ทำงานร่วมกันเพื่อนำมาตรฐาน WCAGมาใช้พัฒนาเว็บไซต์และบริการดิจิทัล
“ตัวอย่างเช่น การออกแบบที่รองรับโปรแกรมอ่านหน้าจอ (screen reader) เสริมเมนูปรับเพิ่มขนาดตัวอักษร แสง สี พื้นหลังเว็บไซต์เพื่อช่วยเรื่องการมองเห็น ใส่คำบรรยายในสื่อภาพหรือวีดีโอเพื่อช่วยเรื่องการฟัง ลดข้อจำกัดการใช้งาน ช่วยให้คนพิการเข้าถึงเนื้อหา บริการ และข้อมูลบนอินเตอร์เนตได้อย่างเข้าถึง เข้าใจ และมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียม” ดร.ศรีดา กล่าว
ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัล เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี โดยผลักดันให้เกิด TWCAG 2022 หรือ Thai Web Content Accessibility Guidelines 2022 คือ แนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ ซึ่งนักออกแบบเว็บไซต์สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา Digital Platform (Websites & Mobile Apps) ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม
มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและนำเสนอเนื้อหาบนเว็บไซต์ โดยยึดหลัก 4 ประการ
ได้แก่ 1.การรับรู้ได้ (Perceivable) โดยการออกแบบข้อมูลและส่วนต่างๆ ของหน้าจอ เช่น ปุ่ม ข้อความ รูปภาพ ให้ทุกคนรับรู้และใช้งานได้ 2.การใช้งานได้
(Operable) เว็บไซต์ต้องออกแบบมาให้ใช้งานได้จริง ผู้ใช้ต้องสามารถกด/เลือก หรือโต้ตอบได้ 3.การเข้าใจได้ (Understandable) เว็บไซต์ต้องออกแบบให้เข้าใจง่าย ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าใจข้อมูลและวิธีการใช้งานหน้าจอได้ง่าย 4.ความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลง (Robust) เนื้อหาบนเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอ จะต้องแสดงผลได้ถูกต้อง แม้ว่าผู้ใช้จะเข้าถึงด้วยอุปกรณ์หรือโปรแกรมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงโปรแกรมช่วยเหลือคนพิการด้วย
ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กสทช. กล่าวว่า ในปี 2567 กสทช. มีมาตรการบังคับการมีระบบบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน 1.ส่งเสริมการเข้าถึงบริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย 2.ส่งเสริมการเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพ 3.สนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และ 4.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารผ่านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
จตุพล หนูท่าทอง หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนตาบอด มูลนิธิคนตาบอดไทย กล่าวว่า คนพิการแม้จะมีข้อจำกัดในด้านการมองเห็น การได้ยิน หรือการเคลื่อนไหว ยังสามารถแก้ไขได้โดยการใช้ Assistive Technology มาช่วยเรื่องการสื่อสารและการทำงาน แต่ปัญหาที่แก้ไขยาก คือ การขาดความตระหนักรู้ของฝั่งผู้ให้บริการดิจิทัล ว่าจะต้องมีแนวทางอย่างไรในการพัฒนาเนื้อหาและบริการดิจิทัลขององค์กรให้สามารถเข้าถึงคนพิการได้ทุกคน ในไทยมีกฎหมายหลายฉบับพูดถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี