“หนี้สินอยู่คู่ภาคเกษตรกรไทยไม่ใช่แค่ภาคอีสานมาโดยตลอดอยู่แล้ว ถ้าเรามองหนี้เกษตรกรว่าเป็นสัดส่วนเท่าไรต่อหนี้ครัวเรือนมันเป็นแค่ 10% ของหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศ แต่ถ้าเราไปมองแค่กลุ่มเกษตรกรเท่านั้น กลุ่มครัวเรือนเกษตรกรที่มีประมาณ 6 ล้านครัวเรือน เราจะพบว่าเป็นหนี้กันถ้วนหน้า 90% ของครัวเรือนเกษตรมีหนี้สิน
แต่พูดตรงนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นหนี้แล้วเป็นสิ่งไม่ดี ถ้าหนี้เอาไปประกอบอาชีพแล้วทำให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เราเห็นหนี้เกษตรต่างจากหนี้ทั่วไป หนี้ครัวเรือนทั่วไปเอาไปบริโภคเสียเยอะ หนี้เกษตรส่วนใหญ่เอาไปทำอะไร? เอาไปทำการเกษตร เอาไปสร้างอาชีพ แต่เราก็เริ่มเห็นต่อว่าเอาไปสร้างอาชีพแต่สุดท้ายเริ่มเห็นว่าชำระกันไม่ได้”
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในวงเสวนา “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไรให้ยั่งยืน” จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ณ โรงแรมอวานีขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เมื่อเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ฉายภาพปัญหาหนี้สินของภาคเกษตรในประเทศไทย ที่แตกต่างจากหนี้ครัวเรือนทั่วไป เพราะแม้จะเป็นหนี้เพื่อการผลิตไม่ใช่เพื่อการบริโภค แต่แทนที่จะสร้างศักยภาพและรายรับที่มากขึ้น แต่กลับกลายเป็นยิ่งติดกับดักไม่สามารถหลุดพ้นได้
เพื่อทำความเข้าใจ “วังวนหนี้สินเกษตรกร” จึงมีการตั้งทีมงานระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปศึกษาปัญหานี้อย่างจริงจัง แล้วพบ “ความน่ากังวล” 3 ประการ คือ 1.หนี้สินเกษตรกรมีขนาดใหญ่กว่าหนี้ครัวเรือนโดยทั่วไป โดยหากหนี้ครัวเรือนทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อครัวเรือน ในภาคเกษตรจะอยู่ที่ 5 แสนบาทต่อครัวเรือน
อีกทั้งภาระหนี้ในภาคเกษตรยังโตเร็วกว่าในภาคส่วนอื่นๆ จากภาวะ “หนี้เดิมก็จ่ายไม่ได้..แต่ยังต้องกู้หนี้ใหม่ทุกปี” จึงทำให้หนี้เกษตรกรมีแต่พอกพูนเพิ่มขึ้น ต่างจากหนี้อื่นๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต ที่แม้จะไม่ลดลงแต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกัน 2.ในบรรดาหนี้เกษตรกรทั้งหมด มีส่วนน้อยที่เป็นหนี้ดี โดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียงร้อยละ 37 เท่านั้น โดยคำว่า “หนี้ดี” หมายถึงลูกหนี้สามารถจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละงวด
แต่ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ เช่น ร้อยละ 13 เป็นหนี้เสีย (NPL) คือจ่ายคืนไม่ได้เลย ซึ่งแม้กลุ่มนี้จะมีไม่มาก “แต่หากไปดูอีกกลุ่มซึ่งมากถึงร้อยละ 50 จะพบว่า แม้จะจ่ายได้ แต่เป็นเพียงการจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อย” ก็จะเข้านิยามหนี้เก่าไม่ลดแถมยังมีหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า ครัวเรือนเกษตรกรที่ติด “กับดักหนี้” มีถึงร้อยละ 63 หรือคิดเป็นกลุ่มส่วนใหญ่จากเกษตรกรทั้งหมด และ 3.กับดักหนี้ทำให้เกษตรกรเริ่มไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งเชื่อมโยงกับ “ความยากในการปรับตัวรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป” เช่น สังคมสูงวัย ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
โสมรัศมิ์ กล่าวถึงปัญหาต่อไปคือ “ไม่มีฐานข้อมูลการเงินถึงระดับฐานราก” เช่น คนคนหนึ่งเคยกู้เงินกับกองทุนหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อ่ไปกู้กับ ธ.ก.ส. พบว่า ธ.ก.ส. ก็ไม่รู้ประวัติการกู้กับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งการที่แหล่งเงินกู้มีหลายแหล่งแต่ไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน ก็มีโอกาสให้ผู้กู้ขอสินเชื่อมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนได้ เมื่อประกอบกับแหล่งเงินกู้ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรมักมีลักษณะผ่อนปรน ก็กลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมหรือทัศนคติบางอย่าง เช่น จ่ายแต่ดอกเบี้ยไปก่อนก็ได้ เป็นต้น
นอกจากนั้งยังมีเรื่องของ “การขาดเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรกระตือรือร้นในการชำระหนี้อย่างจริงจังและสม่ำเสมอ” ซึ่งหนี้เกษตรกรมักเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระเป็นรายปีแต่ในความเป็นจริง เกษตรกรมีเงินที่ได้รับโอนมาจากคนทำงานนอกภาคเกษตรอยู่ไม่น้อย และเป็นเงินโอนแบบรายเดือน แต่ที่เงินส่วนนี้ไม่ถูกนำไปจ่ายหนี้เพราะไม่มีเครื่องมือเข้ามาสนับสนุนหรือควบคุม แน่นอนว่ากว่าจะถึงกำหนดชำระหนี้ก็มีเหตุต่างๆ ให้ใช้เงินไปก่อน ซึ่งต่างจากคนทำงานนอกภาคเกษตร ที่แม้จะไม่มีวินัยแต่มีเครื่องมือ เช่น ระบบหักเงินอัตโนมัติเมื่อมีเงินรายรับโอนข้ามา
“พอระบบเป็นแบบนี้ แน่นอนปัญหาจากเกษตรกรมันก็ยิ่งลุกลามมากขึ้น มาพ่วงกับสินเชื่อเข้าถึงมากเกินไป เข้าถึงแล้วไม่มีความกระตือรือร้นที่จะชำระ แล้วเครื่องไม้เครื่องมือในการช่วยชำระก็ไม่มีเหมือนกัน ดังนั้นมันเป็นการทำงานร่วมกัน กลายเป็นกลไกที่ปัญหาเกษตรกรยิ่งลุกลามเป็นปัญหาหนี้ ปัญหาหนี้ก็ย้อนกลับไปทำให้เกษตรกรไม่สามารถสร้างรายได้มากขึ้นได้เช่นกันจริงๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะพึ่งพิงแบงก์รัฐได้อีก ดังนั้นทำแบบเดิมๆ ไปก็ได้สินเชื่อนโยบายใหม่อยู่ดี วงจรเหล่านี้มันทำให้เป็น Equilibrium (สภาพคงที่)
อันนี้เป็นต้นตอทั้งหมดที่เราพยายามจะเข้าใจว่า ถ้าเราจะแก้ไขให้มันยั่งยืน เราต้องพยายามที่จะ Break (หยุด) ต้นตอเหล่านี้ให้ได้ ดังนั้นถ้าจะยั่งยืนได้แน่นอนมันต้องมองให้มันยาวๆ ต้องไปดูเรื่องแก้ระบบการเงินฐานราก ทำอย่างไรที่จะพอมีหนี้เดิมสะสมอยู่แล้ว ต้องมองให้เห็นว่าหนี้เก่าทำอย่างไรจะทำให้เกษตรกรจ่ายแล้วมันลดลงไปได้ ในขณะเดียวกัน หนี้ใหม่ที่ปล่อยไปแล้วยั่งยืนขึ้นไม่กลับมาทบเป็นหนี้เก่าอีก ต้องแก้ทั้งฝั่งเกษตรกรด้วย ทั้งฝั่งสถาบันการเงินฐานรากด้วย” โสมรัศมิ์ ระบุ
โสมรัศมิ์ ยังกล่าวอีกว่า “แม้จะบอกว่าร้อยละ 63 ของเกษตรกร อยู่ในสถานการณ์ติดกับดักหนี้ แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดพบว่า ไม่ใช่เกษตรกรทั้งหมดในกลุ่มนี้จะไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้” โดยพบถึงร้อยละ 25 ที่มีศักยภาพชำระหนี้ เพียงแต่มีปัญหาอื่นๆ เช่น มีเงินเข้ามารายเดือนแต่กำหนดชำระหนี้คือรายปี จึงไม่ได้จัดลำดับความสำคัญที่การชำระหนี้ก่อน อีกร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพ ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เงินที่จ่ายไปตัดเงินต้นได้ สุดท้ายอีกร้อยละ 8 เป็นกลุ่มที่แก้ยากที่สุด เช่น อายุมากเกินไป ไม่มีที่ดินทำกิน ก็อาจต้องหาวิธีการอื่นๆ
ขณะที่ พสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านบ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “หากเกษตรกรยังทำแบบเดิมๆ ก็ไม่มีทางใช้หนี้ธนาคารให้หมดได้” โดยเมื่อมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องมารับผิดชอบงานวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสมาชิกที่ทำนา รวมพื้นที่นาทั้งหมด 2,174 ไร่ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกษตรกรไปขอกู้เงิน แม้จะให้เหตุผลว่ากู้มาทำการเกษตร แต่เมื่อได้เงินมาก็นำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น ต่อเติมบ้านซื้อรถยนต์ และไม่คิดเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งหนี้สินก็พอกพูนจนใช้คืนให้หมดได้ยาก
จากพื้นที่นา 2,174 ไร่ พสธร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเพียง 45 ไร่ ที่ยังใช้การหว่านแบบเดิม ในขณะที่ส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนวิธีการจากใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 30-35 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงเหลือ 10-12 กิโลกรัมต่อไร่ ด้วยวิธีนาหยอด โดยยังใส่น้ำ-ใส่ปุ๋ยในปริมาณเท่าเดิม กลับพบว่า ผลผลิตข้าวที่ได้เพิ่มขึ้นจาก 300 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 400 กิโลกรัมต่อไร่อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนยอมปรับเปลี่ยนวิธีการ “แรงจูงใจจากนโยบายรัฐ” ก็สำคัญ โดยรัฐให้เงินสนับสนุนหากเกษตรกรนำนวัตกรรมไปใช้ ทำให้เกษตรกรกล้าเสี่ยงลองวิธีการใหม่ๆ มากขึ้น
หรือเรื่องของ “การขอสินเชื่อ” ที่พบว่า “ยิ่งธนาคารเสนอให้เป็นหนี้เยอะๆ ได้ง่ายๆ เกษตรกรก็ยิ่งชอบ เพราะที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากเป็นที่ดินมรดกจากพ่อแม่ ไม่ใช่ที่ดินที่อาบเหงื่อต่างน้ำทำงานเก็บเงินซื้อด้วยตนเอง” ดังนั้นเมื่อเกษตรกรไปกู้เงินโดยใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็อาจคิดว่าชำระเพียงดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ก็ได้ นอกจากนั้นยังนำที่ดินดังกล่าวไปปล่อยให้ผู้อื่นเช่าได้อีก กลายเป็นเกษตรกรนั้นได้เงิน 2 ต่อ ทั้งจากธนาคารและผู้ที่มาเช่าที่ดิน แต่เงินที่ได้มาก็ไปซื้อรถยนต์มาจอดประดับบารมี
“จริงๆ ทาง ธ.ก.ส. ก็ขอชื่นชมบางนโยบาย ที่มากระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ด้านการเกษตรกลับคืนสู่ท้องถิ่น คือกลับมาตรงนี้เขาให้ดอกเบี้ยเลย ร้อยละ 2 บาท 3 ปีแรก ซึ่งผมก็ได้โครงการตรงนี้มา พอมาทำเขาจะนำเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้มาทำ ก็คือไปเรียนมาก่อนแล้วค่อยมาทำนา แต่ก็โดนสบประมาททำให้คนออกไปเยอะ ก็คือไปจบเศรษฐศาสตร์ กลับมาทำนาแค่นี้หรือ? ผมก็ลบคำสบประมาท ปีที่แล้วผมขายข้าวได้เงิน 8 แสนบาท แต่เงินสดๆ ในมือ 5 แสนบาทที่เราลงทุนไป ก็ต้องขอบคุณโอกาสจากนโยบายภาครัฐพวกนี้ด้วย” พสธร กล่าว
ด้าน จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) โค้ชการเงินระดับประเทศ เจ้าของเพจ Money Coach กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้ มีทั้งรายได้ที่ไม่แน่นอน ต้องดูแลปากท้องหลายคน ดังนั้นแม้จะหาเงินได้มากแต่บางครั้งก็ไม่พอกับภาระในครอบครับที่ต้องดูแล รวมถึง “ขาดความรู้ทางการเงิน” เช่น ทำธุรกิจได้เงิน 1 แสนบาท ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุน ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยไปช่วยเหลือเกษตรกร หลายรายไม่ทราบต้นทุนของตนเอง จึงใช้เงินไปโดยไม่ได้หักไว้เป็นทุนหมุนเวียน หรือบางทีปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่รายจ่ายก็ยังไม่ลดลง
“ผมเคยไปบรรยาย บางทีก็บรรยายกลางตลาด ซึ่งก็พบว่าการบรรยายอย่างเดียวไม่เกิดผล ก็เป็นไปได้ว่าคุณพ่อ-คุณแม่ที่เป็นเกษตรกรท่านก็อาจจะไปประยุกต์ใช้ไม่ได้ เรียกว่าต้องเอาทีมเข้าไปนั่งประกบเลย นั่งถามเลย กิน-ใช้เดือนเท่าไร ซื้ออะไรบ้าง เพื่อให้มันได้ตัวเลข บางทีเราพักชำระหนี้-หยุดจ่าย แต่บวก-ลบสุดท้ายก็ยังติดลบอยู่ เราต้องไปช่วยแก้แบบนั้นด้วย เพราะถ้าเกิดยังติดลบอยู่ สุดท้ายเขาก็ต้องกลับเข้าสู่วงจรหยิบยืมอยู่ดี” จักรพงษ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี