“ปัจจุบันยาบ้าเม็ดละเท่าไรแล้วครับ? 20-30 บาท แต่ถ้าก่อนหน้านั้นย้อนไปประมาณ 20 ปี 200-300 บาท ณ ปัจจุบันบาทเดียวก็ยังหาได้ นี่คือสิ่งที่ต้องมาคุยกัน นอกจากนั้นคือเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า หลายๆ คนก็มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาว่ามันอันตรายกันขนาดนั้นเลยหรือ? ผมบอกได้เลยอันตรายมาก เราไม่รู้หรอกที่เราซื้อในอินเตอร์เนต ใครซื้อของในอินเตอร์เนตจะรู้ ได้ของแท้ถือว่าโชคดีถือว่ากำไร
ไม่ต่างกัน! บุหรี่ไฟฟ้า ณ ปัจจุบันเราซื้อออนไลน์กันทั้งนั้น พอซื้อออนไลน์สิ่งที่ตามมาคืออะไรรู้ไหม? เราก็ไม่ชัวร์หรอกครับว่าของนั้นมันเป็นของจริงหรือเปล่า? ท่านรู้ไหมว่าในบุหรี่ไฟฟ้า รู้ไหมว่าพ็อด (Pod) มันมีส่วนผสมอะไรบ้าง? โอเค! อย่างนึงละมีนิโคตินแน่นอน แต่ ณ ปัจจุบันที่เราจะได้เจอกันวันนี้ มันมีเค ท่านรู้จักพ็อดเคไหม? เคคือเคตามีน ก็คือยาเค”
พ.ต.ท.วิชิต อาษากิจ อาจารย์ประจำคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “ทัศนคติผิดๆ เกี่ยวกับการใช้สารเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน“อว. แฟร์ : SCI Power for FutureThailand” จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ฉายภาพสถานการณ์ยาเสพติดที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน ที่ด้านหนึ่งยาเสพติดอยู่กับสังคมไทยกันมานานอย่างยาบ้ามีราคาถูกลง แต่อีกด้านหนึ่ง ยาเสพติดชนิดใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้าก็แพร่ระบาดเข้ามาซึ่งไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นส่วนผสมบ้าง
การบรรยายนี้ซึ่งร่วมจัดโดย ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (PSDP-HUB) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ต.ท.วิชิต ยกตัวอย่างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่เคยพบและบางเรื่องก็เป็นข่าวมาแล้ว ไล่ตั้งแต่ 1.ครอบครองยาบ้า...เม็ดถือเป็นผู้เสพ ซึ่งกฎกระทรวงล่าสุดได้แก้ไขจาก5 เม็ด เหลือ 1 เม็ด เรื่องนี้ต้องย้ำว่า “จะโดนข้อหาเสพหรือค้าอยู่ที่พฤติการณ์” เช่น ตำรวจล่อซื้อยาบ้า จับกุมผู้ต้องหาที่นำยาบ้า 1 เม็ดมาขาย แบบนี้เท่ากับมีความผิดฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย แม้จะพบของกลางเพียง 1 เม็ดก็ตาม
2.รับจ้างเปิดบัญชีม้าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เห็นเป็นอะไรเลย เมื่อพูดถึง “บัญชีม้า” ระยะหลังๆ ที่มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนกันมากเรื่องโทษตามกฎหมายที่รุนแรง คือการรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารสำหรับมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือการหลอกลวงทางออนไลน์ แต่นอกจากนั้น “การรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารสำหรับนำไปใช้ในขบวนการค้ายาเสพติด ก็มีโทษหนักเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งหลายคนยังไม่รู้เรื่องนี้และเข้าใจว่ารับจ้างเปิดบัญชีม้าไม่ใช่เรื่องใหญ่
“ก่อนหน้าที่ผมจะมาเป็นอาจารย์ ผมเป็นสารวัตรสืบสวน ผมเคยไปจับลักษณะแบบนี้ แล้วสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเขาตอบผมมา เขารับจ้างเปิดบัญชี สิ่งหนึ่งที่ตามมารู้ไหมครับคืออะไร? เขาให้เหตุผลของการเปิดบัญชีม้า เขาได้รับค่าตอบแทน 500 บาทไม่ได้เยอะนะถ้าความรู้สึกเรา แต่ถ้าความรู้สึกของคนไม่มีมันเยอะนะ ฉะนั้นเขาก็บอกว่าสิ่งที่เขาทำลงไปเขาก็ไม่ได้คิดอะไร เขาไม่รู้ว่าจะโดนโทษแบบนี้ด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำเพราะว่าเขามีหลังบ้านหรือมีลูกที่จะต้องดูแล แล้วเขาก็จะป้อนนมลูก
สิ่งหนึ่งที่เขาทำคือเอาบัญชีไปให้แล้วเขาได้มา 500 เขาไปซื้อนมให้ลูกได้ตั้งหลายกล่อง นี่มันเป็นอะไรที่สะท้อนกลับ กลุ่มคนเหล่านี้หรือชาวบ้าน เราควรจะให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมไหม? ให้เขารู้ว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันไม่ใช่น้อยนะ มันโดน (จำคุก) 3 ปีนะ แล้วก็โดน (ปรับ) 6 หมื่นบาท นี่คือความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มันเกิดขึ้น และความไม่รู้” พ.ต.ท.วิชิต ยกตัวอย่าง
3.นำใบกระท่อมมาต้มเป็นน้ำขายสามารถทำได้ แม้ในความเป็นจริงจะพบเห็นได้ทั่วไปริมท้องถนน มีการโฆษณาและตั้งแผงค้ากันแบบไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้น แต่ พ.ต.ท.วิชิต เตือนว่า“ต้มน้ำใบกระท่อมขายเป็นความผิดตามกฎหมาย” มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท(ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 454 ออกโดย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522) แม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายปลดพืชกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษแล้วก็ตาม แต่ยังอนุญาตเพียงการต้มไว้ดื่มบริโภคเองเท่านั้น
4.ปลดกัญชาพ้นยาเสพติดให้โทษ..เท่ากับจะใช้กัญชาได้เสรี ซึ่งจริงๆ แล้วมีกฎหมายควบคุม เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ระบุว่า “ห้ามสูบกัญชาในสถานศึกษา-สถานที่สาธารณะ” และโดยเฉพาะ “ห้ามขายกัญชาให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า20 ปี” ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
5.บุหรี่มวนสามารถแบ่งขายได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว “ผิดกฎหมาย” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท แต่ปัจจุบันก็ยังพบเห็นการแกะซองบุหรี่นำออกมาแบ่งขายอยู่โดยเฉพาะตามร้านขายของชำ 6.หากอยากเลิกบุหรี่มวนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน เพราะมีข้อค้นพบว่า “บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง มีสารนิโคตินเท่ากับบุหรี่มวนถึง 20 ซอง”หรือ 400 มวน
7.สิ่งที่เป็นยาเสพติดจะต้องถูกระบุว่าผิดกฎหมายเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว “นิยามของยาเสพติด คือสารใดก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือสารที่สังเคราะห์ขึ้น เมื่อมาเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยวิธีกิน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดการเสพติดได้ หากใช้สารนั้นเป็นประจำทุกวัน หรือวันละหลายๆ ครั้ง” ดังนั้นแล้ว “ยาเสพติดจึงมีทั้งที่ผิดและไม่ผิดกฎหมาย” เช่น บุหรี่ กัญชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้านิยามการเป็นยาเสพติดข้างต้น แต่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อบัญชียาเสพติดที่มีความผิดตามกฎหมาย เป็นต้น
ในช่วงท้ายของการบรรยาย พ.ต.ท.วิชิต ย้อนกลับไปเน้นย้ำสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อ 40 ปีก่อน บริษัทบุหรี่มวนระดับยักษ์ใหญ่ระดับโลก เคยมองการตลาดไว้ที่กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย แต่ปัจจุบันพบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมต้น(หรือแม้แต่ชั้นประถมปลาย) เช่น ในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลในปี 2558 มีเด็กและเยาวชนอายุ 13-15 ปี ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียงร้อยละ 3.3 แต่ในปี 2565 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.6
“แนวโน้มที่มันเกิดขึ้น ผมอยากชวนทุกท่านดูแนวโน้มตรงนี้ เด็กผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นมากๆ จากเดิมที่แค่ 5% แค่นั้นเองณ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 15% เลยนะ และ ณ ปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่มันสำคัญก็คือการเพิ่มในส่วนนี้มันมีผล เพราะว่าเด็กที่เรียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นผู้หญิง” พ.ต.ท.วิชิต กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี