เครือข่าย We Fair องค์กรภาคประชาสังคมที่ผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นในประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ“บทสนทนาว่าด้วยความท้าทายในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ Welfare State Dialogue 2024” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยมีวงเสวนา “สถานการณ์และความท้าทายในการพัฒนารัฐสวัสดิการของไทย” มีวิทยากร 5 ท่าน ดังนี้
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินมากกว่าด้านรายได้ และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากกว่าด้านรายจ่าย แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ามีความได้เปรียบ โดยยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำที่พบ เช่น“บัญชีธนาคาร” ในประเทศไทย เกือบร้อยละ 90 เป็นบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 5 หมื่นบาท ในขณะที่ร้อยละ 0.01 ของบัญชีธนาคารในประเทศไทย มีเงินฝากมากกว่า 500 ล้านบาท
หรือหากเป็น “การถือครองที่ดิน” ย้อนไปมองข้อมูลในปี 2555 ในภาพรวมของทั้งประเทศ ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI) ก็ยังสูงถึง 0.9 (นับจาก 0 คือไม่เหลื่อมล้ำเลย ไปจนถึง 1 คือเหลื่อมล้ำมากที่สุด) ในขณะที่ปี 2564 มีการสำรวจใน 3 จังหวัด พบว่า กรุงเทพฯ สูงถึง 0.8 ปทุมธานี 0.9 และอุบลราชธานี 0.7 ทั้งนี้ ในปี 2555 พบข้อมูลการถือครองที่ดิน คนร้อยละ 10 กลุ่มระดับบนสุด ถือครองที่ดินร้อยละ 60 ส่วนคนอีกร้อยละ 90ที่เหลือ ถือครองที่ดินรวมกันเพียงร้อยละ 40
“ถ้าเราไปดูเศรษฐี อาจจะไม่ได้เรียกเศรษฐี ต้องเป็นมหาเศรษฐีหรืออภิมหาเศรษฐี ของปี 2567 ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีหรืออภิมหาเศรษฐีของไทย มีมูลค่าประมาณ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภายในประเทศ ซึ่งในปี 256740 อันดับแรก เขาถือครองไปแล้ว 28.53% ของ GDP ถ้าพูดถึง Billionaire ระดับพันล้านดอลลาร์ ก็ประมาณ 27%ของ GDP ก็จะถือว่าเยอะมากที่กลุ่มที่เป็นอภิมหาเศรษฐีก็มีทรัพย์สินค่อนข้างเยอะ ถ้าเทียบกับคนที่มีเศรษฐฐานะที่ไม่ดี คือรายได้ไม่มี อาจมีแต่หนี้ด้วยซ้ำไป คือมีรายได้และพร้อมหนี้มาอีกจำนวนมาก” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว
ผศ.ดร.ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหา “ระบบสวัสดิการมีความซ้ำซ้อน..แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต” เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแต่ละหน่วยงานก็ต่างคนต่างทำ อีกทั้งไม่เพียงพอ เช่น สวัสดิการเด็ก 0-6 ขวบ พบกลุ่มเป้าหมายถึงร้อยละ 60 เข้าไม่ถึง หรือสวัสดิการผู้สูงอายุ ก็ไม่เพียงพอให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงในชีวิต อย่างไรก็ตาม “ระบบสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยพลัง 2 ส่วน คือรัฐและสังคม” รัฐสร้างนโยบายขณะที่สังคมก็ผลักดันให้นโยบายเกิดขึ้น
แต่เมื่อดูในบริบทประเทศไทย “ระบบสวัสดิการของไทยเกิดขึ้นโดยรัฐ ซึ่งผู้มีอำนาจจะใช้นโยบายนี้เพื่อเสริมอำนาจของตนเอง” หรือก็คือผู้มีอำนาจต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีธรรมหรือมีบุญบารมีในการอุปถัมภ์ประชาชน แต่อีกนัยหนึ่ง นโยบายสวัสดิการนี้ไม่ได้มีความเสมอภาคกันทางอำนาจ อย่างไรก็ตาม “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยก็ช่วยให้มีนโยบายสวัสดิการที่ตอบโจทย์ประชาชนเกิดขึ้นได้” เช่น ในช่วงหลังปี 2540
“การเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยเป็นกลไกสำคัญมากเลยที่ทำให้พลังสังคมเข้ามากำหนดสวัสดิการได้ดีขึ้น ช่วง 2540 นั่นก็เหมือนกัน แต่ถามว่าหลังจากช่วงเปลี่ยนช่วงนั้นเราเห็นพลังสังคมก้าวหน้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดไหน? เราเห็นพลังของประชาชนที่เข้ามาตัดสินใจทางนโยบายที่มันมากกว่าเดิมได้ไหม? ความน่าสนใจคือไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คิด โครงสร้างตัวรัฐเหมือนว่าฉันมาทำนโยบายเพื่อตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น แต่ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองอำนาจรัฐอีกอยู่เหมือนเดิม” ผศ.ดร.ธร ระบุ
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center กล่าวว่า ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนที่กังวลว่า นโยบายสวัสดิการประชาชนอาจเพิ่มภาระงบประมาณ ซึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญภาวะขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกังวลว่า รายจ่ายสวัสดิการจะไม่สามารถลดลงได้ อย่างไรก็ตาม หากไปดูรายจ่ายทั้งหมด เช่น ในปี 2566 ในส่วนรายจ่ายสวัสดิการของประชาชนจะอยู่เพียงร้อยละ 12.5
โดยยังมีรายจ่ายอื่นๆ อาทิ สวัสดิการบุคลากรภาครัฐร้อยละ 16.2 เงินเดือน-ค่าตอบแทน ร้อยละ 25.7 และการชำระหนี้ผูกพันอีกร้อยละ 12.8 อนึ่ง ในเรื่องของหนี้ การเพิ่มหนี้เพื่อจัดทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็จะทำให้รายจ่ายที่ยากจะลดทอนยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก หากมองในแง่นี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เพียงการเบียดบังงบประมาณสวัสดิการประชาชนเฉพาะในปีปัจจุบัน แต่ยังรวมไปถึงอนาคตด้วย ขณะที่งบประมาณลงทุน มากกว่า 2 ใน 3ไปกระจุกอยู่กับโครงการก่อสร้างต่างๆ เช่น ถนน อาคาร
“ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรมีถนนเพิ่ม แต่เราอาจจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างอื่น แต่เราไม่สามารถที่จะทำได้เพราะงบส่วนหนึ่งนั้นเราหมดไปกับการลงทุนในส่วนนี้” เดชรัต กล่าว
ในภาคประชาสังคม นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่าย We Fair มองความเหลื่อมล้ำและการตอบสนองของรัฐบาลใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำ
ด้านทรัพย์สิน จากข้อมูลเรื่องเศรษฐี 40-50 อันดับแรก มีทรัพย์สินเกือบร้อยละ 30 ของ GDP เรื่องนี้ยังไม่เห็นชัดจากรัฐบาล 2.สถานการณ์ความยากจน ตามนิยามของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า คนจนหมายถึงรายได้ประมาณ 2,997 บาทต่อเดือน ซึ่งพบว่ามีถึง 3.8 ล้านคน ยังไม่ต้องนับกลุ่ม “เกือบจน” คืออยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงกลายเป็นคนจน
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ “ความจนข้ามรุ่น” ไม่จบที่รุ่นเราแต่ยังส่งต่อมรดกความจนไปถึงรุ่นลูกร่นหลาน แม้รัฐบาลจะมีนโยบายอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ระบบ
คัดกรองก็มีปัญหาทำให้คนจนจริงๆ เข้าไม่ถึง 3.สวัสดิการสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด-อายุ 6 ขวบ เข้าไม่ถึงเกือบ 1 ล้านคน ในขณะที่เด็กจากครัวเรือนยากจน มีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่เข้าถึงการศึกษาระดับมัธยม และมีเพียงร้อยละ 9 ที่ไปถึงระดับมหาวิทยาลัย หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ไม่เคยปรับเพิ่มจำนวนเงินมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้น
4.รัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อดูเนื้อหาพบว่า รัฐธรรมนูญเน้นถ้อยคำ “ผู้ยากไร้”, “ขาดแคลนทุนทรัพย์”, “ไม่มีรายได้เพียงพอ” เป็นอีกโจทย์ที่ต้องแก้ และ 5.งบสวัสดิการที่ไม่ได้สัดส่วน เช่น ในปีงบประมาณ 2568 ที่กำลังจะมาถึงในเดือน ต.ค. 2567 งบประมาณสวัสดิการประชาชนส่วนใหญ่อยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท ในขณะที่ข้าราชการและครอบครัว รวมกันราว 4.5 ล้านคน มีงบสวัสดิการ 5 แสนล้านบาท นอกจากนั้นงบประมาณรายจ่ายประจำปียังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็นอีกโจทย์สำคัญ
“เราคุยกับรัฐบาลว่าที่จะมีการยกระดับสวัสดิการสังคมมีทั้งหมดเรื่องของเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุและคนพิการ ในเบื้องต้นรัฐมนตรี พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ตอบตกลงแล้ว จะใช้งบประมาณเท่าไร? ทราบไหม? 5.9 หมื่นล้านบาท ลองไปเปรียบเทียบกับงบดิจิทัล วอลเล็ต ประมาณ 4.5-5 แสนล้าน เท่ากับ 1 ใน 8 เท่านั้นเอง ดังนั้นสิ่งที่เราอยากเรียกร้องคือขอเจตจำนงจากรัฐบาล 1 ใน 8 ที่ท่านมีเจตจำนงต่อดิจิทัล วอลเล็ต มาทำในการยกระดับสวัสดิการสังคมของประชาชน” นิติรัตน์ กล่าว
ปิดท้ายด้วยฝ่ายการเมือง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เล่าย้อนไปในยุคของ “พรรคไทยรักไทย” ที่ประกาศยุทธศาสตร์ “ทำสงครามกับความยากจน” เกิดนโยบาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดัน อย่างไรก็ตาม “ต้องเข้าใจด้วยว่าการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ดังนั้นเรื่องเศรษฐกิจและสังคมจึงต้องไปด้วยกัน” โดยเวลานั้น รัฐบาลพรรคไทยรักไทยกำลังแก้ปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง
โดยนโยบายที่พรรคไทยรักไทยใช้ จะคล้ายกับนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ที่กำลังใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใส่เงินลงไปเพื่อกระตุ้นการบริโภค เช่น ผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน มีโครงการส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยว กระตุ้นให้ GDPจากที่คาดว่าจะติดลบ หรืออย่างดีคือบวกร้อยละ 1.5 ให้ขึ้นมาถึงร้อยละ 4.5 ทั้งนี้ “เมื่อเศรษฐกิจดีรัฐก็เก็บภาษีได้มาก ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณไปตามกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ” หรือก็คือการถัวเฉลี่ยภาษี
“สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไทยรักไทยจนมาถึงเพื่อไทยวันนี้ พอการที่กลับเข้ามาทำงานครั้งนี้ รัฐบาลท่านนายกฯ เศรษฐา(เศรษฐา ทวีสิน) เรื่องแรกเลยคือแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่วิกฤต เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนฟื้นตัว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นภาษีมันก็จะมากขึ้น งบประมาณก็สามารถมาจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น” ศรีญาดา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี