นักวิชาการ สดร.ชี้'โลกหมุนช้าลง-ดวงจันทร์กำลังถอยห่างอย่างช้าๆ ประมาณปีละ 3.8 ซม. แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีผลน้อยมากกับช่วงชีวิตของมนุษย์ และเรายังไม่ต้องกังวลที่จะทำการเปลี่ยนนิยามระยะเวลาในหนึ่งวันในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด
27 ส.ค.67 ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจในหัวข้อ " โลกหมุนช้าลง-ดวงจันทร์กำลังถอยห่าง "โดยมีรายละเอียดดังนี้
โลกของเรากำลังหมุนช้าลง และดวงจันทร์นั้นกำลังค่อยๆ ถอยออกห่างจากโลกอย่างช้าๆ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และมนุษย์เราก็ทราบกันมานานแล้ว นอกไปจากนี้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นช้ามาก เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นผลกระทบของมันได้เป็นระยะเวลาอีกหลายล้านปี
ดวงจันทร์นั้นเป็นดาวบริวารของโลก โคจรไปรอบๆ โลกด้วยแรงโน้มถ่วงที่โลกกระทำกับดวงจันทร์ แต่ในขณะเดียวกันนั้นดวงจันทร์ก็มีแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อโลกเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากแรงโน้มถ่วงนั้นขึ้นอยู่กับระยะทาง แรงโน้มถ่วงของผิวโลกบริเวณที่ใกล้และไกลจากดวงจันทร์นั้นจะได้รับแรงโน้มถ่วงที่ต่างจากศูนย์กลางของโลก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดแรงที่เรียกว่า “แรงไทดัล” หรือแรงที่ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน น้ำขึ้น-น้ำลงนี้ จะค่อยๆ ทำให้เกิดแรงเสียดทาน และจะทำให้โลกค่อยๆ หมุนช้าลง ซึ่งการหมุนช้าลงของโลกนี้ ถูกจารึกเอาไว้ด้วยหลักฐานทางธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยา การศึกษาฟอสซิลของปะการังบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้พบว่าเมื่อ 400 ล้านปีที่แล้วในยุค Devonian ในหนึ่งปีมีจำนวนวันถึง 400 กว่าวัน นั่นหมายความว่าในยุคนั้นหนึ่งวันจะกินเวลาเพียงแค่ 22 ชั่วโมง
แต่กฎอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุมระบุเอาไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีวัตถุหนึ่งเปลี่ยนอัตราในการหมุน ก็จะต้องมีอีกวัตถุหนึ่งที่เปลี่ยนอัตราในการหมุนในทิศตรงกันข้าม เนื่องจากดวงจันทร์กำลังกระทำกับโลกให้โลกหมุนช้าลง ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือการถอยห่างออกไปของดวงจันทร์ จากการวัดระยะที่แม่นยำด้วยเลเซอร์ทำให้เราพบว่า ดวงจันทร์ของโลกนั้นค่อยๆ ถอยห่างออกไป ประมาณปีละ 3.8 ซม. ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการหมุนช้าลงของโลก 0.002 วินาทีต่อศตวรรษ นั่นก็คือ ทุกๆ หนึ่งล้านปี หนึ่งวันบนโลกจะนานขึ้นประมาณ 20 วินาที
ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีผลน้อยมากกับช่วงชีวิตของมนุษย์ และเรายังไม่ต้องกังวลที่จะทำการเปลี่ยนนิยามระยะเวลาในหนึ่งวันในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเวลาดังกล่าวนั้นอาจจะมีผลกับการวัดระยะเวลาอย่างแม่นยำในเวลาสากล ด้วยเหตุนี้เราจึงมักจะมีการปรับเวลาเพื่อชดเชยเวลาที่โลกหมุนช้าลงอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเราเรียกการเพิ่มเวลาหนึ่งวินาทีเพื่อชดเชยการหมุนช้าลงนี้ว่า “leap second” ปัจจุบัน ทั่วโลกได้มีการปรับเวลาชดเชย leap second นี้มาแล้ว 27 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2016
อย่างไรก็ตาม การชดเชย leap second นี้นั้นไม่ได้เป็นผลโดยตรงมาจากการหมุนช้าลงของโลกเพียงอย่างเดียว แต่อัตราการหมุนของโลกนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เล็กน้อยเสมอ ด้วยปัจจัยอื่นๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร แกนหลอมเหลวภายในโลก ชั้นบรรยากาศของโลก ขั้วน้ำแข็ง ฯลฯ ซึ่งได้รับการยืนยันและติดตามโดยสม่ำเสมอผ่านทางหน่วยงานเช่น International Earth Rotation and Reference Systems Service (IERS)
ขอบคุณข้อมูลเฟซบุ๊ก มติพล ตั้งมติธรรม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี