“92 ปี” เป็นอายุของประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในทางการเมืองก็มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นและสิ้นสภาพลงไปตามยุคสมัย หากจะมีก็แต่เพียง “พรรคประชาธิปัตย์” ที่อยู่มานานที่สุด โดยหากนับตั้งแต่ปี 2489 ที่พรรคก่อตั้งขึ้น ปัจจุบันก็มีอายุ “78 ปี” เข้าไปแล้ว ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ มากมาย ทั้งยุคเผด็จการทหารครองอำนาจยาวนาน การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย วิกฤตต้มยำกุ้งอันเป็นมรสุมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่
และแม้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เคยชนะการเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับพรรคไทยรักไทย (2544, 2548) พรรคพลังประชาชน (2550) และพรรคเพื่อไทย (2554) ซึ่งทั้ง 3 พรรคเป็นขั้วการเมืองที่เชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงยืนหยัดอย่างอดทน ทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นแม้เสียงโหวตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จะน้อยกว่ามากก็ตาม
ภาพดังกล่าวที่ดำเนินมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ถึงขนาดทำให้มีคำพูดแบบติดตลกว่า “ให้ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจับมือกัน..บางทีลุ้นให้โลกแตกอาจจะง่ายกว่า” แต่แล้วคงไม่มีใครคาดคิดว่า “ในปี 2567 ขั้วสีฟ้า (พรรคประชาธิปัตย์) กับค่ายสีแดง (พรรคเพื่อไทย) จะจับมือกันเป็นรัฐบาล” โดยพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล ตัดสินใจชวนพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมแทนพรรคพลังประชารัฐ มีการส่งหนังสือเชิญในวันที่ 28 ส.ค. 2567 และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติตอบรับในวันที่ 29 ส.ค. 2567 แม้จะมีเสียงทักท้วงจากประชาชนที่เป็นฐานเสียงก็ตาม
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 วันเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า หลายคนเป็นห่วงเรื่องแฟนคลับหรือประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ แล้วคนเหล่านี้จะยังเลือกพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปหรือไม่? ซึ่งเสียงสะท้อนที่ตนได้รับส่วนใหญ่ไม่อยากให้เข้าร่วม
แต่อีกด้านหนึ่ง บรรดากรรมการบริหารพรรค รวมไปถึง สส. ของพรรค มองว่าการเข้าร่วมรัฐบาลจะเป็นโอกาสในการทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน รวมถึงทำผลงานสร้างคะแนนนิยม อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าแม้จะเข้าร่วมรัฐบาลแต่ได้โควตารัฐมนตรีเพียง 2 ตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ อย่างละ 1 ตำแหน่ง อีกทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ แม้จะมีผลงานแต่ผลงานมักไม่ปรากฏต่อโลกภายนอก เพราะจะโดนกลบโดยรัฐมนตรีว่าการ
หรือการจะไปขอความร่วมมือจากกระทรวงอื่นๆ ให้ช่วยเหลือประชาชน ผลงานก็ตกเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นอยู่ดี ในขณะที่การเป็นฝ่ายค้านสามารถหยิบมาทำได้ทุกกระทรวง แต่การค้านก็ต้องทำอย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ด้วย ไม่ใช่อะไรก็ด่า มีปัญหาทุจริตหรือสิ่งใดที่รัฐบาลทำไม่ดี ฝ่ายค้านก็สามารถเสนอแนะได้ ซึ่งตนมองว่าคนยุคนี้เท่าทันเกมการเมืองเพราะมีข้อมูลข่าวสารมาก หากทำได้ดีพรรคประชาธิปัตย์ก็มีโอกาสที่คะแนนจะเพิ่มขึ้นมาได้
“คุณไปทำเป็นรัฐบาลได้แค่ 2 กระทรวง กระทรวงครึ่งนะถ้าพูดอย่างนี้ รัฐมนตรีช่วย ถ้าคุณเป็นฝ่ายค้านคุณจับจริง เรื่องที่ผมจับอยู่ทางด้านคมนาคมขนส่ง มีเรื่องมากไปหมด ทั้งเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีปัญหาเรื่องการประมูล เรื่องการขยายระยะเวลาสัมปทานให้ทางด่วนให้โทลล์เวย์ เป็นต้น มันดูแล้วมีตรงไหนที่มันไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เราทำได้ ทำไมไม่ไปค้านสิ่งเหล่านี้” นายสามารถ ยกตัวอย่าง
อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้มุมหนึ่งจะสร้างผลงานได้ดีโดยเฉพาะนโยบายประกันรายได้เกษตรกร แต่อีกมุมหนึ่งคนที่ไม่พอใจกับการที่พรรคประชาธิปัตย์ไปเข้าร่วมรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มีผลต่อจิตใจของเขามากกว่าผลงานที่พรรคสร้างขึ้น
แน่นอนว่าครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน ซึ่งผลงานที่สร้างก็จะน้อยกว่าเดิมด้วย จึงน่าเป็นห่วงสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2570 โดยตนอยากให้พรรคได้ สส. มากกว่า 25 คน (จำนวน สส. ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566) แต่ก็ห่วงว่าจะเป็นไปไม่ได้และยังจะได้ต่ำกว่า 25 คนลงไปอีก เพราะคนที่ไม่ชอบหากพรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำก็มีอยู่มาก ครั้งนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่หนัก เพราะอุดมการณ์หรือจุดยืนของพรรคได้เปลี่ยนแปลงไป จากที่ต่อสู้กันกลายเป็นจับมือกัน
ต่อคำถามที่ว่า การดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เป็นเกมของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่ต้องการแก้แค้นด้วยการทำลายพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะมุ่งเป้าไปที่ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่? เรื่องนี้ก็สามารถมองได้ เป็นมุมมองของแต่ละคน และนายชวนก็เป็นปูชนียบุคคลของพรรคที่น่าเคารพนับถือมาก เป็นคนที่มีจุดยืนแน่วแน่ อีกทั้งเก่งทั้งการพูดและการทำงาน นายชวนมีผลงานมากแต่หลายคนไม่ทราบแม้กระทั่งคนในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง
อย่างเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคมนาคม หลายอย่างเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย เช่น รถไฟทางคู่ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2536 มีพิธีตอกหมุดวางรางกันแถวๆ สะพานพระราม 6 แต่รัฐบาลชุดต่อๆ มา ไม่ได้ให้ความสนใจกับรถไฟทางคู่ เพิ่งกลับมาทำในระยะหลังๆ นี่เอง หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ในอดีตเรียกว่าสนามบินหนองงูเห่า แผนแม่บทก็เกิดขึ้นในยุครัฐบาลนายกฯ ชวน เป็นผู้อนุมัติงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เป็นต้น
ส่วนคำถามว่า หากการเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ แล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังได้ที่นั่ง สส. ลดลงกว่าเดิม หัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคควรแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ ตนไม่อยากเรียกร้องตรงนั้น แต่คนก็เคยโพสต์เฟซบุ๊กว่าการไปร่วมรัฐบาลต้องไม่ทำให้พรรคไร้ราคา เป็นพรรคอะไหล่-พรรครอเสียบ การไปร่วมต้องไปอย่างมีเกียรติ-มีศักดิ์ศรี และทิ้งท้ายว่าต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส. มากกว่าเดิม ส่วนใครจะรับผิดชอบหรือไม่ก็เป็นหน้าที่ของคนเหล่านั้น
ทั้งนี้ ตนยอมรับว่าอึดอัดอยู่บ้างเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยประกาศว่าจะต่อสู้กับระบอบทักษิณ แต่วันนี้กลับไปอยู่ใต้พรรคเพื่อไทย เพราะชี้แจงกับฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ยากมาก ไปที่ไหนก็มีคนถามตลอดว่าเหตุใดเป็นแบบนั้น และหากเป็นอย่างนี้ก็จะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์แล้วตนเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านี้ แต่ก็บอกว่าเป็นสิทธิและอำนาจของกรรมการบริหารและ สส. ของพรรค
ส่วนกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Dinner Talk Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 โดยตอนหนึ่งเสนอแนะให้เวนคืนกิจการรถไฟฟ้าจากเอกชนมาเป็นของรัฐ เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ ว่า ตนเข้าใจว่าเรื่องนี้หมายถึงการซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน ซึ่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง
หรือก่อนหน้านั้นก็ยังเคยหาเสียงไว้ที่ 15 บาท แต่ไม่สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้ 2 สาย คือสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน กับสายสีม่วง เส้นทางเตาปูน-บางใหญ่ เพราะทั้ง 2 สายรัฐลงทุนเองทั้งหมด แต่สายอื่นๆ ที่เหลือเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน การจะไปลดเหลือ 20 บาท ในมุมเอกชนที่ได้รับสัมปทานย่อมต้องไม่ยอมเพราะรายได้ลดลง เว้นแต่ต้องมีมาตรการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป
โดยหากทำกับรถไฟฟ้าทุกสาย รัฐต้องจ่ายชดเชยให้เอกชนไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงมีแนวคิดว่าหากเป็นแบบนั้นก็ไปซื้อสัมปทานคืนมา แต่จริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 2547 ก็เคยมีแนวคิดแบบนี้โดยหวังว่าจะลดค่าโดยสารให้เหลือ 15 บาทตลอดสาย แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จทั้งที่เวลานั้นมีรถไฟฟ้าเพียงสายเดียวคือสายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน แต่ปัจจุบันมีถึง 8 สาย แล้วจะใช้เงินจากที่ใดไปซื้อ อีกทั้งการไปซื้อก็ต้องระวังเรื่องการอุ้มหรือเอื้อเอกชนด้วย
“เอกชนมีบางสายที่เขาขาดทุน ผู้โดยสารยังน้อยอยู่เขาต้องแบกภาระความเสี่ยงเอง แล้วเราไปเอาความเสี่ยงเขามาเป็นของรัฐมันเหมาะสมหรือไม่? แล้วเงินจะไปหาที่ไหน? ก็มีแนวคิดขึ้นมา หลังจากแสดงวิสัยทัศน์ รัฐมนตรีสุริยะ (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) บอกว่าต้องทำให้ได้ รับมา เขาจะเก็บเงิน ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หาเงินมาจากเก็บค่าธรรมเนียมรถติดที่จะขับรถเข้าเมือง เช่น ย่านสีลม สุขุมวิท ตรงนี้จะได้เงินพอหรือไม่?” นายสามารถ ระบุ
นายสามารถ อธิบายเพิ่มเติมเรื่องมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถส่วนตัวเข้าเมือง ว่า ประเทศไทยหรือกรุงเทพฯ เคยทำการศึกษามาหลายครั้งแล้ว พบว่าไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะหากจะระบุว่าพื้นที่ใดใช้รถส่วนตัวเข้าไปแล้วต้องจ่ายเงิน พื้นที่นั้นก็ต้องมีรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ที่ดีให้บริการ เพื่อให้ประชาชนจอดรถส่วนตัวไว้นอกพื้นที่แล้วเปลี่ยนมาใช้บริการรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ดังนั้นต้องเตรียมสร้างที่จอดรถไว้ด้วย อีกทั้งสภาพเมืองอย่างกรุงเทพฯ ยังมีตรอกซอกซอยจำนวนมาก คนใช้รถส่วนตัวก็สามารถหาทางหลบเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมได้
ขณะที่เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ แต่ก็มีอีกหลายเมืองที่ทำไม่สำเร็จเช่นกัน ดังนั้นตนก็เป็นห่วงว่าประเทศไทยจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนก็ต้องการให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง และหากทำ 20 บาทได้ตลอดสายก็เป็นเรื่องนี้ แต่ต้องดูด้วยว่าหากไปซื้อสัมปทานจากเอกชนมาให้รัฐดูแล ในอนาคตหากต้องการสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่มเติมรัฐจะชวนเอกชนมาร่วมลงทุนอีกหรือไม่ จะไปชวนมาแล้วภายหลังไปซื้อคืนแบบนั้นก็คงไม่ได้ นโยบายต้องชัดเจน รัฐก็ต้องลงทุนเองทั้งหมด
แต่หากเอกชนไม่มาร่วมลงทุน โอกาสขยายเส้นทางรถไฟฟ้าออกไปรอบนอกจะเกิดขึ้นอย่างล่าช้า การที่เอกชนมาร่วมลงทุนจึงเป็นข้อดีเพราะทำให้ขยายเส้นทางได้เร็ว แต่อีกด้านก็มีข้อเสียเนื่องจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง รัฐบาลจึงต้องคิดให้ดีอย่างไรก็ตาม หากถึงวันที่รถไฟฟ้าสายเดิมที่มีอยู่สัมปทานหมดลงตนเสนอให้นำกิจการกลับมาเป็นของรัฐ ไม่ใช่ไปหาเรื่องยืดเวลาให้เอกชนอีก แล้วรัฐก็จะสามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้
“ทางด่วนก็เหมือนกัน ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ทางด่วนขั้นที่ 2 นี่คิดจะขยายสัญญาสัมปทานให้เขาอยู่ ทำไมไม่รีบดึงกลับมาเป็นของรัฐ ให้การทางพิเศษฯ ให้กรมทางหลวงบริหารเอง ต้นทุนจะถูกกว่า ค่าผ่านทางจะถูกด้วย ต้องทำอย่างนี้ แล้วที่น่าเป็นห่วงก็คือการไปซื้อสัมปทานคืนจากเอกชนมันน่าเป็นห่วง ถ้าคิดจะโกงมันโกงได้ ก็คือเวลาไปซื้อเขามา เขาลงทุนก่อสร้างมากี่หมื่นล้าน ถึงเวลานี้บริษัทที่รับสัมปทานอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เราจะประเมินราคา ทั้งประเมินให้เป็นธรรม ไม่ใช่เขาบอกแค่นี้เราไปซื้อแค่นี้มันมีส่วนต่างขึ้นมาอีก” นายสามารถ กล่าว
นายสามารถ ยังกล่าวอีกว่า และเมื่อซื้อมาแล้วแทนที่จะให้รัฐบริหารเอง กลับจ้างเอกชนมาบริหาร ซึ่งการจ้างเอกชนนั้นอาจแพงกว่าราคาจริงก็ได้หากต้องการโกง ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมเกี่ยวกับการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ สำหรับคนที่ไม่เคยตามอาจตื่นเต้น แต่หากคนที่เคยตามอย่างตนก็จะเป็นเรื่องที่เคยรู้ ซึ่งตนก็เป็นห่วงว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ จะมองว่าขายฝันก็ได้ แต่มองว่ารัฐบาลก็พยายามทำ
ส่วนข้อเสนอของนายทักษิณ ที่ให้ขยายรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่บริเวณทิศใต้ ใกล้กับถนนบางนา-ตราด เรื่องนี้เห็นด้วยเพราะเป็นไปตามแผนแม่บท หากทำได้สุวรรณภูมิก็จะกลายเป็นสนามบินที่ดี เพราะเมื่อ 4-5 ปีก่อน เคยคิดจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร แต่ไปก่อสร้างผิดตำแหน่งจากในแผนแม่บทจนเกิดปัญหามากมาย ทั้งนี้ ในปี 2549 ที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการใหม่ๆ ติดท็อป 10 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่ช่วงอันดับ 50-60 กว่าๆ อันดับลดลงมา ดังนั้นก็ต้องทำให้ดีเพราะเป็นหน้าตาและประตูของประเทศไทย
ขณะที่บทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ตนมองว่านายทักษิณเป็นนักคิด ช่วยเสนอแนะนโยบาย แต่ถามว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือไม่ก็แล้วแต่คนจะมอง ทั้งนี้ หากให้เทียบระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยชุดก่อนหน้า ที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ กับชุดล่าสุดที่มี แพทองธารชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณเป็นนายกฯ นายทักษิณก็ต้องเป็นห่วงลูกสาวมากกว่า ลูกจะต้องไม่พลาดอย่างเด็ดขาดและต้องให้สร้างผลงานดีๆ ขึ้นมาให้ได้ แต่จะเสี่ยงข้อหาครอบงำหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความระมัดระวัง หากปิดจุดโหว่ให้ได้ความเสี่ยงก็ลดลง
“ผมว่าเขาเลือกนโยบายที่ดี ที่ทำได้จริงมาแถลง รอดูการแถลงนโยบายของรัฐบาลอยู่ ว่าทำได้จริง อย่าให้แถลงไปแล้วทำไม่ได้ ถ้าทำได้คนจะมีความศรัทธาเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ความเสื่อมศรัทธาก็จะมา” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี