จากการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ดูจะเห็นภาพชัดเจนที่สุด เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการ การรักษาพยาบาล และการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้จัดทำ “สมุดปกขาวการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ด้วยนวัตกรรมของไทย 2567” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการดูแลสุขภาพ เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ไทย ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ช่วยสร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษาที่ดีกว่าเดิม สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ไทยด้วย “การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ด้วยนวัตกรรม”
ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับคนไทยแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของภาครัฐ อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสั่งสมศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศอีกด้วย
ข้อมูลในสมุดปกขาว ยังระบุถึงการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ด้วยว่า มีความสำคัญต่อประเทศไทย ในหลายด้าน อาทิ ด้านลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์เฉลี่ย73,000 ล้านบาท/ปี โดย 52,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณภาครัฐ หากมีการผลิตในประเทศจะลดการนำเข้าและเพิ่มอำนาจการต่อรองในการจัดซื้อกับบริษัทต่างชาติได้ในราคาที่ถูกลง โดยคาดว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 30%, ช่วยเรื่องลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล โรงพยาบาลขนาดเล็กในชนบทเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ได้น้อย ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและประชากรกลุ่มเปราะบางที่ขาดความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล จึงมีความมั่นคงทางสุขภาพต่ำกว่าประชาชนในเขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร เพียงจังหวัดเดียว มีเครื่อง CT Scan 24.7 เครื่อง/ประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคมี CT Scan เพียง 7 เครื่อง/ประชากร 1 ล้านคน เป็นต้น
อีกหนึ่งความสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข ในภาวะวิกฤต เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ไทยไม่มีอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ผลิตต้องรอให้ประเทศผู้ผลิตซัพพลายให้กับประเทศตนเอง จนเพียงพอจึงจะส่งออกมายังประเทศอื่น ทำให้ช่วงแรกไทยต้องเสี่ยงขาดแคลนเครื่องมือแพทย์จำเป็นหลายรายการ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องส่องตรวจระบบทางเดินหายใจ เครื่อง AED ชุดตรวจวินิจฉัย หน้ากาก N95 เป็นต้น
“การพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 5,000 คนและเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ให้ประชาชนในภูมิภาคและชนบทได้มากกว่า 1,000,000 คน และเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขในระยะยาว ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนค่าใช้จ่ายด้านครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้กลายเป็นการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพทางนวัตกรรมด้านการแพทย์ให้กับประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงในภาวะวิกฤต”
ประการสุดท้ายคือ การยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขในระยะยาว อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ให้เชื่อมโยงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยภาคีเครือข่ายวิศวกรรมชีวการแพทย์ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานช่างทักษะสูงเพื่อผลิตอุปกรณ์การแพทย์, การบริหารจัดการทุนวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดย สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการแพทย์, การสร้างความเชื่อมั่นและลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด โดยกรมบัญชีกลาง เช่น หน่วยงานสาธารณสุขของภาครัฐต้องจัดหาสินค้าจากผู้ผลิตในไทยก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่มีจึงจัดหาจากผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตต่างประเทศ รวมถึงการมีมาตรการด้านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังต้องเร่งผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกและยกระดับศักยภาพ SMEs เครื่องมือแพทย์ โดยหน่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น ส่งเสริมให้มีหน่วยงานกลางคอยทำหน้าที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ ตั้งแต่ข้อมูลการตลาด การบ่มเพาะธุรกิจ การเชื่อมโยงแหล่งทุน เชื่อมโยงเครือข่ายของนักวิจัยและแพทย์พยาบาลผู้ใช้ โรงงานผู้ผลิต หรือการเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำปรึกษาด้านการทดสอบมาตรฐาน และการเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อให้สามารถได้รับการรับรองจาก อย. ด้วยระยะเวลาที่สั้นลง เป็นต้น
อีกประการคือ ด้านของความต้องการเครื่องมือแพทย์ในประเทศพบว่า มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicablediseases : NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง และโรคไตเรื้อรัง ซึ่งใช้งบประมาณไปกว่า 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ภายในบ้าน (home use) จะเพิ่มขึ้น จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรหรือประมาณ 13 ล้านคน และผู้ป่วยติดเตียง 400,000 คน อีกทั้งยังมีความต้องการ เครื่องมือแพทย์ของผู้พิการกว่า 2.1 ล้านคน ซึ่งกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ขณะเดียวกัน การแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยยังได้รับการรับรองในระดับสากล แพทย์พยาบาล มีความเชี่ยวชาญสูง ทำให้ไทยมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพปีละ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีกำลังซื้อสูงและมีโอกาสที่จะนำวิทยาการการแพทย์สมัยใหม่ที่เข้ามาใช้ อีกทั้งยังมีโอกาสขยายบริการดังกล่าวไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไว้วางใจในระบบการให้บริการของไทย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สมุดปกขาว “การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ด้วยนวัตกรรมของไทย 2567” https://www.nxpo.or.th/th/report/26057/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี