นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาและเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” ที่นำเสนอโดย พล.อ.อ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ฝ่ายสนับสนุนนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สปสช.
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ฉบับที่ 5 พ.ศ.2566-2570 มีส่วนที่มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพสู่องค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ขับเคลื่อนการทำงานอย่างเต็มที่ในหลายด้าน รวมทั้งนโยบายการบริการจัดการข้อมูลของ สปสช. โดยมีเป้าหมายหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และปฏิรูปพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อช่วยลดภาระงานที่มีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของข้อเสนอแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาดิจิทัล พ.ศ.2568 ทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน โดยประกอบด้วย 1.การนำข้อมูลขึ้นสู่ระบบคลาวด์ โดยในปีนี้
ทาง สปสช. ย้ายข้อมูลเข้าสู่ระบบคลาวด์แล้วทั้งสิ้น 25% คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ข้อมูลจะถูกบันทึกเข้าสู่ระบบคลาวด์ทั้งหมด 2.ความปลอดภัยข้อมูล โดย สปสช. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยทางไซเบอร์ ที่จะทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ
3.การสร้างมาตรฐานการดูแลข้อมูล จัดทำระบบข้อมูล สปสช. ให้เป็นไปตามมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 4.พัฒนาระบบติดตามของ สปสช. เพื่อพัฒนาระบบกำกับติดตามเฝ้าระวังสถานะการทำงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของ สปสช. 5.พัฒนาระบบเบิกจ่ายที่มีความซับซ้อน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาระบบโปรแกรมเบิกจ่ายร่วมกับ KTB และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
6.พัฒนาสายด่วน สปสช. 1330 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นรวมทั้งนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรและการกรอกข้อมูลในอนาคต 7.ข้อเสนอการคืนข้อมูลสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิประโยชน์และรับรู้ประวัติการรับบริการรายบุคคลผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น หมอพร้อม หรือ เป๋าตัง
8.การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามามาสนับสนุนการปฏิบัติงานและบริการประชาชน เช่น ภายในปีนี้จะมีการนำเอไอเข้ามาช่วยตรวจสอบระบบเบิกจ่าย และภายในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น 9.การพัฒนาระบบเพื่อรองรับบุคลากรภายในและภายนอกในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความสะดวกและปลอดภัยภายในปี 2568 และ 10.การปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ใน สปสช. เพื่อรองรับกระบวนการทำงานให้สูงที่สุดทั้งออนไลน์ และออนไซต์
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ทั้ง 10 ด้าน ที่มีการเสนอในแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาดิจิทัล จะสร้างประโยชน์ในหลายด้านให้กับหน่วยบริการ เช่น หน่วยบริการสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการเบิกจ่ายค่าชดเชยได้สะดวกปลอดภัย รวดเร็วถูกต้อง และติดตามเบิกการชดเชยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับข้อมูลคืนกลับไปเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการของตนเองได้
นอกจากนี้ ในส่วนของ สปสช. เองก็จะได้รับประโยชน์ในด้านที่มีระบบที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีความปลอดภัย รวมทั้งมีเอไอเข้ามาช่วยเหลือในการปฏิบัติงานและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาระบบดิจิทัลจะทำให้ระบบการเบิกจ่ายชดเชย มีความรวดเร็วครบถ้วน ถูกต้อง และลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบได้
“ในส่วนของภาคประชาชนจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ชัดมากที่สุด คือ สามารถเข้าถึงสิทธิบัตรทองได้สะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น เป๋าตัง ทางรัฐ และหมอพร้อมหรือผ่านระบบสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อการดูสิทธิประโยชน์รายบุคคล ประวัติการรักษา การจองคิวการนัดหมาย และมีระบบเอไอเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงทำให้ข้อมูลสุขภาพมีความปลอดภัยสูงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในแผนพัฒนาระบบดิจิทัล ยังมีส่วนที่จะกลับไปปรับปรุงเพิ่มเติม หรือ สร้างทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ไม่สามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลได้สะดวก หรือกลุ่มผู้พิการเอง ต้องมีทางเลือกให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ของทาง สปสช. ได้เช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี