15 กันยายน 2567 วัดตาลเลี่ยน ตั้งอยู่บ้านบก ต.เสนางคนิคม อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ อยู่ห่างจากตัวเมืองอำนาจเจริญ ประมาณ 30 กิโลเมตร ด้านทิศเหนือไปตามถนนชยางกูร สายหลัก(อำนาจเจริญ – มุกดาหาร) ถึงสี่แยกไฟแดง เลี้ยวขวาเข้าถนนสายรอง อ.เสนางคนิคม – ชานุมาน ไม่ถึง 10 กิโมเมตร จะพบเห็นซุ้มประตูหน้าวัดตาลเลี่ยน ด้านซ้ายมือซึ่งตั้งอยู่ริมถนนนั่นเอง
สำหรับวัดตาลเลี่ยน สังกัดมหานิกาย มีเจ้าอาวาส 1 รูป ดูแลพระภิกษุสงฆ์ 8 รูป สามเณร 1 รูป มรรคนายก 1 คน วัดตาลเลี่ยน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พุทธศาสนิกชน ญาติโยม แวะเวียนเข้ามาทำบุญ สร้างกุศลและเข้ามากราบนมัสการ พระพุทธรูป นามว่า พระเจ้าใหญ่ชัยสิทธิวรมหามงคลอนันตจักรวาลและกราบพระพุทธบาทจำลอง เพื่อความเป็นสิริมงคล อย่างต่อเนื่อง
ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่ากันว่า ก่อนนั้น วัดตาลเลี่ยน มีต้นตาลขึ้นอยู่ 2 ต้น เรียกว่า ตาลคู่ จึงเรียกว่า วัดตาลคู่ ต่อมา มีการตัดต้นตาลออกทั้ง 2 ต้น เพื่อสร้างซุ้มประตูเข้าวัด จึงเปลี่ยนชื่อว่า วัดตาลเลี่ยนจนทุกวันนี้ ส่วนคำว่า เลี่ยน คงเป็นชื่อยายเลี่ยน ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้วัด และทำบุญ บริจาคทรัพย์สิน ที่ดินให้วัดกระทั่งเสียชีวิต ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดตาลเลี่ยน ตามชื่อยายเลี่ยน เพื่อยกย่องการทำคุณงามความดี ให้ระลึกถึงจนถึงวันนี้
ก่อนเดินทางกลับ ได้แวะกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดตาลเลี่ยน ซึ่งเทศนาวันสำคัญทางศาสนา 2 วัน คือ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาว่า วันอาสาฬหบูชา หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 2 เดือน จึงได้เอาวันนี้ประกาศพุทธศาสนาครั้งแรกและได้แสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีทั้ง 5 ได้แก่ โกณทัญญะ วัปปะ ภัทริยะ มหานามะและอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จน พระอัญญาโกณธัญญะได้บรรลุธรรมและบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา วันนี้ จึงเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบ 3 องค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวัคคีทั้ง 5 เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หลังจากที่เทศนาครั้งแรกจบ พระอัญญาโกณทัญญะ สำเร็จโสดาบัน และ ปัญจวัคคีทั้ง 4 ก็บวชตาม
สำหรับ การแสดงปฐมเทศนา มีใจความหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
1.มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ถูกต้องและเหมาะสม ที่จะบรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ การมุ่งมั่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง หรือ กามสุชิลสิตนโยก การสร้างความลำบากแก่ตน เช่น บำเพ็ญตนในการทรมานตน จึงต้องใช้ทางสายกลางในการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีหลักปฏิบัติ 8 ประการ หรือ มรรค 8 ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือรู้เข้าใจถูกต้องเห็นตามที่เห็นจริง
2.สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริต ตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
3.สัมมาวาจา วาจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
4.สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการสุจริต
5.สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบอาชีพสุจริต
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วทำความดี
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้มั่นคง
2. อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐของอริยะ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่ 1. ทุกข์ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น 2.สมุทัย ได้แก่ เหตุแห่งปัญหา 3. นิโรธ ความดับทุกข์ 4. มรรค วิธีแห่งการแก้ปัญหา
สำหรับวันเข้าพรรษา ซึ่งเข้าพรรษา แปลว่า พักฝน ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาที่วัดใด วัดหนึ่ง ระหว่างฤดูฝน เพื่อไม่ให้เดินย่ำเหยียบพืชผักข้าวกล้า ประชาชน เสียหาย ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า ปุริมพรรยา ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ให้เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลังและออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ ที่เดือน 11 เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา เว้นแต่มีธุระ ไม่สามารถกลับได้ ก็อนุญาตให้ค้างคืนได้ไม่เกิน 7 วัน คือ เรียกว่า สัตตาหะ ถ้าเกินกว่านี้ ถือว่า พรรษาขาด
ส่วนพุทธศาสนิกชน ญาติโยม ควรถือเอาวันเข้าพรรษา เป็นวันดี ที่จะทำบุญ รักษาศีล ชำระจิตใจให้ผ่องใส ทำความสะอาดบริเวณวัด ซ่อมแซมกุฏิสงฆ์ ก็จะได้บุญมาก และก่อนเข้าพรรษา ผู้ที่มีบุตรหลาน จะจัดพิธีบวช เพื่อความเป็นสิริมงคล ได้กุศลแรง
นอกจากนี้ ยังมีการหล่อเทียนพรรษา ที่มีตั้งแต่โบราณ ทุกปี เพราะช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ต้องสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็น ต้องมีธูป เทียน จุดบูชา ซึ่งการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะทำให้หูตาปัญญาสว่างไสวด้วย
ตามหมู่บ้าน ตำบล เมื่อหล่อเทียนพรรษาเสร็จ จะมีการแห่เทียนรอบอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางที่มีการตกแต่ง ต้นเทียนอย่างสวยงาม มีการแห่รอบเมืองอย่างยิ่งใหญ่ กลายเป็นประเพณีแห่เทียน ที่สืบทอดกันมาช้านาน...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี