แม่น้ำสงครามล้นท่วมล้อมหมู่บ้าน เกษตรกรเลี้ยงสัตว์อ่วม ต้อนควายปล่อยเลี้ยงบนเกาะ โอดพ่อค้าคนกลางกระทืบซ้ำ ฉวยขึ้นราคาฟางแห้งเท่าตัว
18 กันยายน 2567 จากผลกระทบแม่น้ำโขงสูง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 11.87 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 5 เซนติเมตร โดยห่างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่ง 12 เซนติเมตร ไม่เพียงส่งผลให้น้ำจ่อขอบตลิ่ง ยังกระทบลำน้ำสาขาสายหลัก เช่น ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ซึ่งทั้งสองลำน้ำอยู่เขตโซนอำเภอทางเหนือ ผ่าน อ.นาหว้า และ อ.ศรีสงคราม ขณะนี้ปริมาณเกินความจุ เนื่องจากไหลระบายลงโขงไม่ทัน โดยเฉพาะพื้นที่บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัย
โดยมีที่ตั้งชุมชนติดกับลำน้ำสงครามมากกว่า 300 หลังคาเรือน เริ่มได้รับผลกระทบจากลำน้ำอูน ลำน้ำสงครามเอ่อล้น ทำให้สภาพหมู่บ้านถูกล้อมรอบไปด้วยน้ำ กลายเป็นเกาะกลางน้ำ และเริ่มท่วมบ้านเรือนติดริมน้ำบางส่วน นอกจากนี้ยังส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวในพื้นที่ ได้รับผลกระทบมากกว่า 40,000 ไร่ หากระดับน้ำโขงไม่ลด น้ำระบายไม่ได้ รวมถึงมีฝนตกหนักในพื้นที่ นาข้าวจะได้รับผลกระทบมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงนเพิ่มเติม ว่า ที่สำคัญบ้านท่าบ่อยังเป็นหมู่บ้านเลี้ยงควาย สัตว์เศรษฐกิจจำนวนนับพันตัว ชาวบ้านต้องตอนขึ้นเกาะกลางน้ำ เนื่องจากไม่สามารถปล่อยหากินตามธรรมชาติได้ ต้องแบกภาระดูแล จัดหาฟางแห้งอัดก้อนเป็นอาหารจนกว่าน้ำจะลด บางรายพบว่าต้องแบกภาระซื้อฟางแห้งอัดก้อน วันละกว่า 1,000 บาท หากระดับน้ำไม่ลด จะต้องแบกภาระเดือนละ 10,000 – 20,000 บาท อีกทั้งราคาฟางแห้งอัดก้อน ถูกพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาเพิ่มอีกเท่าตัว จากเดิมราคาก้อนละ 15 -20 บาท เพิ่มเป็นก้อนละ 40 -50 บาท เบื้องต้นภาครัฐนำหญ้าแห้งอัดก้อนมาสนับสนุน แจกจ่าย แต่ยังไม่เพียงพอ
สอบถาม ลุงทองคำ อายุ 55 ปี เกษตรกรชาวบ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่บ้านท่าบ่อ ยอมรับเป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากที่ตั้งติดกับลำน้ำสงคราม ปัจจัยหลัก คือ หากน้ำโขงสูงหนุนลำน้ำอูน ที่ไหลมาสมทบกับลำน้ำสงคราม จะเกิดปัญหาเอ่อล้นท่วมพื้นที่นาข้าว โดยชาวบ้านจะปลูกข้าวนาปีแบบวัดดวงทุกปี หากน้ำไม่ท่วมจะได้ผลผลิต ตรงกันข้ามถ้าน้ำท่วม เกษตรกรหวังแค่ค่าชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ ถึงกระนั้นก็ไม่คุ้มกับความเสียหาย ที่สำคัญทุ่งเลี้ยงสัตว์ ได้รับผลกระทบหนักถูกน้ำท่วมจมบาดาล ถือเป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงควาย รวมๆกันนับพันตัว กลุ่มผู้เลี้ยงต้องต้อนไปปล่อยไว้บนเกาะไก่แก้ว ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร
ลุงทองคำเล่าต่อว่า ปัญหาที่ตามมาคือ ต้องจัดหาซื้อฟางก้อนอัดแห้งไปเลี้ยง จนกว่าน้ำจะลด ต้องแบกภารค่าใช้จ่ายจัดซื้อ ช่วงนี้ราคาแพงเท่าตัว ก้อนละ 40 -50 บาท ตนมีควายประมาณ 15 ตัว ต้องใช้เงินวันละ 1,000 บาท แค่พอให้ฟางก้อนกินประทังชีวิตเพื่อรอน้ำลด บางรายควาย หลายตัวยิ่งหนักสาหัสากรรจ์ กว่าน้ำจะลดต้องแบกภาระเดือนละ 20,000 -30,000 บาท
ส่วนสัตว์เลี้ยงการเกษตรทั้งวัว ควาย และหมูต้องเคลื่อนย้ายขึ้นที่สูง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนอนเฝ้า เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจ้องจะแอบมาขโมยไปตอนน้ำท่วม ฝากหน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนช่วยเหลือฟางแห้งอัดก้อนต่อเนื่อง ปศุสัตว์จังหวัดฯมาช่วยเหลือแต่ไม่เพียงพอ ยอมรับว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมทุกปี แต่เป็นวิถีชีวิตแต่บรรพบุรุษ บางปีหากน้ำโขงไม่สูง ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เกษตรกรนาข้าว รวมถึงกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ต่างยิ้มออก เพราะสามารถขายผลผลิตได้ ปีนี้ถือว่าน้ำโขงมาเร็วเพราะน้ำท่วมภาคเหนือ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี