The Active Thai PBS เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองผ่าน Policy Forum ติดตามนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ แนะมีหน่วยงาน GSR : Government Social Researcher กวาดสัญญาณ งานวิจัย สู่การทำนโยบายที่ประชาชนต้องการ
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัด “Policy Forum ครั้งที่ 19 : การเมืองสะดุด ต้องไม่ฉุดนโยบายดี ๆ” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ชวนติดตามนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ที่ส่งไม้ต่อจากรัฐบาล “เศรษฐา” สู่ “แพทองธาร” นำมาวิเคราะห์โอกาส ข้อจำกัด และระดมความคิด หากลไกให้นโยบายสาธารณะได้ไปต่ออย่างต่อเนื่อง ณ ลานไม้อาคารเอ ไทยพีบีเอส
อรุชิตา อุตมะโภคิน บรรณาธิการ The Active Thai PBS กล่าวถึง การปรับเปลี่ยนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่งผลให้คนทำข่าวติดตามนโยบาย ทำหน้าที่ยาก มองว่าหลายนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นนโยบายเร่งด่วน เห็นผลไวและหวังผลในทางการเมือง ทำให้มีความไม่แน่นอน จึงควรมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ “นโยบายสำคัญยังคงอยู่ไม่หายไปไหน” โดยนึกถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค, เรียนฟรี, เบี้ยยังชีพ ซึ่งเป็น 3 นโยบายสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยน แม้จะเปลี่ยนผ่านไปกี่รัฐบาล การทำนโยบายออกแบบจากปัญหา แต่ประชาชนเข้าถึงยาก ทั้งที่นโยบายเป็นเรื่องในทุกช่วงชีวิตของผู้คน พร้อมย้ำ “นโยบายควรเกิดได้ โดยไม่ต้องรอวิกฤต ประชาชน อยากจะมีส่วนร่วม แต่อาจไม่รู้ว่าต้องมีส่วนร่วมช่องทางไหนได้บ้าง” เป็นโจทย์ใหญ่ที่สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ต่อเพื่อให้นโยบายเหล่านี้เข้าถึงและประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบได้ง่ายเช่นกัน
ขณะที่ สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การก่อรูปนโยบายเริ่มต้นที่พรรคการเมือง เพื่อนำออกมาสู่การเลือกตั้ง ควรออกแบบกติกาให้เกิดการนำเสนอเชิงนโยบายตั้งแต่ต้น โดยไม่ตาม Tracking นโยบายเพียงอย่างเดียว พร้อมตั้งคำถาม “จะดีกว่าหรือไม่หากนโยบายผ่านมาจากการรวบรวมความเห็นของประชาชนตั้งแต่ต้น เพื่อให้ประชาชนรับรู้ และรู้สึกเป็นเจ้าของ ?” สติธร กล่าว
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล ภาควิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อว่า การเมืองสะดุดทำให้นโยบายดีเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องคิดทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การทำแผน แต่ไทยมีระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยหลักการสำคัญประกอบด้วย 7 กระบวนการ คือ ความสนใจของประชาชน, ความคาดหวังประชาชน, การกวาดสัญญาณ ความสนใจประชาชน, ตัวกลาง พรรคการเมือง การเลือกตั้ง, สู่การกำหนดนโยบายของ “นักการเมือง”, การดำเนินนโยบายโดย “ราชการ”, ออกมาเป็น ผลผลิต “นโยบาย กฎหมาย แผน ฯลฯ” พร้อมย้ำว่า ในความเป็นวิถีประชาธิปไตยตัวแทน บทบาทสำคัญที่จะเปลี่ยน “ความคาดหวังประชาชน” สู่นโยบาย โดยผู้กำหนดนโยบายที่ถืออำนาจรัฐให้ได้ เป็นพันธะสัญญาที่หน่วยงานรัฐต้องแสดงความพร้อมสะท้อนสัญญาณเสียงสะท้อนจากประชาชน แต่ในความเป็นจริง ไม่เป็นแบบนั้น การทำนโยบายหลายจุดสะดุดหยุดลง หน้าที่สำคัญคือการมีกลไกที่ทำให้ “เส้นตัวแทนเข้มแข็ง สะท้อนเสียงสัญญาณของประชาชน”
ยกตัวอย่าง หน่วยงาน GSR : Government Social Researcher ในต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญในการ “กวาดสัญญาณความต้องการของประชาชน งานวิจัย เพื่อแปลงสิ่งเหล่านี้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย” คนทำงานนวัตกรรมเชิงนโยบาย ต้องใช้เครื่องมือ กวาดหาสัญญาณ เอาข้อมูลมาวิเคราะห์เทรนด์ แนวโน้ม วิเคราะห์ภูเขาน้ำแข็ง ให้เจอกับรากปัญหาที่แท้จริง เพื่อแปลงความสนใจของประชาชนสู่ความหวังในการทำนโยบาย
บรรณาธิการ The Active Thai PBS กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์ที่ “Policy Watch” ต้องไปทำเพิ่มต่อจากการทำงานของ Policy Watch ที่เริ่มต้นมาจากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ให้ไว้กับ กกต. ที่แถลงไว้กับสภาฯ แล้วนำมา Tracking การเปลี่ยนแปลงการเมืองอาจทำให้หลายนโยบายต้องถูกปรับเปลี่ยนแต่เราต้องทำหน้าที่ติดตามต่อ รวมถึงติดตามนโยบายที่รัฐบาลไม่ได้ทำด้วย เพื่อให้เห็นภาพนโยบายสาธารณะที่ชัดเจนขึ้น เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจและยังเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชนได้
ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน พร้อมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการกระบวนการกฎหมาย นโยบายสาธารณะต่าง ๆ ได้ที่ www.thaipbs.or.th/policywatch
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี