“เศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy)” มาจากภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ “เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio)” , “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular)” และ “เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green)” เป็นทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่ “ความยั่งยืน” ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ได้มากที่สุดผ่านการสร้าง “นวัตกรรม” ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่งานงานประกวดและนิทรรศการ “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 2(The 2nd Learning and InnovationCommunity Award)” เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ รร.เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ อันเป็นงานรวม “นวัตกรรมท้องถิ่น..จากฝีมือนวัตกรชุมชน..โดยผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัย” จากทั่วประเทศมาจัดแสดง รวมถึง “เมืองน่านสะอาด : ระบบการจัดการผลพลอยได้จากการเกษตรและขยะเปียกในชุมชนจังหวัดน่าน เพื่อสร้างโอกาสด้านอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำและหนอนแมลงทหารเสือ” หนึ่งในผลงานที่ตอบโจทย์ BCG
ผศ.ดร.น.สพ.สุวิทย์ โชตินันท์ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการที่เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ เล่าว่า ที่มาที่ไปเกิดจาก 2 เรื่อง คือ 1.ราคาอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปี 2564-2566 จากกิโลกรัมละ 14-15 บาท พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ใน จ.น่าน อย่างมาก 2.ปัญหาขยะอินทรีย์ เนื่องจาก จ.น่าน เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีขยะอินทรีย์จากภาคเกษตร เช่น การปลูกฟักทองเพื่อเก็บเพียงเมล็ด ส่วนที่เหลือจะทิ้งทั้งหมด
จึงมีการนำ “แมลง BSF (Black Soldier Fly)” ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น แมลงวันลาย แมลงทหารเสือ เข้ามาแก้ปัญหาทั้ง 2 โดยอยากให้เรียกว่าแมลง BSF เพราะการเรียกว่าแมลงวันลายทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นแมลงวันชนิดหนึ่ง ทั้งที่อยู่คนละสกุลกัน โดย “แมลง BSF จะมีลักษณะคล้ายแตนแต่ไม่ทำอันตราย ไม่ใช่พาหะนำโรค และ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (Alien Species)” แม้จะมีบางแหล่งข้อมูลบอกว่าถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกา แต่ก็พบได้ทั่วไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อยู่ใกล้แนวเส้นศูนย์สูตร รวมถึงประเทศไทย
วงจรชีวิตของแมลง BSF 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 12 วัน ซึ่ง “ในช่วงที่เป็นหนอนจะบริโภคขยะอินทรีย์เป็นอาหาร” อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเข้าใจธรรมชาติของหนอนแมลงชนิดนี้ด้วย เช่น หากหนอนยังมีอายุน้อย หรือมีจำนวนหนอนที่เลี้ยงไว้น้อยแล้วให้อาหารปริมาณมากเกินไป หนอนก็จะกินไม่หมด อาหารซึ่งก็คือขยะอินทรีย์ก็จะส่งกลิ่นรบกวนได้ ส่วนการนำไปใช้เลี้ยงไก่ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.ให้หนอนสดโดยตรง เหมาะกับฟาร์มที่เลี้ยงไก่จำนวนไม่มาก กับ 2.หนอนอบแห้งสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผสมเป็นอาหารสัตว์ เหมาะกับฟาร์มไก่ขนาดใหญ่
“ถ้าเกิดว่าใช้หนอนสด สามารถลดต้นทุนอาหารได้ถึง 50% หมายความว่าปกติแล้วการให้อาหารในไก่ไข่ เราจะให้อาหาร 2 มื้อ ตอนเช้าครึ่งหนึ่ง-ตอนบ่ายครึ่งหนึ่ง แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนมาใช้ตอนเช้าให้อาหารสำเร็จ ตอนบ่ายให้ BSFก็สามารถลดต้นทุนอาหารไปได้ครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญคือไก่ไข่อายุเกือบปีแล้ว แต่ไข่ยังดูสวย ดูเปลือกหนา” ผศ.ดร.น.สพ.สุวิทย์กล่าวพร้อมกับชี้ให้ดูตัวอย่างไข่ไก่จากฟาร์มที่เลี้ยงด้วยหนอนแมลง BSF
ผศ.ดร.น.สพ.สุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ในขณะที่การผลิตอาหารสัตว์ แม้ จ.น่าน จะเป็นแหล่งปลูกข้าวโพด แต่ที่ผ่านมา ต้องให้ข้าวโพดเดินทางออกจาก จ.น่าน ไปขายที่ตลาดกลางใน จ.ลพบุรี แล้วส่งไปแปรรูปในโรงงานที่ จ.ลำพูน ก่อนจะเป็นอาหารสัตว์กลับมาขายใน จ.น่าน ดังนั้นเกษตรกรที่มีความรู้เรื่องการผสมอาหารสัตว์ สามารถทำเองได้ พบว่าสามารถลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้เฉลี่ย 5 บาทต่อกิโลกรัม อนึ่ง “มูลของหนอน BSF ยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี” ให้ธาตุอาหารสูงแต่ไม่ต้องดึงหญ้าออกเหมือนกับปุ๋ยมูลวัว ช่วยเกษตรกรให้ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน
อีกนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจบีซีจี คือ “การยกระดับการเชิงเก็บ-ชิงเผา ด้วยนวัตกรรมและการสร้างมูลค่า เพื่อแก้ปัญหาการเผาอย่างไร้ระเบียบและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” อย่างที่ทราบกันดีว่า จังหวัดทางภาคเหนือมีปัญหา “ไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่น PM2.5” รุนแรงมานาน และสาเหตุหลักเกิดจาก “การเผาในที่โล่ง” โดยนวัตกรรมนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดปัญหาการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่ จ.เชียงราย
ลิตร สมบูรณ์ นวัตกรในโครงการนี้ เล่าว่า จ.เชียงราย โดยเฉพาะใน อ.แม่สรวย เป็นพื้นที่ที่พบจุดความร้อน (Hotspot)เป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การเผาหลังตกแต่งกิ่งลำไย” ที่ปลูกกันมากถึง 68,000 ไร่ เป็นที่มาของนวัตกรรม 2 ส่วน คือ 1.การใช้เตาเผาลดควัน แทนที่จะเผาในที่โล่งให้เกิดฝุ่นควันหนาแน่น ก็ให้เผากิ่งลำไยในเตาเผาที่ปริมาณควันลดลงจนอยู่ในระดับที่ธรรมชาติพอจะบำบัดอากาศได้
อีกทั้งเมื่อเผาแล้วยังได้ “ถ่านไม้” ที่ปัจจุบันมีความต้องการสูงมากถึงขั้นผลิตไม่ทัน เนื่องจากร้านอาหารประเภท “หมูกระทะ-ปิ้งย่าง” ที่ใช้ถ่านไม้จุดเตาได้รับความนิยมมาก กลายเป็นรายได้เสริมอีกทางของเกษตรกร กับ 2.การใช้แอปพลิเคชั่น “Burn Check” เพื่อจัดระเบียบการเผา เนื่องจากการเผาในที่โล่งยังไม่สามารถเลิกให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง จึงจำเป็นต้องพยายามลดผลกระทบจากการเผาลง ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย “จัดคิว” ให้แต่ละคนมาลงทะเบียนขออนุญาตเผาในวัน-เวลาที่กำหนด ทำให้สามารถระบุตัวบุคคล สถานที่และสิ่งที่เผาได้
นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลผลการประเมินการดำเนินการวิจัยของชุดโครงการ (ระดับดีมาก) จาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่ง คุณลิตร กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ปัจจุบันใน จ.เชียงราย มีวิสาหกิจที่ใช้เตาเผาถ่านลดมลพิษแล้ว 5 ตำบล ของ อ.แม่สรวย จากทั้งหมด 7 ตำบล นอกจากนั้นยังขยายผลออกไปยัง อ.เวียงป่าเป้า รวมถึงมีโอกาสข้ามไปถ่ายทอดความรู้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และ สปป.ลาว ส่วนจะขยายออกไปให้ทั่วทั้ง จ.เชียงราย ตลอดจน
จังหวัดอื่นๆ ได้มาก-น้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้สนใจ
“มันมีปัญหาเรื่องควันข้ามแดนด้วยส่วนหนึ่ง แต่ทีนี้ส่วนที่เราจัดการได้ก็คือภาคเกษตรของพวกเรา ในพื้นที่เราก่อน” ลิตร กล่าว
บัญชา จันทร์สมบูรณ์ (สัมภาษณ์/เรียบเรียง)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี