สุดว้าว!! เปิด 8 เมนูอาหารพาแลงแยงเรือไฟ ซิกเนเจอร์กลุ่มชาติพันธุ์ ต้มเค็มปลาโจกโขกกับเป็ดย่าง ยำวัวเผาสะเด่าเคล้าหมูยอเวียดนาม ขนมถั่วแปบแลกหมัดกับข้าวโซย ในงานงานประเพณีไหลเรือไฟแม่น้ำโขง นครพนม
งานประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทยของจังหวัดนครพนม ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-18 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 11 รวม 11 วัน 11 คืน ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยประเพณีดังกล่าวสืบทอดจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน ซึ่งชาวอีสานจะเรียกว่าเฮือไฟเป็นภาษาถิ่น นิยมจัดในวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน11
ทั้งนี้ประเพณีไหลเรือไฟเกิดจากการบูชารอยพระพุทธบาท เมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์ได้ประทับไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในแคว้นทักษิณาบท ประเทศอินเดีย โดยเชื่อว่าในครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ไปแสดงธรรมในวังบาดาลนั้น ขณะจะเสด็จกลับพญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ตามความประสงค์ของพญานาค รอยพระบาทที่ทรงประทับไว้นี้ จึงเป็นที่เคารพของเทวดา มนุษย์ผู้ซึ่งต้องการบุญกุศล ตลอดจนถึงสัตว์ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้การไหลเรือไฟ จึงถือว่าเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท รวมถึงการระลึกถึงพระคุณของแม่คงคา นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงกับการขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้าอีกด้วย
การไหลเรือไฟจะมีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในคืนวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันออกพรรษาขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรือไฟที่สร้างจากไม้ไผ่นับพันๆลำ ขนาดความสูงอาจสูงกว่าตึก 3 ชั้น และยาวตั้งแต่ 30-90 เมตร ตบแต่งด้วยเส้นลวดที่ขึ้นเป็นลวดลาย ตามจินตนาการของศิลปินผู้สร้างเรือไฟของแต่ละอำเภอ เช่น พระธาตุพนม พระมหากษัตริย์ พญานาค รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอนั้นๆ ประดับด้วยตะเกียงไฟไส้ผ้า ใช้น้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง สูตรผสมสองอย่างนี้เมื่อจุดไฟแล้ว จะทำให้เกิดควันน้อยที่สุด ลวดลายดังกล่าวก็จะสวยงามกลางลำน้ำโขง
ทุกปีทางจังหวัดนครพนม ได้จัดที่นั่งอัฒจันทร์ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวปูเสื่อรอชมความงามกันตามอัธยาศัย โดยจะปล่อยเรือไฟลำแรกในเวลา 1 ทุ่มเป็นต้นไป และทยอยปล่อยไปเรื่อยๆจนถึงเรือลำสุดท้าย คาดจะจบครบ 12 ลำในเวลาประมาณก่อนเที่ยงคืน
นอกจากนี้ได้ใช้พื้นที่ตรงบริเวณลานตะวันเบิกฟ้า หน้าบ้านพักผู้พิพากษา จัดเป็นเวทีกลาง พร้อมมีโต๊ะพาข้าวแลง หรือพาแลง สำหรับประชาชน นักท่องเที่ยวด่ำดื่มกับบรรยากาศ พร้อมลิ้มชิมรสอาหารเคล้าเสียงเพลง ตลอดจนการบรรยายเกี่ยวกับเรือไฟในแต่ละลำ โดยในแต่ละปีมีองค์กรเอกชน อาทิ หอการค้าจังหวัดฯ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพจัดงานพาแลงไหลเรือไฟ ปีนี้เป็นคิวของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม เป็นผู้จัดและเปิดจำหน่ายบัตร ในราคา 4,000,5,000 และ 7,000 บาท เป็นโต๊ะจีนนั่งได้ 8 คน เมื่อดูเมนูอาหารรวม 8 อย่าง ก็ต้องร้องว้าวว่ามันสุดยอดมาก เพราะเป็นการนำอาหารถิ่นแต่ละชาติพันธุ์มาวางเสริฟบนโต๊ะ
ประเดิมเปิดผ้าม่านด้วยหมูยอ 4 สหาย ได้แก่หมูยอธรรมดา หมูยอหนังหมู หมูยอทอด และหมูยอใส่ผักชีลาว เป็นอาหารเวียดนามที่ชาวเวียดนามนำเข้ามาในประเทศไทย โดยคำว่ายอนั้น เพี้ยนมาจากคำว่าหย่อ ที่ย่อจากหย่อหลัวะ ซึ่งเป็นชื่อที่คนทางเหนือเรียก ส่วนคนทางใต้จะเรียกว่าจ๋าหลัวะ ส่วนมากคนไทยนิยมกินหมูยอเป็นเนื้อหมูล้วน ส่วนในเวียดนามจะมีหลายชื่อเรียกตามส่วนผสมที่ต่างกันออกไป
เมนูยำวัวเผากินควบคู่กับข้าวเกรียบย่าง ถือว่าเด็ดสะระตี่ที่มีการพลิกแพลง วัตถุดิบหลักคือวัวกี้ เป็นสายพันธุ์อีสานแท้ ชาวเวียดนามนำมาดัดแปลงเผาให้หนังนุ่ม หั่นชิ้นบางๆพอดีคำ รสชาติเปรี้ยวนำตามด้วยเผ็ดเค็มปะแล่มๆ ให้ทานคู่กับข้าวเกรียบเวียดนาม เคี้ยวกรอบมันดังกรุ๊บๆ
เมนูถัดมาคือต้มเค็มปลาโจก คนภาคกลางเรียกว่าปลาตะโกก เป็นปลาที่พบมากในแม่น้ำโขง ราคาใช่ย่อยกิโลกรัมละ 200 บาทขึ้นไป คนอีสานนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง แต่ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือต้มเค็ม ถือเป็นซิกเนเจอร์ของจังหวัดนครพนม และหากินไม่ได้ง่ายในร้านค้าทั่วไป และมีเมนูกินเล่นอีกหนึ่งอย่างของชาวเวียดนาม คือข้าวโซยในภาษาเวียดนามหมายถึงข้าวเหนียว เป็นข้าวเหนียวนึ่งห่อใบตองผสมธัญพืช หรือถั่วเขียว โรยกากหมูและหอมเจียว และยังมีข้าวโซยที่เหลืองด้วยสีขมิ้น โรยน้ำตาล งา และมะพร้าวขูด
ผู้คัดสรรเมนูบนโต๊ะพาแลง ยังจัดเมนูที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคย เผื่อบางท่านไม่คุ้นลิ้นกับอาหารถิ่นเช่น เป็ดย่าง MK หมี่หยก ผักกาดฮ่องเต้น้ำมันหอย ขนมถั่วแปบและข้าวห่อใบบัวไว้ด้วย โต๊ะพาแลงแบบนี้ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ถ้าไม่ได้ลองลิ้มถือว่าพลาดมาก สามารถติดต่อขอจองโต๊ะได้ที่คุณอ้อ 063-042-3229 คุณภัสรานันท์ 085-742-6444 คุณอลิสา 092-279-4438 คุณโบว์ลิ่ง 098-560-7548
คำว่าพาแลง หรือพาข้าวแลงนั้น เป็นภาษาอีสานแปลว่าอาหารมื้อเย็น โดย"พา"หมายถึง"พาข้าว"เป็นโต๊ะเตี้ยทำจากไม้ไผ่สาน อย่างประณีตคล้ายกันกับขันโตกของชาวเหนือ ส่วน "แลง" คือภาษาอีสานแปลว่าเวลาเย็นหรือพลบค่ำ พาแลงจึงหมายถึงสำรับอาหารมื้อเย็นของคนอีสาน ทว่าเป็นมื้อเย็นที่พิเศษสักหน่อย เนื่องจากพาแลงนั้นนิยมจัดขึ้นในวาระมงคล อาทิ งานแต่งงาน พิธีรับขวัญ หรือต้อนรับแขกผู้ใหญ่ ถือเป็นวัฒนธรรมการกินที่สืบทอดมานานหลายร้อยปี โดยมีชาวลาวในสมัยนั้น อพยพย้ายถิ่นมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ก็คือประเทศลาวในปัจจุบัน ก่อนกระจายความนิยมสู่หลายจังหวัดภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดเลียบแม่น้ำโขงอย่างสกลนคร หนองคาย หรือนครพนม เป็นต้น - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี