ปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ “เวทีขับเคลื่อนเชิงนโยบายภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น” ในหัวข้อ “เวทีสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น(Community Mental HealthForum)” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลศรีธัญญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ เมื่อเร็วๆ นี้
โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปจากการทอดบทเรียนการขับเคลื่อน นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) ในพื้นที่นำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ล่าสุด “เครื่องมือดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตชุมชน” ใช้ประเมินสุขภาพจิตในระดับชุมชน เคาะเป็น 6 ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ พร้อมดันเข้าสู่วาระระดับชาติเพื่อต่อยอดขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตแก่ทุกกลุ่มวัยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ชาญชัย ทองสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยสถาบันพัฒนาศักยภาพเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม มูลนิธิบุญยงฯ ตัวแทนแกนนำขับเคลื่อนฯ กล่าวถึงรายละเอียดของ “ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะด้านการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่นตลอดช่วงชีวิต”ทั้ง 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.กรมสุขภาพจิต สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ นำเครื่องมือดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น(Community Mental Health Index) ใช้ประเมินสถานะสุขภาพจิตในระดับชุมชน
และขยายผลต่อยอดไปสู่การเป็นเครื่องมือหลักในการประเมินสุขภาพจิตชุมชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นำไปสู่การสะท้อนภาพระดับสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเห็นทิศทางในการพัฒนาในแต่ละชุมชนให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ในอนาคต 2.กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนขยายผลการสร้างและพัฒนานักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) ให้กระจายไปทุกชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะตัวแทนประชากรกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนพิการ เด็กและเยาวชน
พร้อมหนุนเสริมพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่เดิมเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตใจได้อย่างเป็นผล พร้อมสนับสนุนทรัพยากรดำเนินงานแก่ นสช. 3.กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนและจัดให้มีให้มีคลินิกสุขภาพจิตในทุกโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
พร้อมสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงาน และพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานพยาบาลให้สามารถทำหน้าที่ดูแล ให้คำปรึกษา ประเมิน บำบัดรักษา และส่งต่อกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยจิตเวช เข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลตามความเหมาะสม 4.กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนให้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับต่างๆ ขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น
โดยกำหนดเป็นแผนงาน และงบประมาณของหน่วยงาน รวมถึงพัฒนาตัวชี้วัดความสำเร็จสำหรับติดตามประเมินผลการดำเนินงานของ อปท. 5.กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนให้มีหน่วยงานและบุคลากรทำหน้าที่ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานศึกษา โดยจัดตั้งเป็นคลินิกสุขภาพจิตและพัฒนาศักยภาพ
โดยให้ความรู้แก่บุคลากรสถานศึกษาในการทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ประเมิน เยียวยา และส่งต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลตามความเหมาะสมพร้อมกันนี้ สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาต่างๆ บูรณาการกิจกรรมด้านสุขภาพจิตเข้ากับหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนนักเรียนและนักศึกษาด้วยและ 6.สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงบประมาณและความรู้ทางวิชาการ
เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ นสช.และชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เช่น หลักสูตรมาตรฐานการอบรม นสช. สื่อการเรียนรู้ สื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เครื่องมือประเมินสถานการณ์สุขภาพจิตชุมชน ระบบคัดกรอง และการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตของภาคีเครือข่ายต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อต่างๆที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มสช. เปิดเผยว่า ขณะนี้เห็นผลสำเร็จมากขึ้น จากแผนสุขภาพจิตในระดับตำบล เทศบาล ก็เคลื่อนไปสู่ระดับอำเภอและจังหวัด พื้นที่นำร่องหลายแห่งมีการขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียง หากประเมินแล้วตัวโครงการฯที่ทำงานด้านสุขภาพจิตแต่สะกิดไปถึงทุกกระทรวงกำลังเดินหน้าสู่ระยะปลายที่จะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์อีกครั้งในเร็วๆ นี้ หลังจากผลักดันเรื่องบริการสุขภาพจิตเข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้สำเร็จ
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.มีหน้าที่ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพจิตโดยมุ่งเป้าให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย จึงจำเป็นต้องเร่งจัดระบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเชิงรุกก เป็นที่มาของการร่วมมือกับ มสช.และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขยายผลการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นตลอดช่วงชีวิต
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยว่า คนไทยเข้ารับบริการด้านจิตเวชมากขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 และจำนวนนี้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงมุ่งขยายผลความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธาน มสช. กล่าวว่า มสช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายองค์กร ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต นำร่องใน 15 พื้นที่ทุกภูมิภาค โดยมุ่งเน้นควบคุมหรือลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ซึ่งได้ก่อเกิดโมเดลเชิงวิชาการ 2 ส่วน คือ 1.การสร้างดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเป็นระบบ และ 2.การสร้างนักสื่อสารสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น (นสช.) ในทุกพื้นที่
ซึ่งผลการดำเนินงานนี้ จะกลายเป็นโมเดลระดับประเทศในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืนต่อไป!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี