‘อุบัติเหตุ’ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิด! ส่องระเบียบ‘ทัศนศึกษา’นอกโรงเรียน
เป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ไม่มีใครอยากให้เกิดและไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น กรณีรถบัสพานักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ไปทัศนศึกษาที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟผ.) อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แต่เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 1 ต.ค. 2567 ในขณะที่ขบวนรถบัสจำนวน 3 คัน ใช้เส้นทาง ถ.พหลโยธิน (ขาเข้า) บริเวณใกล้กับห้างเซียร์รังสิต และอนุสรณ์สถานแห่งชาติ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี รถบัสคันที่ 2 เกิดยางแตกตามด้วยไฟลุกไหม้ทั่วคันรถ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งครูและนักเรียนรวมกันนับสิบราย
ท่ามกลางเสียงสะท้อนบนโลกออนไลน์ “เลิกจัดกิจกรรมทัศนศึกษาจะดีกว่าหรือไม่?”
เพราะนี่ “ไม่ใช่ครั้งแรก” กับการเกิดอุบัติเหตุในกรณีการจัดกิจกรรมทัศนศีกษานอกโรงเรียน เช่น ในวันที่ 18 มี.ค. 2562 เกิดอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้น พานักเรียนจากโรงเรียนโคกน้ำเกี้ยง จ.หนองบัวลำภู ไปทัศนศึกษาที่ จ.จันทบุรี และ จ.ชลบุรี หักหลบรถบรรทุกบนถนนสาย 304 บริเวณทางโค้งหน้าวัดทับลานอุทยานสวรรค์ หมู่ที่ 1 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ทำให้รถเสียหลักตกถนน มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 24 คน
หรือวันที่ 7 ก.ค. 2565 เกิดอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้น เสียหลักตกถนนชนเสาไฟฟ้าพลิกตะแคง ริมถนนสายเพชรเกษม-บ้านหินแก้ว ม.2 ต.หินแก้ว อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มีผู้บาดเจ็บ 25 คน โดยรถคันเกิดเหตุเป็นหนึ่งในขบวนรถ 5 คัน ที่พานักเรียนเดินทางจากโรงเรียนบ้านหาดใน อ.ท่าแซะ ไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมือง จ.ชุมพร แต่มาเกิดอุบัติเหตุในช่วงขากลับ โดยคนขับรถเล่าว่า ได้หักหลบรถทัวร์ที่แล่นสวนทาง พยายามจะไต่ไหล่ทาง แต่ไม่เห็นถนนที่พังเป็นหลุมและมีหญ้าปกคลุม
หรือเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในวันที่ 4 ม.ค. 2567 เกิดอุบัติเหตุรถบัสที่พานักเรียนและครูของโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปทัศนศึกษาที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แต่เกิดอุบัติเหตุชนกับรถกระบะ บริเวณถนนบางขันธ์-หนอเสือ มุ่งหน้าคลองห้าหน้าปั้มน้ำมันพีที ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีผู้บาดเจ็บ 25 คน เป็นต้น
เมื่อดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาของนักเรียน พบว่ามี “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ.2562” และ “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563” ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 12 มีรายละเอียดดังนี้
1.ประเภทของการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา มี 3 รูปแบบ คือ
1.1 การพาไปนอกสถานศึกษา (ไม่พักแรม)
1.2 การพาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม)
1.3 การพาไปนอกราชอาณาจักร
“การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา ให้เป็นไปตามความสมัครใจของนักเรียนและนักศึกษา โดยความยินยอมของผู้ปกครอง”
2.บุคคลที่มีอำนาจอนุญาตการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา แบ่งตามแต่ละประเภทดังนี้
- กรณีสถานศึกษาของรัฐ
2.1 การพาไปนอกสถานศึกษา (ไม่พักแรม) ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าสถานศึกษา ซึ่งหมายถึง ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะเดียวกันทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
2.2 การพาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม) ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้มีอำนาจเหนือสถานศึกษาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หรือผู้ได้รับมอบหมายแล้วแต่กรณี
2.3 การพาไปนอกราชอาณาจักร ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ได้รับมอบหมาย
“ให้สถานศึกษาส่งคำขออนุญาต พร้อมโครงการที่จะพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน หากไม่สามารถยื่นคำขอได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นด้วย เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงออกเดินทางได้”
“เอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ชื่อโครงการ หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลาและสถานที่ดำเนินการ กิจกรรม รายชื่อหน่วยงานและผู้รับผิดชอบโครงการ รายชื่อผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมในการเดินทาง รายชื่อนักเรียนและนักศึกษาที่จะเดินทางไปนอกสถานศึกษา แผนที่สังเขปแสดงเส้นทางการเดินทาง แผนผังแสดงที่ตั้งของสถานที่ที่ไปนอกสถานศึกษาหรือสถานที่พักแรม เพื่อการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานทุกระยะ และแผนสำรองกรณีเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น”
- กรณีสถานศึกษาของเอกชน (ประเภทโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน)
2.4 ให้หัวหน้าสถานศึกษา เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการพาไปนอกสถานศึกษา (ไม่พักแรม)
2.5 ให้ผู้รับใบอนุญาต เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการพาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม)
2.6 ให้ผู้รับใบอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารโรงเรียน เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการพาไปนอกราชอาณาจักร
“ให้สถานศึกษาเอกชนประเภทโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน รายงานการพิจารณาอนุญาตต่อผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ”
"ในกรณีที่ผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเห็นว่า การพิจารณาอนุญาตอาจมีภยันตรายหรือเหตุการณ์อันกระทบต่อสวัสดิภาพของนักเรียนหรือการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน หรือสถานที่ที่จะเดินทางไปนอกสถานศึกษาหรือสถานที่พักแรมมีสภาพขัดต่อสุขลักษณะหรืออนามัย หรือมีเหตุอื่นอันอาจเป็นภยันตรายต่อนักเรียน ให้ผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนมีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร”
3.การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาทุกประเภท มีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้
3.1 ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางและการพักแรมเป็นอันดับแรก
3.2 ต้องได้รับอนุญาตก่อน
3.3 ให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา จำนวน 1 คนเป็นผู้ควบคุม และจะต้องมีครูหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา จำนวน 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 30 คน เป็นผู้ช่วยผู้ควบคุม ทั้งนี้ กรณีที่มีนักเรียนและนักศึกษาเป็นหญิงไปด้วย ให้มีครูสตรีควบคุมไปด้วยตามความเหมาะสม
3.4 ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้พิจารณาเลือกเส้นทางที่จะเดินทาง ยานพาหนะที่จะใช้ในการเดินทางซึ่งต้องอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงพนักงานขับรถหรือควบคุมยานพาหนะที่มีความรู้ความชำนาญด้วย
3.5 ในการเดินทาง ให้พิจารณาขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำแนะนำหรือขอความร่วมมืออื่นๆ เท่าที่จำเป็น รวมถึงจัดให้มีป้ายข้อความที่ระบุโครงการ กิจกรรม และสถานศึกษา แสดงให้เห็นเด่นชัดติดที่ด้านข้างรถ และมีหมายเลขกำกับติดที่ด้านหน้าและด้านหลังรถในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน ทั้งนี้ กรณีการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาโดยใช้รถโดยสารไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คัน ขึ้นไป ควรจัดให้มีรถนำขบวน สำหรับการใช้รถโดยสารต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คันขึ้นไป ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม
3.6 จัดให้มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นประจำรถหรือยานพาหนะ และดูแลนักเรียนและนักศึกษาที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ
3.7 เพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของนักเรียนและนักศึกษาในการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา ให้สถานศึกษาจัดให้มีการประกันภัยการเดินทางแก่นักเรียนและนักศึกษา เว้นแต่สถานศึกษาได้จัดให้มีการประกันภัยที่คุ้มครองกรณีดังกล่าวแก่นักเรียนและนักศึกษาอยู่ก่อนแล้ว
4.หน้าที่ของผู้ควบคุม (หัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา) และผู้ช่วยควบคุม (ครูหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานศึกษา) ในการพานักเรียน-นักศึกษาไปทัศนศึกษา
4.1 ดำเนินการให้นักเรียนและนักศึกษาอยู่ในระเบียบวินัยเพื่อให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย
4.2 ไม่เสพสุรา สิ่งเสพติด ของมึนเมาหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเล่นการพนันทุกชนิด
1.3 จัดให้มีช่องทางหรือระบบการติดต่อสื่อสารและหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการประสานงานทุกระยะ
4.4 ดูแลนักเรียนและนักศึกษาให้ได้รับความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง และในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจะต้องให้ความช่วยเหลือ
4.5 เมื่อปรากฏว่ามีกรณีเกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของนักเรียนและนักศึกษา ให้ผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมดูแลนักเรียนและนักศึกษาดำเนินการรายงานต่อหัวหน้าสถานศึกษาทราบโดยเร็ว และเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปให้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนั้น “ผู้ควบคุมและผู้ช่วยผู้ควบคุมต้องกำกับดูแลพนักงานขับรถหรือควบคุมยานพาหนะ” ให้ปฏิบัติดังนี้
4.6 ควบคุมยานพาหนะให้เป็นไปตามลำดับหมายเลข ตามเส้นทางที่กำหนดในแผนการเดินทาง ทั้งนี้ การใช้ความเร็วของรถหรือยานพาหนะให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยจราจรอย่างเคร่งครัด
4.7 ตรวจสอบสภาพรถหรือยานพาหนะและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และพร้อมที่จะใช้การได้ตลอดเวลา
4.8 ขับรถหรือควบคุมยานพาหนะด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับรถหรือควบคุมยานพาหนะในลักษณะประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
4.9 ไม่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถหรือควบคุมยานพาหนะ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยพนักงานขับรถหรือควบคุมยานพาหนะไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
4.10 ไม่ขับรถหรือควบคุมยานพาหนะในขณะที่มีอาการมึนเมาหรือเสพสุราหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทระหว่างการขับรถหรือควบคุมยานพาหนะ
สำหรับ “การพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา (พักแรม)” ให้ผู้ควบคุมปฏิบัติ ดังนี้
4.11 เมื่อเดินทางถึงสถานที่จัดกิจกรรมต้องจัดให้มีการปฐมนิเทศ เพื่อแจ้งกฎระเบียบข้อปฏิบัติในการใช้สถานที่ และการปฏิบัติตนขณะอยู่ในบริเวณที่จัดกิจกรรมและที่พักแรม
4.12 จัดสถานที่พักแยกชาย - หญิง ให้เป็นส่วนสัด
4.13 จัดให้มีระบบดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดช่วงเวลาจัดกิจกรรม
4.14 จัดเจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้มีความรู้ในการด้านการรักษาพยาบาลเพื่อดูแลนักเรียนนักศึกษาระหว่างกระทำกิจกรรม รวมทั้งจัดรถรับ - ส่ง กรณีมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ กรณีมีเหตุฉุกเฉิน ให้รีบรายงานด้วยวาจาต่อผู้อนุญาตโดยด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปให้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว
5.หลังจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเสร็จสิ้น : เมื่อกลับจากการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาแล้วให้รายงานให้ผู้อนุญาตทราบ
หลังจากนี้คงต้องติดตามผลการสืบสวน-สอบสวนกันต่อไปว่า ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ผู้อนุญาตให้จัดกิจกรรมทัศนศึกษา ครูซึ่งมีหน้าที่ควบคุม คนขับรถและบริษัทผู้ประกอบการรถรับจ้าง ได้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่? ใครจะต้องรับผิดชอบกับเหตุสลดครั้งนี้? และรัฐในนามกระทรวงที่มีอำนาจกำกับดูแล จะออกแนวปฏิบัติอะไรมาเพิ่มเติม แม้จะถูกมองว่า “ล้อมคอก” ก็ตาม แต่ก็คงดีกว่าไม่ทำอะไรเลยจนอาจเกิดเหตุซ้ำรอย!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี