ชาวไทยที่มีเชื้อสายเขมรถิ่นไทย ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ได้นำสำรับข้าวปลาอาหารมาถวายพระ พร้อมกับนำเครื่องเซ่นไหว้ คือกระเฌอโฎนตา ที่ใช้ในพิธีแซนโฎนตา มาจัดพิธีทำบุญอุทิศกุศล เพื่อส่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ กลับคืนสู่ภพภูมิ ในงานบุญประเพณีสารทเดือนสิบ วันสารทไทย และวันแซนโฎนตา ประจำปี 2567
2 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการทำบุญเดือนสิบ ในวันสารทไทย ประจำปี 2567 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งตรงกับสุดท้ายของการทำบุญแซนโฎนตา ที่วัดบ้านสะเดา ต.สะเดา อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ได้มีชาวบ้านที่เป็นชาวไทยเชื้อสายเขมรถิ่นไทยทุกเพศทุกวัย ได้นำดอกไม้ธูปเทียน สำรับข้าวปลาอาหาร มาทำบุญตักบาตรถวายพระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านสะเดา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว รวมถึงเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ปู่-ยา ตา-ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องในวันสารทไทย ประจำปี 2567
พร้อมทั้งได้นำกัญเฌอโฎนตา มาทำพิธีแซนกัญเฌอโฎนตา(อ่านว่า-แซน-กัน-เชอ-โดน-ตา)ที่แต่ละบ้านได้จัดเซ่นไหว้บรรพบุรุษในการแซนโฎนตา ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 (1ต.ค.67) ซึ่งได้มีการเซ่นไหว้ เรียกดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มาดื่มกินเครื่องเซ่นไหว้ ที่ลูกหลานได้จัดไว้ให้อยู่ตามบ้านเรือนแต่ละหลัง ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงมืดค่ำของเมื่อวาน(1ต.ค.67) กระทั่งอีกครั้งหนึ่งในช่วงเช้าของวันนี้ (2ต.ค.67) ก่อนจะนำสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมดนี้ ที่เรียกว่ากัญเฌอโฎนตา นำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนารวมกันอีกครั้งที่วัด
เพื่อให้พระสงฆ์ได้ประกอบพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ และสวดมนต์ เชิญดวงวิญญาณของผีบรรพบุรุษ หรือผีไม่มีญาติ ให้มารับบุญและเครื่องเซ่นไหว้ที่ลูกหลานได้อุทิศกุศลไปให้ นำกลับไปใช้ในภพภูมิที่จากมา ซึ่งถือเป็นการส่งดวงวิญญาณกลับสู่ภพภูมิที่จากมา ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะนำสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ถวายพระ และบางส่วนนำไปแจกจ่ายให้กับบุคคลในครอบครัว ลูกหลาน และญาติมิตรได้ร่วมดื่มฉลองกินกันต่อจากบรรพบุรุษที่ได้ดื่มกินเสร็จแล้ว เพราะมีความเชื่อว่าใครได้กินของเหลือจากที่บรรพบุรุษกินแล้ว ก็จะเป็นมงคลกับตัวเอง
สำหรับกระเฌอโฎนตา มาจากภาษาเขมรถิ่นไทย เรียกว่า กระจือ หรือกระเชอ หรือกัญเจอ แล้วแต่จะเรียก เป็นภาชนะที่สานมาจากไม้ไผ่ ทีลักษณะรูปทรงคล้ายกับกระบุง นำมาใช้สำหรับใส่เครื่องเซ่นไหว้ ที่มีทั้ง เสื้อผ้า ผ้าถุง โสร่ง ผ้าสไบ ผ้าขาวม้า ข้าวของเครื่องใช้ สำรับอาหารหวานคาว หัวหมูต้ม ไก่ต้ม เป็ดต้ม ปลาย่าง กระสารท ขนมข้าวต้มมัด พริก หอม กระเทียม กะปิ น้ำปลา เงินสด ขันธ์ 5 เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม น้ำเปล่า และสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ แล้วแต่จะจัดหามาได้เหมาะสมกับฐานะ ซึ่งปัจจุบันกระเฌอโฎนตาส่วนใหญ่ ชาวบ้านมักนินมใช้เป็น ตะกร้า กาละมัง ครุ ถัง หรือถาด หรือภาชนะที่สามารถนำสิ่งของมาบรรจุใส่ไว้ เนื่องจากกระเชอ หรือกระบุง มีน้อยและหาได้ยากในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ประเพณีแซนโฎนตา ถือเป็นประเพณีความเชื่อเฉพาะถิ่น ของคนไทยเชื้อสายเขมรถิ่นไทย ในแถบ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ รวมถึงในบางจังหวัดแถบภาคตะวันออก ที่มีคนไทยเชื้อสายเขมรอาศัยอยู่ โดยใน 1 ปี จะมีจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งประเพณีความเชื่อพื้นบ้านโบราณดั้งเดิม ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ต้องการสร้างจิตสำนึกให้ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีแซนโฎนตา ซึ่งเป็นประเพณีวันรวมญาติ วันระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ เพื่อให้ลูกหลานได้ร่วมกันแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และบรรพชนผู้ล่วงลับ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งในอดีตและปัจจุบัน.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี