The Active Thai PBS เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองผ่าน Policy Forum ระดมความเห็น เสนอต่อหน่วยงานในพื้นที่ ระดับนโยบาย รัฐบาล เดินหน้าฟื้นฟูเชียงรายสู่ต้นแบบรับมือจัดการภัยพิบัติใหญ่ในอนาคต
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active และองค์กรเครือข่าย จัด Policy Forum ครั้งที่ 21 “ฟื้นฟูเชียงราย เริ่มต้นใหม่เพื่อเชียงรายเข้มแข็งกว่าเดิม : CITY RECOVERY STRONGER CHIANG RAI” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมสะท้อน ย้อนต้นเหตุ มองเห็นปัญหาร่วมกัน เดินหน้าวางแผนฟื้นฟูเมืองเชียงราย ระดมความคิดเห็น สรุปข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางรับมือ แก้ปัญหาภัยพิบัติ จ.เชียงราย ให้เป็นต้นแบบในการรับมือแก้ไขปัญหาภัยพิบัติใหญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ณ ร้านท่าน้ำภูแล อ.เมือง จ.เชียงราย
เวที Policy Forum ครั้งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของหลายภาคส่วนที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และร่วมหาแนวทางในการจัดการรับมือภัยพิบัติ ทั้งตัวแทนชุมชนผู้ประสบภัย เชียงราย - แม่สาย - พื้นที่สูง, มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย, มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิมดชนะภัย รวมถึงภาคธุรกิจ ที่ได้ร่วมพูดคุย วางแผน และกำหนดเป้าหมายสำคัญคือการ “เริ่มต้นใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม” ด้วยการจัดระบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
เริ่มต้นด้วย สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ที่ได้ระดมจิตอาสาและสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ ได้ย้ำว่า นี่คือภัยพิบัติขนาดใหญ่มาก ๆ ที่เคยเจอมาในชีวิต สะท้อนการจัดการภัยพิบัติใน 4 ช่วงตอนสำคัญ ตั้งแต่การป้องกัน เตือนภัย ที่ต้องวางแนวทางการลดปริมาณน้ำ มีพื้นที่ป่าที่ซับน้ำได้ แต่ปีนี้ซับซ้อนมากเนื่องจากมีปริมาณน้ำสูง นวัตกรรมการเผชิญเหตุที่เรียกว่าสุดมือของกู้ภัย ต้องใช้ทั้งเจ็ตสกี ทีมซีลบุกมาช่วยผู้ประสบภัย เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเหตุการณ์เหมือนในช่วงสึนามิ และสำคัญช่วงของการฟื้นฟู แต่สังคมไทยไม่ค่อยสนใจและให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูมากนัก จึงอยากให้ครั้งนี้เป็นโอกาสของสังคมไทยที่จะร่วมกันซึ่งต้องไม่จบลงที่การนำโคลนออกจากบ้าน แต่ต้องคิดต่อไปถึงการจัดการในระยะยาว
อภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชียงราย นำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์การตั้งเมืองเชียงราย และแผนที่ทางน้ำจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสะท้อนว่าเชียงรายเป็นเมืองที่มีน้ำล้อมรอบหลายสาย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลง การก่อสร้างที่ส่งผลต่อเส้นทางน้ำการระบาย อาจต้องมีการวางหรือปรับผังเมืองเพื่อให้รับมือภัยพิบัติได้ แม้ไม่รู้ต้นทางแม่น้ำสำคัญ อย่างแม่น้ำกก เพราะมีต้นทางในประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากมีเทคโนโลยีและติดตามปริมาณน้ำต่อเนื่อง ประเมินและรีบเตือนภัยเมื่อน้ำเคลื่อนมาถึง จะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมปฐพีและฐานราก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่าง ๆ ที่เกิดผลกระทบต่อเหตุการณ์ดินสไลด์ โดยชวนให้สำรวจพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองก่อนว่า “ล่อแหลม” และ “เปราะบาง” หรือไม่ เพราะเชื่อว่ากระบวนการบุบสลายของภูเขา การถล่มลงมาเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ บนยอดเขาสมมติมีชุมชนอยู่ด้านบน ฝนที่ตกหนัก น้ำจะหาที่ไหลลงมาตามร่องเขาร่องน้ำ ชาวบ้านบนที่สูงทราบดีว่า จะกัดเซาะไปเรื่อย ๆ เกิดการกัดเซาะตามธรรมชาติ ฝนตกหนักต่อให้มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ยังไงก็ต้องพัง กรณีป่าไม้ที่ไม่สมบูรณ์ก็จะยิ่งเร่งกระบวนการพังให้เกิดเร็วขึ้น ฝนตกไม่หนักก็พังได้ ดิน น้ำป่าไหลลงมาได้ ประเด็นสำคัญจึงต้องวางแผนปรับการอยู่อาศัยและวิถีชีวิตไปตามลักษณะของความล่อแหลมของพื้นที่ที่อยู่ ต้องอาศัยโครงสร้างทางวิศวกรรมในพื้นที่ป่า เพื่อลดความรุนแรงของน้ำป่าและดินถล่ม โดยจะต้องพิจารณาผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพให้ละเอียดและดำเนินการให้สอดคล้อง ระดมสมอง พัฒนาข้อเสนอต่อการฟื้นฟูเมืองทั้งระบบ
โดยตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งชาวบ้านผู้ประสบภัย ภาคประชาชน จิตอาสา ภาคเอกชน ต่างร่วมสะท้อนระดมข้อเสนอสำคัญใน 3 ระยะ ระยะเร่งด่วน คือ ยังต้องเร่งช่วยผู้ประสบภัย มีครัวกลางให้ผู้ได้รับอาหารที่ดีมีคุณภาพ, เร่งทำความสะอาด ขนโคลน ขนขยะล้างบ้าน, ควบคุมราคาสินค้าที่จะซ้ำเติมเอาเปรียบผู้ประสบภัยพิบัติ, รักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อการวางแผนการจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและครอบคลุม ระยะฟื้นฟู แก้ปัญหาการอยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่ดินที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูจิตใจสุขภาพ การเยียวยาชดเชยรายได้ ความเสียหายต่าง ๆ ของประชาชนและภาคธุกิจเอกชน สร้างกลไกร่วมในการพัฒนาศัยภาพความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ และ สุดท้าย คือ ระยะของการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนคือต้องมีแผนที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การสื่อสาร ศูนย์การเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังรับมือที่เข้มแข็ง มีศูนย์บริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์ ฟื้นฟูภัยพิบัติบัติ
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ได้จากเวทีนี้ ได้รวบรวมข้อมูลการแลกเปลี่ยนในเวทีนี้ สู่แพลตฟอร์ม “Policy Watch” ซึ่งจะมีการสกัดรวบรวมข้อมูล เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมระดมกันในวันนี้เห็นภาพที่ครอบคลุมทุกมิติในการทำงานร่วมกันต่อ ที่สำคัญคือ จัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งระดับนโยบาย รัฐบาล เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยพิบัติใหญ่ใน จ.เชียงราย สู่การเป็นโมเดลของการรับมือแก้ไขปัญหาภัยพิบัติใหญ่ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipbs.or.th/policywatch นอกจากนี้ ทีมข่าว The Active Thai PBS จะยังคงเกาะติดสถานการณ์ และการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมามีชีวิตปกติได้ในเร็ววัน โดยสามารถติดตามได้ในรายการ ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 12.00 - 12.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี