“ทางมหาวิทยาลัยราชมงคลได้ลงพื้นที่ ใช้คำว่าเข้าถึงพื้นที่ชุมชน อยู่ ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี คือตอนแรกก่อนที่จะเจอผักตบชวาอัจฉริยะ อาจารย์ลงพื้นที่ไปหาผักตบ เจอกับผมแล้วก็ชักชวนเข้ามา เผอิญว่าตัวผมเองชอบในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไรให้กับสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ ตัวเราดีขึ้น ก็เลยคุยกันว่าเราจะทำงานร่วมกัน โดยผ่านงานวิจัยจาก บพท.”
สุมน เผื่อนบัวผัน ผู้นำชุมชนศูนย์เรียนรู้ชุมชนผักตบชวาอัจฉริยะ RMUTT of Water Hyacinth Smart Communities บอกเล่าในวงเสวนา “พัฒนานวัตกรรมชุมชนผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน บทเรียนจากประสบการณ์จริง เรื่องเล่าความสำเร็จจากนวัตกรชุมชน” ในงานประกวดและนิทรรศการ “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” ครั้งที่ 2(The 2nd Learning and Innovation Community Award) เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย ที่เป็นทั้งการสร้างรายได้และดูแลสิ่งแวดล้อม
งานดังกล่าวซึ่งมี หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัด เป็นการรวมตัวของนักวิชาการและนวัตกรชุมชน ซึ่ง สุมน เล่าว่า จากการพูดคุยกับชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ คนในชุมชนมีคำถามตรงกันคือ “จะทำจริงไหม?” เพราะที่ผ่านมา “หน่วยงานจากภายนอกมักนำโครงการเข้ามาเสนอในชุมชน แต่เมื่อจบโครงการก็แยกย้ายกันไป” เป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนบางชุมชนถึงกับออกปากว่าไม่เอาแล้ว
แต่กับการทำงานระหว่างชุมชนกับ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี นั้นแตกต่างออกไป ดังที่ สุมน ระบุว่า “เสื้อคลุม”ซึ่งตนเองใส่อยู่ พร้อมกับบอกว่า “ทำจากเส้นใยผักตบชวา” ใช้งานได้จริงและมีจำหน่ายแล้ว แต่ก้าวต่อไปที่เป็นโจทย์ร่วมกันของนวัตกรชุมชนกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย คือจะทำอย่างไรให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับ“การผลิตเครื่องนุ่งห่มจากเส้นใยธรรมชาติ” นอกจากผักตบชวา ยังมีเส้นใยจากกล้วย กระจูด กก รวมถึงกำลังวิจัยเส้นใยจากข่า
ไม่ต่างจาก ศักดา แสงกันหา ประธานบริษัทมะลิกูด จำกัด ผู้ก่อตั้งสหกรณ์ไหมบัวลาย (สหกรณ์การเกษตรเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม) จ.นครราชสีมา ที่เล่าว่า มีอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เข้าไปพบกับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทุกกลุ่มในพื้นที่ บอกว่าโครงการที่นำเข้าไปครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ เพราะเป็นการนำนวัตกรรมเข้าไปสนับสนุน มีการประยุกต์ต่อยอดไม่ใช่ทำแล้วจบไป
“ผมถามอาจารย์ไปว่า ‘ทำจริงไหม?..หรือทำแค่เอาเงิน’ ถ้าอาจารย์ทำแค่เอาเงินไม่ต้องมาลงพื้นที่ผม พื้นที่ผมอยู่ไกล ขับรถชั่วโมงครึ่ง 130 กิโลจาก มทส. ไกลมาก ผมถามเลยว่าทำจริงไหม? ถ้าไม่ทำจริงผมส่งงานให้อาจารย์ไปทำโครงการ จบ! เราเป็นมิตรกัน อาจารย์ได้โครงการ..ผมจบ! อาจารย์ตอบว่าโครงการนี้ตั้งใจพัฒนาคนจริงๆ สร้างชุมชนจริงๆ แล้วก็ทำจริง ผมก็เลยบอกว่าถ้าอาจารย์ทำจริงผมก็จะทำด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำด้วยกัน” ศักดา กล่าว
ศักดา เล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงทำงานร่วมกันก็ต้องเริ่มจาก “ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน” จากชื่อโครงการที่มีคำว่า “ผ้าไหม” ก็ต้องเปลี่ยนเพราะ “อุตสาหกรรมไหมไม่ได้มีแต่ผ้า” ไหนๆ จะทำแล้วก็ต้องให้เข้าถึงทุกขั้นตอนของอุตสาหกรรม จึงเริ่มจาก “การรวมกลุ่มตลอดห่วงโซ่”ไล่ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า ตัดเย็บ แปรรูป ออกแบบ มาพูดคุยกันว่าแต่ละคนมีปัญหาอย่างไรและจะต้องเสริมอะไรเข้าไป
รวมถึงเรื่อง “การตลาดออนไลน์” สิ่งที่ตนเข้าไปช่วยทำคือพยายามสอนชาวบ้านขายสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์ม TikTok ให้เป็น โดยตัดเรื่องการใช้อุปกรณ์ที่ยุ่งยากออกไป ขอแค่กดปุ่มไลฟ์และตั้งกล้องให้เป็นก็พอ พร้อมกับอธิบายว่าทำเป็นแล้วได้เงินจริง มียอดคนดูและยอดคนซื้อ อนึ่ง ด้วยความที่ในกลุ่มมีความหลากหลาย บางคนที่ไม่ถนัดไลฟ์สดก็ขอให้ถ่ายคลิปวีดีโอขณะทำงานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไว้แล้วมาทยอยลง ตามด้วยการปักตะกร้าสินค้าที่มีตั้งแต่เส้นไหม รังไหม ตะกร้าจักสาน ไปจนถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่สมาชิกในกลุ่มผลิตขึ้น
ศักดา ยอมรับว่า รายได้ของกลุ่มในช่องทางออนไลน์นั้นยังไม่มาก หลักๆ ยังต้องออกไปจำหน่าย แต่ต้องการให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เห็นว่าออนไลน์ไม่ใช่มีแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ทำได้ ซึ่งจริงๆ ชาวบ้านเคยหัดทำออนไลน์และตื่นเต้นมากมาแล้วในอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่ทำแล้วไม่ได้เงินก็หยุดไปและฝังใจเลยว่าออนไลน์ไม่ได้เงินจริง แต่เมื่อทำให้เห็นและชวนมาทำ ตามด้วยเห็นว่าครั้งนี้ทำแล้วได้เงินจริงๆ ก็ทำให้คนในชุมชนหันมาสนใจว่าตนเองก็สามารถขายของออนไลน์ได้ แต่จะทำแบบไหนขณะนี้ยังต้องทำกันเป็นกลุ่มอยู่เพื่อทำให้ถูกต้อง
ขณะที่ กัญหา คนาวัช ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ภายใต้แบรน์รักษ์เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำงานร่วมกับ วิทยาลัยเชียงราย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เล่าว่า ที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ผู้คนต้องเผชิญปัญหา“ไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่น PM2.5” ทุกปี กระทั่งมีนักวิชาการนำโครงการเข้าไปเสนอ ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่อยากทำอยู่แล้วนั่นคือการลดปัญหาข้างต้นลงมาอยู่ในระดับที่ชุมชนอยู่ได้
“สิ่งที่หวังอยู่ในใจลึกๆ ไม่แต่กล้าถาม หวังว่าอาจารย์มาทำโครงการจบแล้วคงจะทิ้งพวกเราอยู่เหมือนโครงการที่ผ่านมา คือเราทำด้วยความตั้งใจในชุมชน จากเชียงราย (ตัวเมือง) มาเวียงป่าเป้าก็ร้อยกว่ากิโลฯ นะ กว่าจะไป-กลับได้ต้องใช้เวลาครึ่งวัน อาจารย์ไม่น่าจะเสียเวลามาหาเรา น่าจะมีการต่อยอด อาจารย์บอกว่าทำแล้วไม่ทิ้ง จะมีการต่อยอดเรื่อยๆ ถ้าเราทำจริง” กัญหา กล่าว
ด้วยความที่ อ.เวียงป่าเป้า มีเกษตรกรทำสวนลำไยเป็นจำนวนมาก แทนที่เศษวัสดุเหลือจากการเกษตรจะถูกเผาในที่โล่งให้เกิดฝุ่นพิษก่อปัญหาสุขภาพ ก็เปลี่ยนมาเผาใน “เตาเผาถ่านไร้สารก่อมะเร็ง” และยังได้ของแถมเป็น “น้ำส้มควันไม้” ใช้กำจัดศัตรูพืช อีกทั้งช่วยไล่เห็บ-หมัดที่เกาะตามตัวสัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์ได้ด้วย หลังจากทำมาปีเศษๆ ก็ยืนยันว่าชุมชนจะทำต่อไปไม่ทิ้งอย่างแน่นอน แม้เตาเดิมที่เป็นของตัวอย่างชำรุดไปก็จะทำเตาใหม่ขึ้นมาแทน เพราะได้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนจริงๆ
เพราะแม้การเผาถ่านจะเป็นสิ่งที่คนในชุมชนทำกันมานานแล้วจากรุ่นสู่รุ่น แต่การได้มาเรียนรู้นวัตกรรมกับภาควิชาการทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเผาในเตาแบบดั้งเดิมกับเตาแบบใหม่ ที่ได้ประโยชน์ทั้งได้ถ่านไม้คุณภาพดี ได้น้ำส้มควันไม้ ซึ่งก็ต้องลองผิดลองถูกกันอีก เพราะตอนแรกนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้กับนาข้าวที่มีเพลี้ยกระโดดระบาดโดยไม่มีสูตร ทำให้ผลผลิตข้าวหายไปมาก แต่เมื่อปรับปรุงแก้ไข รอบต่อไปก็ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าหากจะต่อยอดสู่การขายน้ำส้มควันไม้ ก็จะมีสูตรการใช้แถมให้ด้วย
ด้าน มินชญา ไขกล ที่ปรึกษาการตลาดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลดงบัง และแชมพูสมุนไพรประจันตคาม ในพื้นที่ อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เล่าว่า ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตนไม่รู้จะไปหางานอะไรทำ แล้วเห็นกิจกรรมยามว่างของคุณยาย คือการทำเส้นตอกไม้ไผ่สาน เป็นมัดผัก-มัดข้าวต้ม หรือสานเป็นหมวก-ตะกร้า แล้วเห็นว่าคุณยายขายของไม่ได้ เลยเริ่มศึกษาเรื่องการตลาดออนไลน์ด้วยตนเอง
โดยเมื่อมีโครงการจากภาควิชาการเข้ามาในชุมชนขณะที่ทีมชุมชนก็จะมีร้านกาแฟบริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นจุดศูนย์รวมในการช่วยกันดูแล เช่น เมื่อมีการท่องเที่ยวติดต่อเข้ามา รวมถึงขายสินค้าผ่าน TikTok เช่น เส้นตอกไม้ไผ่ สุ่มไก่ ระหว่างไลฟ์สดก็พูดเรื่องเส้นตอกบ้าง เรื่องไก่บ้างไปด้วย ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ซึ่ง “การใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นทักษะที่นวัตกรจำเป็นต้องมี” อาทิ จะทำให้เนื้อหาเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายต้องใส่แฮชแท็กอย่างไรให้ติดเทรนด์
และด้วยความที่การตลาดขยับขึ้น จะรอใช้คนทำทุกขั้นตอนก็ล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการสั่งซื้อ จึงต้องนำ“เครื่องจักตอกไม้ไผ่” ที่สามารถปรับขนาดความหนา-บางได้เข้ามาใช้ ซึ่งช่วยทุ่นแรงได้มากในเบื้องต้น ยกเว้นขั้นตอนที่ต้องการความละเอียดเป็นพิเศษก็ยังต้องใช้คนทำด้วยมือแบบดั้งเดิมเพื่อเก็บรายละเอียด ทั้งนี้ บทบาทของนวัตกร คือการเข้าไปดูก่อนว่าในชุมชนมีปัญหาอะไร แล้วจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง
“ในมุมมองของชุมชนที่พบเจอ ที่ดงบัง ปราจีนบุรียังขาดในเรื่องการออกแบบและการตลาด ก็คือจะเป็นรุ่นแม่ๆ ป้าๆ เขาไม่ได้มีไอเดียในเรื่องของจะทำอย่างไรออกสู่ตลาดให้มียอดขายมากยิ่งขึ้น หรือว่าเรื่องการออกแบบลวดลายในการจักสาน ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ดีนะที่มีนวัตกรเข้าไปช่วยในกลุ่ม เข้าไปออกแบบ มีรูปแบบใหม่ๆ มีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าไป” มินชญา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี