สถานการณ์ ความยากจน และพฤติกรรมยังชีพ ส่งผลให้เด็กชายแดนใต้กว่า 4 หมื่นคน “เตี้ย แคระ แกร็น” ปมปัญหาทุพโภชนาการติด 1 ใน 5 อันดับสูงสุดของประเทศ ขาดสารอาหารต่อเนื่อง กระทบการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว และความไม่มั่นคงทางอาหารในพื้นที่
นอกจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เรื้อรังมายาวนาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และสถานะทางเศรษฐกิจ ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีดัชนีความยากจนติดอันดับ
ต้นๆ ของประเทศ ปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดลูกโซ่ของความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารของปลายด้ามขวานที่วิกฤตเรื้อรังมาหลายทศวรรษ และภาวะทุพโภชนาการทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ กว่า 4 หมื่นคน ขาดสารอาหารต่อเนื่อง ทั้งเตี้ย-แคระ-แกร็น กระทบพัฒนาการ ในรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ดูจะสะท้อนวิกฤตดังกล่าวได้ชัดเจนที่สุด
“ความไม่พร้อมของครอบครัว ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้มาจุนเจือเลี้ยงดู ปล่อยปละละเลย จนทำให้เด็กขาดการเอาใจใส่”
ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกันสำหรับ กนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อบอกเล่าถึงปัญหาภาวะทางโภชนาการของเด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
แม้คนพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตร แต่ปริมาณการผลิตอาหารในพื้นที่มีน้อยมาก เพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับความต้องการบริโภคโดยเฉลี่ย ทำให้ต้องพึ่งพิงอาหารจากภายนอกสัดส่วนที่สูงมาก มีภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอาหารยังไม่มีความปลอดภัย รวมทั้งสารเคมีตกค้าง
จากสภาพปัญหาดังกล่าว สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ (สำนัก 5) ได้ดำเนินงานโครงการ “ขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)” เพื่อยกระดับต้นแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในสวนยาง ขับเคลื่อนการกระจาย และเชื่อมโยงผลผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะให้กับชุมชน ส่งเสริมโภชนาการ อาหารปลอดภัย เพิ่มความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน และพัฒนาฐานข้อมูลและแผนภาพเพื่อใช้ขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงาน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผยว่า สสส.มีโครงการที่ทำร่วมกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่หลายสำนัก แต่สิ่งสำคัญ คือ การทำงานร่วมกับท้องถิ่นอย่าง อบจ. แล้วสามารถขยายผลไปได้ หรือการสร้างกลไกของชุมชนเข้าไปขับเคลื่อนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นทุพโภชนาการต้องลงรายละเอียดแต่ละชุมชน ขับเคลื่อนความเข้าใจ และสร้างกระบวนการชุมชนในการแก้ปัญหา
โดย สสส.ได้เร่งสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายนำร่องพัฒนาตำบลต้นแบบบูรณาการระบบอาหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ จนเกิดการยกระดับการทำงานเชิงระบบและเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัย จ.ปัตตานี และ 3.แก้ปัญหาโภชนาการในกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียนและกลุ่มเปราะบาง จ.ปัตตานี ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการขยายผลข้อเสนอเชิงนโยบายไปในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะ3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป
ขณะที่ ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. อธิบายเพิ่มเติมว่า สสส. พยายามขับเคลื่อนระบบอาหารในทุกๆ นโยบาย ซึ่งต้องผนวกเข้ากับหลายภาคส่วน เป้าหมายหลักคือ การแก้ปัญหาสุขภาวะเด็ก ซึ่งต้องมีนโยบายอื่นประกอบด้วย โดยที่นี่พยายามยกให้เป็นนโยบายสาธารณะ
ประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงอาหารของพื้นที่ คือ การส่งเสริมปลูกพืชอาหารเสริมในพื้นที่พืชเศรษฐกิจ เช่น ในส่วนยางพารา จัดสรรพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหาร ด้านอาหารปลอดภัย ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง เชื่อมร้อยผู้ผลิตมาสู่ตลาดและผู้บริโภค เช่นเดียวกับขยายเข้าไปโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
“จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นการแก้ปัญหาด้านอาหารและโภชนาการ แต่สามารถเชื่อมโยงเรื่องของอาชีพสิ่งแวดล้อม ชุมชนและโรงเรียนได้ ในการจะร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อชุมชนของตัวเอง” ทพญ.จันทนา กล่าว
ต่อให้มีความตั้งใจดี แต่หากขาดความร่วมมือ ก็ไม่อาจก่อให้เกิดผลขึ้นได้ เจ้าของพื้นที่อย่าง อบจ.ปัตตานี จึงถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการด้วยระบบอาหารที่มั่นคง
เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี บอกว่า จ.ปัตตานีใช้กลไก รพ.สต. 38 แห่ง จัดทำแผน โครงการเพื่อแก้ปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ เกิดแนวร่วมในชุมชนของความมั่นคงอาหาร ความปลอดภัยอาหาร และโภชนาการ ส่งเสริมความรอบรู้เรื่องพิษภัยอาหาร การปนเปื้อน การส่งเสริมผลิตอาหารปลอดภัย ปลูกฝังทัศนคติการให้ความสำคัญของอาหารต่อการพัฒนาสมองของเด็ก สร้างนิสัยการกินที่ดี ส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับสารอาหารที่เพียงพอเหมาะสมตามวัย
การดำเนินโครงการฯ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2566 จนถึงวันนี้ ได้เกิดต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เกิดรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชาวสวนยางพารา เกิดการพัฒนาต้นแบบตลาดอาหารปลอดภัย และเกิดเป็นตำบลบูรณาการระบบอาหารสู่แผนงานอาหารและโภชนาการในระดับท้องถิ่นในหลายๆ พื้นที่ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้
ที่สุดแล้ว ความมั่นคงทางอาหารก็จะเกิดขึ้น และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยคลี่คลายภาวะทุพโภชนาการ ของเด็กๆ ดินแดนปลายด้ามขวานอย่างยั่งยืนนั่นเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี