“เงินจำนวน 24 ล้านล้านบาท คือผลประโยชน์ทางทะเลของไทย ที่กองทัพเรือต้องดูแลรักษาให้ดีที่สุด” เงินก้อนนี้ครอบคลุมเศรษฐกิจหลากหลาย เช่น ประมงพลังงานในเขตน่านน้ำไทย การท่องเที่ยวทางทะเล และทรัพยากรทางทะเลทั้งหมด ประเด็นเหล่านี้ กองทัพเรือ ต้องปกป้องทั้งอธิปไตยของประเทศ และผลประโยชน์ของประเทศไปพร้อมๆ กัน
พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์แนวหน้า ในประเด็นภารกิจหลักของกองทัพเรือในยุคที่โลก และสังคมไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในหลายมิติ แต่ละมิติส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของกองทัพเรืออย่างมีนัยสำคัญ โดยกองทัพเรือมีเป้าหมายหลักคือ รักษาผลประโยชน์แห่งรัฐให้ดีที่สุด
-ภารกิจหลักของกองทัพเรือยุค ผบ.ทร. คนใหม่ล่าสุดคืออะไร : เรื่องหลักของกองทัพในขณะนี้คือถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 พระราชพิธีนี้เป็นภารกิจที่กองทัพเรือตั้งใจถวายพระเกียรติยศสูงสุด กองทัพเรือเตรียมงานนี้มาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ฝึกซ้อมฝีพายอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงตลอดเวลา กองทัพเรือเน้นทั้งเรื่องสมพระเกียรติ เน้นความสง่างามของขบวนเรือ แต่ที่สำคัญสูงสุดคือ ถวายราชอารักขาสูงสุด
-กองทัพติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างไรบ้าง เพราะจะมีผลต่อกระแสน้ำในวันพระราชพิธี : กองทัพเรือติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดตลอดเวลา ขอเรียนว่าเราไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว แต่เราร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ และภาคเอกชน เราประสานงานใกล้ชิดตลอดเวลา หารือกันตลอด สำหรับเรื่องกระแสน้ำเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราเกาะติดสถานการณ์ เนื่องจากเรือพระที่นั่งและเรือในขบวนแล่นบนพื้นน้ำ ในนามของกองทัพเรือ เรามั่นใจเราสามารถถวายความปลอดภัยในพระราชพิธีนี้ และต้องทำให้สมพระเกียรติอย่างสูงสุด
-ไปที่ประเด็นสถานการณ์โลกที่แปรเปลี่ยนฉับพลันตลอดเวลา เรื่องนี้ทำให้กองทัพเรือต้องรับมือหรือเตรียมตัวอย่างไรให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไทยว่ากองทัพเรือสามารถดูแลความมั่นคงทางทะเลได้ : กองทัพเรือเกาะติดเรื่องความมั่นคงทางทะเลของไทยตลอดเวลา เมื่อพูดเรื่องนี้ต้องดูกระแสโลกไปพร้อมๆ กัน เพราะส่งผลถึงกันตลอด เราเฝ้ามองสถานการณ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจโลกโดยใกล้ชิด เพราะส่งผลกระทบถึงไทยโดยปริยาย
หากเปรียบโลกเหมือนกล่องใบหนึ่ง ในกล่องมีบางประเทศกำลังเติบใหญ่ขึ้นมา บางประเทศมีความใหญ่โตมากมานานแล้ว เมื่ออีกประเทศค่อยๆ เติบโต ก็เกิดการสร้างอำนาจแข่งกัน เกิดการกระทบกระทั่งกัน เมื่อเราอยู่ในกล่องใบนั้น เราต้องปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย กองทัพเรือก็เช่นกันต้องปรับตัวให้สอดรับสถานการณ์ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องฟังเสียงของคนในประเทศด้วย เราต้องฟังกันและกันโดยไม่ลืมภารกิจสำคัญของกองทัพเรือคือรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ
“ปัจจุบันเราเห็นภาพความขัดแย้งย้ายจากฝั่งยุโรปมาฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเขตทะเลจีนใต้ และเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะคู่กรณี ไทยเราอยู่ในภูมิภาคนี้ต้องเตรียมรับมือให้ดี เพื่อให้เกิดผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด เมื่อก่อนเราไม่ค่อยเห็นภาพการเคลื่อนกำลังของประเทศตะวันตกมาสู่ฝั่งด้านนี้มากนัก แต่ปัจจุบัน เราได้เห็นภาพนี้มากขึ้นมีกองเรือต่างๆ เข้ามาแวะพักบ้าง แล่นผ่านไปบ้าง เรื่องนี้อาจเกิดเป็น Flash Point (จุดเปราะบาง ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง) ในอนาคต”
จึงมีการกระทบกระทั่งของมหาอำนาจเก่าและใหม่ในเขตทะเลและมหาสมุทรใกล้บ้านเรา และอาจส่งผลกระทบบางอย่างถึงเรา เราจึงต้องเตรียมกำลังเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ความพร้อมของกองทัพเรือจึงจำเป็นมาก เพราะต้องดูแลผลประโยชน์ทางทะเลของชาติให้ดีที่สุด ผมมองว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามหาพันธมิตร เราเป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่ที่อาจเกิดความขัดแย้ง จำเป็นต้องรักษาสมดุลให้ดี การที่จะเกิด Flash Point มันขึ้นอยู่กับความยับยั้งชั่งใจของผู้นำของแต่ละฝ่าย และต้องดูการยั่วยุที่มาจากการกระทำของแต่ละฝ่ายด้วย ต้องดูว่าจะมีจุดหยุดยั้งอยู่ตรงไหน ใครจะทนกันและกันได้มากแค่ไหน แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดความอดทน ก็จะเกิดเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ประเด็นนี้คาดเดาได้ยากมาก เราจึงต้องเกาะติดใกล้ชิดตลอด และต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา
-เป็นสถานการณ์เราที่หันไปทางไหนก็เจอปัญหา (Dilemma) เราเป็นประเทศไม่ใหญ่โตมากนัก เราต้องพึ่งพาเขา แต่หากพึ่งพาใครมากเกินไปก็จะโดนอีกฝ่ายหนึ่งเขม่น ถือว่าวางตัวได้ยากหรือไม่ : หากเรามองในมุมกลับ เราเข้าใจสถานการณ์ เราปรับตัวได้ดี เราจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้หากเรามองว่าเขาบีบเรา มันก็จะเห็นภาพแบบหนึ่ง แต่หากมองว่าเป็นโอกาสดีของเราในการเจรจา เราจะได้ประโยชน์ เราต้องเจรจาแล้วยื่นข้อเสนอที่เราอยากได้ เราจะได้ประโยชน์ นี่คือโอกาสของเรา แทนที่เราจะเป็นฝ่ายรับ เราต้องเจรจาต่อรองว่าหากคุณให้สิ่งนี้กับเรา เราจะร่วมมือกัน เรื่องนี้เป็นความชาญฉลาดที่ทั้งรัฐบาลและกองทัพต้องฉลาดเจรจา
-มีความวิตกเรื่องทะเลจีนใต้ เพราะกระทบกระทั่งกันเป็นระยะๆ ปัจจุบันมีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่มากขึ้นแต่ยังโชคดีที่ไทยไม่ได้เข้าไปร่วมขัดแย้งด้วย แต่ในฐานะที่กองทัพเรือต้องดูแลผลประโยชน์ทางทะเล ได้วางยุทธศาสตร์ไว้อย่างไร เพราะคู่ขัดแย้งหลักมีทั้งจีน และสหรัฐอเมริกา : เบื้องต้นเราเน้นการดูแลปกป้องผลประโยชน์แห่งรัฐของเราก่อน เราดูแลส่วนของเราให้ดีที่สุด เราไม่เข้าไปล่วงล้ำพื้นที่ของคนอื่น กองทัพเรือมีแผนยุทธศาสตร์ แผนเสริมสร้างกำลังพลที่สามารถเปิดเผยได้ และเราต้องการให้ประชาชนรับทราบ แผนของเราในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าคือ กองทัพเรือจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ 4 ลำ เรือฟริเกต 8 ลำ เครื่องบินลาดตระเวน UAV (อากาศยานไร้คนขับ) ยุทโธปกรณ์เหล่านี้จำเป็นมาก ต้องมีเพื่อใช้ทำงานให้มีประสิทธิสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งรัฐ
-กองทัพเรือมองว่าเรือดำน้ำ เรือฟริเกต เป็นยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น แต่อีกฝ่ายเขาเห็นด้วย บางคนถามว่าจะไปรบกับใคร บางคนบอกว่างบประมาณเราไม่พอ ผบ.ทร.จะอธิบายความจำเป็นเรื่องนี้กับสังคมอย่างไร : ทหารคือเครื่องมือสุดท้ายของการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดสงคราม สงครามทำให้ทุกฝ่ายเดือดร้อน ไม่มีใครต้องการก้าวเข้าสู่สงคราม ผมมองมาตลอดว่าหากเราไม่ต้องการให้เกิดสงคราม เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมให้ดีที่สุด เราต้องมีกำลังเพียงพอที่จะดูแลและปกป้องประเทศของเรา ต้องป้องปรามไม่ให้เกิดสงคราม ต้องลดความขัดแย้ง
“ผมยกตัวอย่างการมีเครื่องมือก็เหมือนเราจะทำกับข้าวสักอย่าง เช่น ผมอยากทำผัดกะเพรา แต่ผมไม่มีกระทะ ก็ผัดกะเพราได้ยากแล้ว เปรียบกับเรื่องเรือดำน้ำ หรือเรือฟริเกต ก็คือเครื่องมือที่เราต้องใช้ เมื่อถึงเวลาจะใช้ แต่เราไม่มี เราก็ทำงานยาก เราจำเป็นต้องเตรียมยุทโธปกรณ์ไว้ฝึกเพื่อเตรียมพร้อมเพื่อรักษาอธิปไตยของประเทศ เราต้องมียุทโธปกรณ์ที่จำเป็นที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ เพื่อใช้ปกป้องผลประโยชน์แห่งรัฐ แต่หากเราไม่มี ครั้นเมื่อถึงเวลาต้องใช้ เราทำงานไม่ได้”
สมมุติว่าวันพรุ่งนี้ใครอยากทำอะไรกับเรา ผมไม่ต้องการระบุว่าเป็นใคร แต่เราไม่มีเครื่องป้องกันตัว มันเป็นปัญหาของเราดังนั้น เราต้องเตรียมการระยะยาว เตรียมพร้อมตลอดเวลา เรื่องสำคัญแบบนี้ไม่ใช่แค่เพียงกองทัพจะตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวกองทัพมีหน้าที่เตรียมพร้อมกำลังทหารเพื่อป้องกันประเทศส่วนองคาพยพอื่นๆ ในสังคมก็มีความสำคัญ เช่น ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรื่องสำคัญมาก ประเด็นเหล่านี้ต้องมีทิศทาง และที่สำคัญคือนโยบายของรัฐบาล ต้องดูว่ามีนโยบายอย่างไรกับการสร้างให้กองทัพเข้มแข็ง ต้องเข้มแข็งระดับไหนถึงจะพอเพียงกับการเป็นเครื่องหนุนหลังเจรจาระหว่างประเทศในเวลาที่ต้องไปเจรจากับประเทศต่างๆ
-คนไทยบางกลุ่มมีแนวคิดว่าทหารเกณฑ์ไม่จำเป็น กองทัพไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่โต ผบ.ทร. มองประเด็นความพอเหมาะของกำลังพลอย่างไร : ประเด็นแรกต้องดูความจำเป็นในแต่ละเหล่าก่อน แล้วดูว่าจะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์ ถ้าบอกต้องลดคน ลดแล้วจะเอาอะไรมาทดแทน เราคิดเสมอว่าเรื่องนำเครื่องไม้เครื่องมือมาแทนคน ก็ต้องคิดว่าเมื่อมีเครื่องไม้เครื่องมือมาแล้วจะมีคนใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดหรือไม่ เมื่อมีเทคโนโลยีทันสมัยก็ต้องมีคนใช้ให้ได้อย่างดีด้วย เรื่องการฝึกฝนคนให้เข้ากับเทคโนโลยีก็จำเป็นมาก การจะข้ามผ่านหรือ shift จากภาพกองทัพแบบเดิมไปเป็นกองทัพยุคใหม่จึงต้องพิจารณาให้ดีก่อน ต้องวางแผนให้สอดคล้อง
เราจะสร้างคนใหม่อย่างไร แล้วจะทำอย่างไรกับกำลังพลในยุคเก่าที่ยังอยู่กับเรา ในครั้งก่อนเรารับสมัครกำลังพลเข้ามาในยามศึกสงคราม คนรุ่นเก่ายังคงอยู่ เราต้องพัฒนาเขาให้เข้ากับโลกยุคใหม่ให้ได้ กองทัพเรืออยากได้บุคลากรที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถทำงานด้านการทหารได้ดี เราพยายามชักชวนเขาเข้ามาช่วยกันพัฒนากองทัพให้ก้าวไปให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก การรบก็เปลี่ยนเช่นกัน ยุคนี้กับยุคเก่ามันต่างกันมาก กำลังคนกับเครื่องมือที่ต้องเตรียมไว้ใช้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
กองทัพเรือมีแผนยุทธศาสตร์ด้านเสริมสร้างกำลังรบมานานแล้ว มีแผนพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับเครื่องมือที่เรามีใช้ในกองทัพ ปัจจุบันเรามี เมื่อมี UAV เราก็ต้องเตรียมคนให้เหมาะกับเครื่องมือใหม่ ต้องมีทักษะพิเศษและต้องพัฒนากำลังพลเราต้องคิดเรื่องคนใช้งาน คนซ่อมบำรุงดูแล ต้องคิดทั้งระบบแล้วโดยมีแผนรองรับระยะยาว สมมุติเราต้องการ UAV อีก 1 ฝูง เราต้องเตรียมคนใช้งาน 50 คน ต้องมีแผนให้ดี เพราะกว่าจะเต็ม 50 คนได้ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี เราไม่ได้ทำงานแบบคิดปีต่อปี
เราทำให้เหมาะสมกับโครงสร้างกำลังรบที่จำเป็น ทั้งตัวกำลังรบจริง หน่วยงานสนับสนุน แต่ต้องไม่ลืมเรื่องอายุการทำงานของคนด้วย กำลังพลเข้ามาตอนอายุ 20 ปี กว่าจะเกษียณราชการคืออายุ 60 ปี เขาอยู่ในกองทัพ เขาต้องเติบโตในสายงาน เราให้ความสำคัญกับอนาคตของกำลังพล ต้องพัฒนาเขา และต้องพิจารณาเรื่องความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น เราป้องกันการสูญเสียเป็นอันดับแรก และเราต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้มากขึ้น เราเน้นเรื่องทำอย่างไรเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กำลังพลในแต่ละช่วงชีวิตการทำงาน เราพยายามปรับโครงสร้างหลักสูตรให้รองรับสภาวการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงโดยเร็ว พยายามพัฒนากำลังพลให้ดีที่สุดจนกระทั่งเขาออกจากกองทัพไป
-ในแง่หลักสูตรของกองทัพเรือ เช่น หลักสูตรนักเรียนนายเรือ จำเป็นต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้นหรือไม่ หรือมีแผนอะไรเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาตลอดเวลา : เราพัฒนาแต่ละหลักสูตร แต่ละระดับตลอดเวลา วางวงรอบการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้รับมา เน้นการปูพื้นฐานว่าเพื่อให้ได้คนที่เราต้องการ และปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างมาก จึงส่งคนออกไปเรียนรู้ในประเทศต้นตำรับ
ดังนั้น หากเรามีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีต่อกัน เราก็ส่งคนของเราไปศึกษาได้สะดวกขึ้น เช่น เราส่งกำลังพลไปศึกษาสาขาที่เราสนใจ เช่น AI (ปัญญาประดิษฐ์) IT (เทคโนโลยีสารสนเทศ) และไปศึกษาระบบอาวุธสมัยใหม่ ซึ่งเราหาเรียนได้ยากในประเทศของเรา เราต้องไปนำความรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมาพัฒนากองทัพและบ้านเมืองของเรา ขณะเดียวกันก็พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีเรารู้จักกันมากขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เราแลกเปลี่ยนหลักสูตรระหว่างกัน เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านส่งคนของเขามาศึกษากับเรา และส่งคนของเราไปเรียนกับเขา สร้างความรู้จักคุ้นเคยกันตั้งแต่เป็นนายทหารเด็ก ๆ เพื่อสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในอนาคต
-ทราบว่ากองทัพเรือมีนวัตกรรมอยู่มาก แต่บางทีสังคมภายนอกไม่ทราบ หากคนภายนอกรับทราบ เขาจะภูมิใจกับทหารของเรา กองทัพเรือมีการสร้างยุทโธปกรณ์ทดแทนการนำเข้าอะไรบ้าง : กองทัพเรือมีนวัตกรรมหลายอย่าง สามารถผลิตเองได้โดยไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศ เช่น เรือ ต. (เรือตรวจการณ์) ที่เราต่อเรือเองในประเทศมาหลายปีแล้ว ขอเรียนว่าอุตสาหกรรมทางทหารจะเกิดขึ้นและเติบโตได้ดีต้องมาจากการร่วมมือกับทุกฝ่าย ต้องมีภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีรองรับ
เช่น โดรนของกองทัพเรือ เราต่อยอดมาเรื่อยๆ จากลำเล็กๆ แล้วพัฒนาให้ดีขึ้นลำใหญ่ขึ้น จนสามารถนำไปใช้กับปฏิบัติการทางทะเลได้ นวัตกรรมพวกนี้ต้องอาศัยการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) จึงจำเป็นต้องมีองค์กรต่างๆ ช่วยสนับสนุน จากคำถามที่ว่าภาคอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือบ้างหรือไม่ เข้ามาช่วยคิดวิจัยต่อยอดหรือไม่ เรื่องนี้เราพยายามหาทางเชื่อมโยงกัน
โดยประสบการณ์ที่ผมไปเรียนจากประเทศเยอรมนีจึงเห็นว่าการเรียนและฝึกงานเป็นเรื่องสำคัญ ในเยอรมนีมีบริษัทรองรับการฝึกงานของนักเรียน ช่วยให้เกิดการต่อยอดของการศึกษาจากห้องเรียน ภาคการศึกษากับภาคการผลิตจริงในเยอรมนีช่วยกันคิดช่วยกันทำ เรื่องนี้ช่วยพัฒนาประเทศได้มาก ภาคการศึกษาส่งคนไปฝึกงานในหน่วยการผลิต จึงก่อตัวเป็นวงจร (loop) แล้วช่วยพัฒนาทั้งภาคการศึกษาและการผลิตจริง
ผมอยากเห็นเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านของเรา อย่างไรก็ตามแนวคิดของกองทัพคือสร้างบุคลากรขึ้นมาเพื่อทำงานให้กองทัพ ไม่ได้สร้างเพื่อให้ออกไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม แต่กองทัพก็ต้องการแรงสนับสนุนจากภาคการศึกษาและภาคเอกชนเราเชื่อว่าทุกภาคส่วนอยากจะเห็นกองทัพมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง เราจึงต้องมาหารือและประสานงานกันมาช่วยสร้างคน สร้างนวัตกรรม แล้วผลิตยุทโธปกรณ์ที่กองทัพจำเป็นต้องมี
-เมื่อพูดถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมถึงกองทัพมักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาการทุจริต ในส่วนของกองทัพเรือจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการป้องกันปัญหานี้ : เราจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามกฎระเบียบข้อบังคับที่ราชการกำหนดตามระเบียบข้อบังคับเคร่งครัด การประมูลจะมีผู้ชนะเพียงรายเดียว แต่มีผู้แข่งหลายราย ดังนั้น เมื่อประมูลจบก็อาจเกิดเสียงครหาตามมา คนที่พลาดงานก็อาจโจมตีคนที่ได้งาน เช่น โจมตีเรื่องจ่ายใต้โต๊ะ ซิกแซกหมกเม็ด แต่ทั้งหมดอยู่ที่คนทำโครงการทำงานตรงไปตรงมาหรือไม่ ตอบคำถามที่เขาร้องเรียนได้หรือไม่ ทุกอย่างมีหลักฐานชัดเจน มีแนวปฏิบัติ ใครผิดต้องรับสภาพไป ใครทำตรงไปตรงมาก็ไม่มีปัญหาอย่าอยากได้ในสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์โปร่งใส อย่าทำผิด อย่าทุจริตทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา
-ต้องการฝากอะไรถึงคนไทยที่กำลังเฝ้ามองอนาคตกองทัพเรือ : ขอให้ช่วยกันดูแลเรื่องความมั่นคงของชาติผมเข้าใจว่ามันเป็นมิติที่ประชาชนอาจเข้าถึงยาก เพราะมันอาจไกลตัว ทุกวันนี้สิ่งที่ประชาชนคิดมากๆ คือเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ ส่วนเรื่องความมั่นคงของชาติจะถูกคิดถึงในลำดับท้ายๆ ก็เป็นเรื่องที่กองทัพเรือกับประชาชนต้องหันหน้ามาคุยกันมากๆ และต้องคุยกันทุกภาคส่วน แน่นอนว่าเรื่องปากท้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ให้ได้ก่อน
ส่วนความมั่นคงจะถูกพูดถึงท้ายๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีใครศึกษาในภาพลึก ทั้งๆ ที่ความมั่นคงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องปากท้อง ผมขอใช้คำพูดว่าสิ่งที่คนทั่วไปกำลังเผชิญหน้าคือ เขาไม่ได้บอกว่าประเทศนั้นจะมารุกล้ำน่านน้ำของเรา หรือมาทำอะไรกับเรา สิ่งที่เขาเผชิญหน้าคือพรุ่งนี้เขาจะกินอะไร พรุ่งนี้เขาจะเดินทางไปทำงานได้หรือไม่ หากเขาป่วย เขาจะไปหาหมอที่ไหน ส่วนเรื่องความมั่นคง เป็นภาพที่อยู่นอก Focus (เป้าหมายความสนใจ) มันอาจทำให้กองทัพเรือทำงานลำบากบ้างก็ตาม แต่เราเข้าใจประชาชนดี
“และอยากบอกประชาชนว่า ถ้าหากประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่าการที่มีปลาให้พวกเราได้รับประทานทุกวันก็เพราะว่ามีคนดูแลอยู่ มีคนดูพื้นที่ท้องทะเลไทยไม่ให้มีใครมาแย่งจับปลาในท้องทะเลของเรา อะไรแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และเมื่อประชาชนเข้าใจแล้วประชาชนจะสนับสนุนกองทัพเรือ” พล.ร.อ.จิรพลกล่าวในตอนท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี