"โต๊ะพาแลง" ไหลเรือไฟนครพนมปีนี้ไม่ธรรมดา ส.อุตสาหกรรมสืบสานงานศิลปะ สร้างเรือไฟโบราณจากกาบกล้วย ฉลุลวดลายจากกลุ่มช่างสิบหมู่
งานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟจังหวัดนครพนม เป็นประเพณีความเชื่อของชาวลุ่มน้ำโขง จากเดิมทำด้วยท่อนกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุที่หายได้ง่ายในพื้นที่ ขึ้นโครงสร้างเป็นรูปต่างๆ ตามต้องการ เมื่อจุดตะเกียงหรือขี้ไต้ให้เกิดแสงสว่าง เปลวไฟจะลุกเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้น ซึ่งเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธองค์ได้ประทับไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในแคว้นทักษิณาบท ประเทศอินเดีย โดยเชื่อว่าครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมในวังบาดาล ขณะจะเสด็จกลับพญานาคได้ทูลขอให้ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที พระองค์จึงได้ประทับให้ตามความประสงค์ของพญานาคราช ซึ่งรอยพระบาทที่ทรงประทับไว้นี้เป็นที่เคารพของเทวดา มนุษย์ผู้ซึ่งต้องการบุญกุศล ตลอดจนถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ด้วยเหตุนี้ประเพณีการไหลเรือไฟของคนลุ่มน้ำโขง จึงได้ถือยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท รวมถึงการสำนึกถึงพระคุณของแม่คงคา นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงกับการขอฝน หรือการเอาไฟเผาความทุกข์ และถวายเป็นพุทธบูชาพระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกอีกด้วย
ต่อมาได้พัฒนาจากเรือไฟขนาดความยาวไม่ถึง 10 เมตร สูงสุดไม่เกิน 5 เมตร มาเป็นเรือไฟประยุกต์ลำใหญ่ ขนาดความยาวเกือบ 100 เมตร สูงถึง 30 เมตร เป็นประเพณีที่ชาวนครพนม ภาคภูมิใจ เพราะบรรพบุรุษ ได้ยึดถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่โบราณจนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก สำหรับปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-18 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 11 รวม 11 วัน 11 คืน ณ ศาลากลางจังหวัดนครพนม และริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม
ซึ่งการไหลเรือไฟหรือลอยเรือไฟยักษ์ จำนวน 12 ลำจะมีขึ้นอย่างอลังการในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา คืนเดือนเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระจันทร์จะโผล่ขึ้นจากยอดภูเขาฝั่งประเทศลาว สาดแสงกระทบลำโขงเป็นเงาสวยงาม โดยเรือไฟจะเริ่มปล่อยอวดสายตาชาวโลก ในเวลา 19.00 น.เป็นต้นไป
นอกจากนี้สิ่งที่อยู่คู่กับคืนวันไหลเรือไฟ คือ งานพาข้าวแลง หรือพาแลง ภาษาภาคกลางเรียกว่าอาหารมื้อเย็น โดยจัดไว้ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวนั่งชมเรือไฟ พร้อมลิ้มชิมรสอาหารพื้นถิ่น รวม 8 อย่าง โดยในแต่ละปีมี 3 องค์กรเอกชน ได้แก่ หอการค้าจังหวัดฯ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพจัดงานพาแลง ปีนี้เป็นคิวของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม เป็นผู้จัดและเปิดจำหน่ายบัตร ในราคา 4,000,5,000 และ 7,000 บาท สามารถติดต่อขอจองโต๊ะได้ที่คุณอ้อ 063-042-3229 คุณภัสรานันท์ 085-742-6444 คุณอลิสา 092-279-4438 คุณโบว์ลิ่ง 098-560-7548
สำหรับปีนี้ นายวรพนธ์ บุตรธิเดช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรือไฟโบราณ ที่ชาวลุ่มน้ำโขงแต่ละคุ้มจะนัดรวมตัวกันที่วัด ร่วมใจสามัคคีสร้างเรือไฟจากหยวกกล้วย ไม้ไผ่ และตะเกียง ก่อนจะตัดเส้นผม เล็บมือ รวมถึงเครื่องเซ่นไหว้ใส่ลงในเรือ เพื่อนำไปลอยในแม่น้ำโขง เป็นความเชื่อในการสะเดาะเคราะห์ และรับความโชคดีเข้าสู่ครอบครัว
โดยประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ติดต่อช่างแทงหยวกระดับฝีมือ มาสลักหยวกกล้วยตานีเป็นลวดลายฉลุตามจินตนาการ ซึ่งเป็นงานฝีมือช่างที่อยู่ใน กลุ่มช่างสิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน ที่สืบทอดมานานกว่าร้อยปี ซึ่งส่วนใหญ่ชาวอีสานจะเรียกงานศิลปะชนิดนี้ว่าฉลุกาบกล้วย ทั้งนี้ซึ่งแต่ละขั้นตอนฉลุนั้น มีคุณค่าสูงด้านศิลปะ จิตใจ ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ถือเป็นภูมิปัญญาที่นับวันจะเลือนหายไป ทางสภาอุตสาหกรรม จ.นครพนม จึงต้องการอนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่ ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
จากคำบอกเล่าของนายธนบดี ขวัญเมือง หรือโอเล่ย์ อายุ 53 ปี ออแกไนซ์ผู้ช่ำชองด้านหัตถกรรมงานฝีมือ และเป็นคนนครพนมโดยกำเนิด ได้เล่าว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2498 ครั้งคุณยายยังสาวเล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรภาคอีสานเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2498 นั้น โดยประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม สร้างความปลื้มปิติแก่ชาวจังหวัดนครพนมเป็นล้นพ้น จึงพร้อมใจกันสร้างเรือไฟจากหยวกกล้วย ฉลุลวดลายอย่างสวยงาม พระองค์และสมเด็จพระราชินีฯ ทรงทอดพระเนตรอยู่หน้าจวนฯ ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร พร้อมชื่นชมในความสวยงาม ซึ่งถือว่าเป็นครั้งล่าสุดในการใช้งานฝีมือฉลุกาบกล้วย เพราะหลังจากนั้นมาก็ไม่พบเห็นงานชั้นสูงเช่นนี้ที่ไหนในพื้นที่ จ.นครพนม
โต๊ะพาแลงปีนี้จึงไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะได้ฉลุกาบกล้วยเป็นเรือไฟโบราณ โดยจัดพิธีแห่ตามแบบฉบับดั้งเดิม เริ่มจากหน้าศาล 100 ปี ติดกับ สภ.เมืองนครพนม ถนนสุนทรวิจิตร มายังหน้าเวทีโต๊ะพาแลง โดยบนโต๊ะอาหารจะมีเรือไฟกาบกล้วยขนาดจิ๋ววางไว้ เพื่อให้ผู้ที่ซื้อบัตรได้ตัดเล็บ ตัดผมใส่ลงไป เพื่อนำไปวางในเรือไฟลอยเคราะห์ลอยโศก ส่วนประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ซื้อบัตรโต๊ะพาแลง ที่เดินผ่านไปมาในงานไหลเรือไฟ ก็สามารถตัดผมตัดเล็บใส่กระทงสะเดาะเคราะห์ได้เช่นกัน เพราะปีนี้ทางผู้จัดไม่มีสิ่งกีดขวางหรือที่กั้นใดๆ ทุกคนมีสิทธิ์ร่วมพิธีบวงสรวงเรือไฟโบราณฉลุลายกาบกล้วยอย่างถ้วนหน้า - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี