“คดีฉ้อโกงผู้คนเป็นจำนวนมากไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย ย้อนไปในปี 2566 เคยมีคดี “ฟอเร็กซ์-3D” เพื่อหลอกให้ผู้คนหลายพันคนลงทุนในแพลตฟอร์มซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศปลอม (Thailand is no stranger to public fraud cases. A “Forex-3D” scheme in 2023 tricked thousands into investing in a fake foreign exchange trading platform.)”
เนื้อความตอนหนึ่งจากพาดหัวข่าว “Thai celebrities among 18 arrested for pyramid scheme” โดยสำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศส และได้รับการแชร์ต่อจากสื่อต่างประเทศอีกหลายสำนักเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2567 ว่าด้วยคดี “ดิไอคอน (The iCon Group)” บริษัทขายตรงในประเทศไทย ที่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การสืบสวนว่าเข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่” หรือไม่? และการจับกุมผู้ต้องหา 18 คน ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งบริษัทไปจนพิธีกรและดาราดัง
ย้อนไปก่อนหน้านั้นเพียงไม่ถึง 1 เดือน สังคมไทยก็เพิ่งเจอกับข่าว “หลอกขายทองออนไลน์” เครือข่าย “แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์” ซึ่งก็อยู่ระหว่างการดำเนินคดีเช่นกัน ยังไม่ต้องย้อนไปถึงคดีฟอเร็กซ์-3D ในปี 2566 ตามที่สื่อนอกกล่าวถึง หรือจะเป็นคดี “เมจิกสกิน” เมื่อปี 2561 เหล่านี้มีจุดเริ่มเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในการสร้างความน่าเชื่อถือ” ทั้งการจ้างโฆษณา รีวิวสินค้า หรือเชิญไปร่วมงานต่างๆ แล้วเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
อย่าง 2 คดีล่าสุด “ชาวเนต”มีการ “ขุดคุ้ย” ว่ามีคนดังรายใด จากแวดวงไหนบ้างที่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว รวมไปถึง “รายการและสถานีโทรทัศน์” ที่ให้พื้นที่บรรดา “บอส” มา “โชว์รวย” อวดชีวิตหรูหราฟู่ฟ่า พร้อมเรียกหา “จริยธรรม-ความรับผิดชอบ” เพราะต้องยอมรับว่า “สื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนในสังคม” การมีดารา พิธีกร อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ ไปร่วมโปรโมทรวมถึงได้ออกโทรทัศน์ ก็เป็นปัจจัยให้ผู้คนหลงเชื่อได้
เกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง ซึ่งได้เข้าไปร่วมช่วยเหลือเหยื่อคดีดิไอคอน ให้ความเห็นว่า ลำพังหากเป็นเพียงการกระทำโดยเจ้าของกิจการอย่างเดียว ความเสียหายอาจไม่มากเป็นวงกว้างถึงขนาดนี้ ดังนั้น “ในเมื่อดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่ไปทำไม่ว่ามากหรือน้อย หรือแม้แต่ไปทำให้ฟรีๆ ก็จะต้องรับผลที่ตามมาด้วย” ซึ่งจริงๆ แม้แต่คนทั่วไปก็ต้องระมัดระวัง
เพียงแต่การเป็นบุคคลมีชื่อเสียง กรณีหากไม่เคยรับงานโฆษณาหรือรีวิวสินค้ามาก่อนอาจอ้างได้ แต่หากไม่ใช่ครั้งแรกที่รับงานประเภทนี้ก็ต้องมีสามัญสำนึกและรู้อยู่แก่ใจว่าสินค้าใดที่ควรรีวิว หรือสินค้าใดที่ต้องระวัง เพราะคำพูดของคนดังมีผลกระทบต่อสังคมมากกว่าคนทั่วไป พร้อมกับแนะนำวิธีสังเกต เช่น1.สินค้าประเภทเครื่องประดับ หากผู้ประกอบธุรกิจตั้งราคาขายไว้ถูกผิดสังเกต อย่างทองคำปกติขายบาทละ 4 หมื่นบาท แต่กลับตั้งขายเพียง 2 หมื่นบาท แบบนี้จะไม่สังเกตหรือ? ให้พิจารณาอย่างวิญญูชนก่อนว่าสินค้าประเภทนี้เป็นไปได้หรือไม่?
2.สินค้าประเภทอาหาร-เครื่องดื่ม หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ หากมีโอกาสต้องลองกินลองใช้ก่อน ไม่ใช่ผู้ประกอบการให้มาพูดอะไรก็พูดหมด และ 3.การโฆษณาประเภทการชักชวนให้ลงทุนหรือเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรม โดยหลักแล้วคนทั่วไปก็ต้องพิจารณาว่าการชักชวนคนมาลงทุนไม่ว่าอะไรก็ตามล้วนมีความเสี่ยง ดังนั้น หากดาราหรือบุคคลที่มีเชื่อเสียงไปรับงานโปรโมทในลักษณะที่บอกว่าไม่มีความเสี่ยงและได้ผลตอบแทนเกินคาดหมาย เห็นแบบนี้ก็ต้องเอะใจแล้ว
เช่น ลงทุน 1,000 บาท ได้ผลตอบแทน 1,300 บาท ในเวลาเพียงครึ่งวันหรือ 1 วัน หรือ 1 เดือน เท่ากับผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 30 ก็น่าคิดว่าหากผลตอบแทนสูงขนาดนี้จริงเหตุใดกิจการจึงไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เหตุใดจึงยังทำเหมือนขายปลีกอยู่ก็ต้องพิจารณาแล้วว่าได้ผลกำไรมาจากไหนมาแจกจ่าย หรือบางครั้งก็ไม่บอกด้วยว่าลงทุนทำอะไร อย่างล่าสุดที่อ้างอบรมออนไลน์ คิดค่าอบรม 3 วันเพียง 98 บาท จาก 4-6 พันบาท แบบนี้เป็นไปได้หรือ?
“เราเป็นดาราเป็นอะไรต้องเคยผ่านเรื่องนี้ ก็ควรจะพิจารณาว่าเขาต้องทำเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่งแน่นอน มันไม่ใช่ ถ้า 98 บาทฟรีไปเลยดีกว่าไหม? มันก็ไม่ได้อะไรอยู่แล้วจริงไหม?ถ้าเขาไม่หวังอะไรสักอย่าง ยิ่งถ้าคุณอยู่ในแวดวงตรงนั้นคุณต้องพิจารณาดีๆ มันไม่ใช่ว่าเขาจ่ายเงินคุณแล้วคุณอยากจะพูดอะไรก็พูดออกไป คุณต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่คุณพูดด้วย”ทนายเกิดผล กล่าว
สอดคล้องกับ โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ที่กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บรรดาคนดังก็คงจะต้องรัดกุมเรื่องสัญญาจ้างมากขึ้น ต้องชัดเจนว่าจ้างทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ ไม่ผิดที่บรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียงจะไปรับงานโฆษณา รีวิวสินค้า ไปร่วมงานตามคำเชิญ หรือให้บุคคลต่างๆ มาขอถ่ายรูป แต่เมื่อทราบว่าถูกนำภาพไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า อ้างว่าเป็นผู้บริหาร หรืออ้างว่ารู้จักกัน หากเป็นการใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว ก็ต้องรีบออกมาเตือนให้ยุติการกระทำนั้นโดยเร็วไม่ใช่ปล่อยไว้เนิ่นนาน
เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการสื่อ โดยเฉพาะช่องโทรทัศน์ต่างๆ ต้องเข้มงวดในการคัดกรองด้วย จะให้นำสินค้ามาวางบนโต๊ะ ให้ดารามารีวิว ต้องตรวจสอบว่าธุรกิจนั้นจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ หรือการให้คนมาอวดความร่ำรวยแต่ไม่ได้บอกรายละเอียดชัดเจนว่าความร่ำรวยนั้นมีที่มาอย่างไร เจ้าของสถานีหรือเจ้าของรายการต้องตระหนักด้วย ไม่ใช่เห็นแก่รายได้จากการโฆษณา แม้กระทั่งแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ก็จะต้องพัฒนาระบบคัดกรองการโฆษณาที่มีปัญหา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มก็มีรายได้จากภาคธุรกิจจ่ายเงินจ้างโฆษณา
หรือบางอาชีพ เช่น บุคลากรทางแพทย์ ก็มีคำถามว่าควรจะมาเป็นผู้โฆษณาสินค้าประเภทอาหารเสริมและเครื่องสำอางหรือไม่
เพราะมีผลอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของผู้บริโภค แต่อีกด้านหนึ่ง “รัฐเองก็มีส่วนต้องปรับปรุง” เช่น กิจการขายตรงและการตลาดแบบตรง ซึ่งต้องขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อได้รับใบอนุญาตไปแล้วก็ต้องคอยติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องว่าได้ทำธุรกิจตามที่ขออนุญาตไว้หรือไม่
หรือระบบการขออนุญาตทางออนไลน์ที่ปัจจุบันขอเครื่องหมายรับรองได้ง่าย ซึ่งไม่ทราบว่าได้ติดตามตรวจสอบหรือไม่เรื่องนี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจรับงานโฆษณา เพราะเมื่อคนดังเห็นว่ามีเครื่องหมายที่รัฐรับรองก็คิดว่าสินค้านั้นไม่มีปัญหา การจัดตั้งบริษัทต้องวางเงินประกันที่มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยต้องหลักล้านบาทขึ้นไป เพื่อเยียวยาผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดปัญหาขึ้น สุดท้ายคือ “วิจารณญาณของผู้บริโภค”ก็ต้องระมัดระวัง
“ไม่ผิดนะที่คนเราอยากได้ของถูกหรือราคาเป็นธรรม เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้มีคนที่อาศัยการชักชวนซื้อของราคาถูก บริการราคาถูก เพื่อหวังผลตอบแทนราคาสูง เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันเป็นแบบนี้อยู่ตอนนี้ เราก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสพสื่อ ในการบริโภค” โสภณ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี