“13,444,127” เป็นตัวเลข “จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย (ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567)” หรือคิดเป็น “ร้อยละ 20.69” ของประชากรทั้งประเทศ เท่ากับว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society)” ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) หมายถึง มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ต่อประชากรทั้งประเทศ มากกว่าร้อยละ 20 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไทยยังไม่ใช่ชาติร่ำรวยหรือประเทศพัฒนาแล้ว
“ถ้าเรามองสังคมสูงวัยแบบแคบ เราจะมองที่ผู้สูงอายุ ผมขอย้ำว่าไม่ผิด แต่เราจะพลาดเป้าใหญ่ที่เราจะต้องยุ่งกับคนทุกช่วงวัย และทุกระบบเกี่ยวหมดเลยที่เผชิญปัญหาสัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนไป มันเหมือนสมัยหนึ่งที่เรามีลูกมากจะยากจนไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องคนมีลูกมาก แต่ทั้งสังคมมันป้อแป้ไปหมด แต่วันนี้คนมันน้อย คนใหม่ๆ มาน้อย สังคมจะไปอย่างไร? ถ้าเรายังอยู่บนความรู้เดิม ทักษะเดิม การทำงานแบบเดิม”
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวในเวที “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (ครั้งที่ 1 มิติเศรษฐกิจ)” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ถึง “กับดัก” ว่าด้วย “มุมมองต่อสังคมสูงวัย” หลายคนมักจะไปคิดแต่การจัดทำนโยบายที่มุ่งเป้าไปยังผู้สูงอายุโดยตรงเพียงด้านเดียว แต่หากละเลยมิติอื่นๆก็จะมีลักษณะเหมือนบ้านหรือรถยนต์ที่มีสภาพเก่า ไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ จึงต้องปรับปรุงให้บ้านหรือรถยนต์ทันสมัย ควบคู่กับการดูแลผู้สูงอายุไปด้วย
สอดคล้องกับ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ฉายภาพ “ศักยภาพในการแข่งขันที่น้อยลงของประเทศไทย” โดยผลการศึกษาพบว่า “ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต หลังวิกฤตผ่านพ้นไปศักยภาพของไทยดูลดลงเสมอ” โดยอิงจาก 3 วิกฤตใหญ่ คือ 1.วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 2.วิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์-แฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 และ 3.วิกฤตเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปี 2563 ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแต่จะชะลอตัวลง “ไม่เหลือความเป็นเสือตัวที่ 5” ที่เคยฝันอยากเป็นอีกต่อไป
ในขณะที่ด้านแรงงาน แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการว่างงานต่ำมากติดอันดับโลก สะท้อนการดึงกำลังแรงงานในเชิงปริมาณได้ดี แต่เมื่อดูเป็นรายภาค พบว่า ในภาคเกษตรที่มีคนอยู่ถึงร้อยละ 30 รายได้ต่อหัวกลับต่ำมาก คืออยู่ที่ 52,819 บาทต่อปี น้อยกว่าภาคบริการที่มีคนอยู่ร้อยละ 54 รายได้ต่อหัว363,341 บาทต่อปี และภาคอุตสาหกรรมมีคนอยู่ร้อยละ 16 รายได้ต่อหัว 561, 636 บาทต่อปี
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเกณฑ์ของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วประชากรต้องมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 360,000 บาทต่อปีขึ้นไป ดังนั้น รายได้ที่ต่ำของคนในภาคเกษตรซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของแรงงานไทยทั้งหมด ทำให้ค่าเฉลี่ยในภาพรวมไม่ขึ้นไป นอกจากนั้นคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานอกระบบที่รายได้ไม่แน่นอนและไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง หรือแม้แต่แรงงานในระบบที่เมื่ออายุเข้าเลข 5 ก็ทยอยลาออกกันแล้ว อย่างประกันสังคมที่ให้ผู้ประกันตนเริ่มเบิกเงินได้เมื่ออายุครบ 55 ปี
ซึ่งจากที่เคยสอบถามว่าเหตุใดอยากลาออกและเบิกเงิน ก็ได้คำตอบว่าต้องการนำเงินไปโปะหนี้เก่าที่มีอยู่แล้วหลังจากนั้นค่อยไปตายเอาดาบหน้า อีกทั้งเมื่อดูวิธีคิดของแรงงานในประเทศไทย ยังมองว่าชีวิตในอดีต ปัจจุบันและอนาคต วนเวียนไป-มาไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น พอมีปัญหาก็แก้กันทีหนึ่ง แต่โลกอนาคตนั้นน่ากลัวมาก ไล่ตั้งแต่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ผ่านพ้นยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ไปแล้ว และเข้าสู่ยุคที่การต่อสู้แข่งขันเข้มข้นขึ้น เช่น สินค้าจีนเมื่อเข้าตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่ได้ ก็มาเทลงที่ตลาดไทย ผู้ประกอบการไทยก็เดือดร้อนกันหมด
เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า โลกยุคใหม่ไม่ต้องการคนมาก เทคโนโลยีบวกกับการกีดกันทางการค้าทำให้คนต้องเก่งขึ้น ต้องปรับปรุงทักษะใหม่ๆ เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้ชีวิตแบบเดิมไม่สามารถคิดได้ว่าพรุ่งนี้จะคล้ายกับเมื่อวานแบบเดิมได้ เพราะทุกวันคือการเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่ได้คิดว่าแล้วตัวเราจะต้องเปลี่ยนอย่างไร
“อีกส่วนที่ต้องพูดคือเรื่องของการเตรียมความพร้อมกับการเกษียณอายุ เป็นเรื่องอันตรายพอกัน ในขณะที่เราเห็นแรงงานมีอายุขัยเฉลี่ยที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น แต่พฤติกรรมกลับก่อหนี้ตั้งแต่อายุน้อย กลายเป็นไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม ผลการสำรวจพบว่า 60-80% ของแรงงานไม่ได้มีการวางแผนเกษียณ หรือมีการวางแผนแต่ทำไมได้ตามเป้า นั่นก็แปลว่าการเงินจะมีปัญหาอย่างมาก” นายนณริฏ ระบุ
ขณะที่ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เสนอแนะแนวทาง ไล่ตั้งแต่ 1.ขยายอายุเกษียณ ซึ่งอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องทำ แม้ที่ผ่านมาจะเห็นประเทศในทวีปยุโรปที่ประชาชนออกมาประท้วงเพราะรัฐบาลมีนโยบายขยายอายุเกษียณ แต่นั่นเป็นเพราะยุโรปเป็นสังคมแบบรัฐสวัสดิการ ในขณะที่ประเทศไทยไมได้มีสวัสดิการแบบนั้น แต่คนไทยอยากทำงาน ในแง่นี้การขายอายุเกษียณในไทยอาจทำได้ง่ายกว่า ใครที่มีความพร้อมก็สมควรให้เขาได้ทำงาน อีกทั้งต้องมีนโยบายจูงใจภาคเอกชนในการจ้างผู้สูงอายุด้วย
2.ฝึกอบรมทักษะใหม่ให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล (Digital) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูล (Data) เป็นทักษะแห่งโลกอนาคตและสามารถทำงานอยู่กับบ้านได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเล่นสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) แต่เป็นการใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับบริการทางออนไลน์ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุด้วย 3.ดึงชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) ดังตัวอย่างที่เห็นในประเทศสิงคโปร์ ที่ใช้นโยบายนี้บรรเทาผลกระทบจากภาวะสังคมสูงวัย
“เรื่องลงทุนก็สำคัญมาก โครงสร้างพื้นฐานถนนเราดีมาก แต่เรื่องอย่างอื่นไม่ลงทุนมานาน ผมว่าเราต้องลงทุนสำหรับรองรับสังคมผู้สูงอายุ อยู่สรรพสามิตผมทำเรื่องรถยนต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่จะมาติดสไลด์ให้คนยกขึ้น-ลง เราลดภาษีให้ เตรียมเสนอเป็น 0% เลย เพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นรอบรับสังคมผู้สูงอายุ แล้วลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นมาก ที่สำคัญไม่ใช่แค่ถนนหนทางหรือรถยนต์อย่างเดียว แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ด้านข้อมูล ซึ่งจะสำคัญกับการทำเรื่องดูแลสุขภาพทางไกล” เอกนิติ กล่าว
อีกด้านหนึ่ง ภาครัฐก็มีความพยายาม “เพิ่มอัตราการเกิด” ดังแนวคิดของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เสนอให้เพิ่มเงินค่าสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33ที่เป็นชาวไทย เป็น 3,000 บาทต่อเดือน ต่อลูก 1 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเด็กมีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักวิชาการ รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตราสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า นโยบายนี้มีประโยชน์เรื่องลดค่าใช้จ่าย แต่จะไม่จูงใจให้คนอยากมีลูก
กล่าวคือ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน จะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อเดือน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งรัฐสนับสนุนแล้ว ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองควักกระเป๋าจ่ายเองประมาณ 3,500 บาท ดังนั้นเงินอีก 3,000 บาทต่อเดือนก็จะช่วยได้เกือบทั้งหมดในการเลี้ยงดูลูกที่เป็นเด็กเล็ก ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้มาก ถึงกระนั้น ชีวิตเด็กคนหนึ่งไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากอายุ 7 ปีเป็นต้นไป ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา นี่จึงเป็นเหตุผลว่านโยบายดังกล่าวไม่น่าจะเพิ่มอัตราการเกิดได้
เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศ รศ.ดร.มนสิการ ระบุว่า นโยบายที่สนับสนุนให้ผู้หญิงลาคลอดได้นานขึ้น และอนุญาตให้สามีลางานไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้ ทำให้สังคมเห็นว่าชายและหญิงมีบทบาทเท่าเทียมกันในการเลี้ยงลูก พบว่า มีผลให้ผู้หญิงตัดสินใจมีลูกคนที่ 2 มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า “ยุคนี้เน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ” แต่ละครอบครัวไม่นิยมมีลูกมาก เพราะมีแล้วก็อยากมั่นใจว่าลูกสามารถแข่งขันได้ ให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ได้โดยที่ไม่ต้องร่ำรวยเป็นเศรษฐีเพื่อส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติมีค่าใช้จ่ายปีละเป็นล้านบาท นี่คือโจทย์ที่ท้าทายของภาครัฐ
ยังมีเรื่องของ “ค่านิยมที่เปลี่ยนไป..คนรุ่นใหม่มองว่าไม่มีลูกก็ไม่เห็นเป็นไร” แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยมีคำถามว่าจริงๆ แล้วตนเองอยากมีลูกหรือไม่ ซึ่ง รศ.ดร.มนสิการ เปิดประเด็นชวนคิด “เราควรกระตุ้นอัตราการเกิดจริงๆ หรือ?” เพราะสังคมสูงวัยคือปัญหาปัจจุบัน และถึงจะกระตุ้นการเกิดได้จริง กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ใช้เวลาถึง 30 ปี สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเทียบกับการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ ณ วันนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะดีกว่าหรือเปล่า?
“ขยายอายุเกษียณ แค่คุณขยายจาก 60 เป็น 65 ปีได้ แค่นั้นก็ช่วยได้เยอะแล้ว ไปเน้นเรื่องเราจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุยังสามารถ Active (กระฉับกระเฉง) ให้ได้นานที่สุด ไม่ได้โดนบังคับออกโดยระบบ” รศ.ดร.มนสิการ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี