นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นหนึ่งนโยบายสำคัญ เป็นจุดขายหลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การบริหารของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศเดินหน้าโดยจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกันยายน 2568
แม้รัฐบาลจะหนักแน่นในการผลักดันนโยบายให้มีผลบังคับใช้ตามที่ประกาศไว้ แต่การดำเนินการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย จะสามารถทำได้อย่างไรและทำได้มากน้อยแค่ไหนยังเป็นคำถาม
นายอดิศักดิ์ สายประเสริฐ นักวิชาการอิสระด้านการขนส่งสาธารณะ เห็นว่า การที่รัฐบาลประกาศจะทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ไม่ต่างจากการโยนหินถามทางเพราะทุกแนวทางที่เสนอต่อสาธารณะยังมีคงมีคำถามจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามหากจะเดินหน้าผลักดันรัฐสามารถดำเนินการตามแนวทางอะไรได้บ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าแนวทางเรื่องการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเอกชนนั้นคงเป็นเรื่องระยะยาวที่จะต้องศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียดรอบคอบว่าสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง
ข้อเสนอแนะต่อการผลักดันให้นโยบาย 20 บาททำได้จริง ภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน คือ จัดให้มีการเจรจาแบ่งสัดส่วนค่าแรกเข้าสถานี ซึ่งพิจารณาจากโครงสร้างการกำหนดราคาค่าโดยสารพบว่า รถไฟฟ้าแต่ละสายมีโครงสร้างราคาประกอบด้วย ค่าแรกเข้า x จำนวนสถานี+อัตราเงินเฟ้อ และมีการกำหนดอัตราสูงสุดของแต่ละสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้รถไฟฟ้าแต่ละสายกำหนดอัตราค่าแรกเข้าแตกต่างกัน ส่งผลให้ผู้เดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากกว่าหนึ่งสายแบกภาระค่าโดยสารราคาแพง จึงจำเป็นที่รัฐต้องเจรจาแบ่งสัดส่วนค่าแรกเข้าของแต่ละสถานี เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายได้ จะช่วยให้ลดราคาค่าโดยสารลงได้
อดิศักดิ์ สายประเสริฐ
แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมยังไม่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงาน จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องนี้เช่นกัน
นายอดิศักดิ์ เห็นว่า แนวทางที่พอจะทำได้ในการกำหนดราคารถไฟฟ้า 20 บาท คือการที่รัฐต้องใช้เงินอุดหนุนค่าโดยสาร ซึ่งมีมูลค่ามากถึงหมื่นล้านบาทแต่งบประมาณหมื่นล้านบาทจะมาจากที่ไหนบ้าง จะใช้เงินภาษีของคนทั้งประเทศเพื่อมาสนับสนุนค่าโดยสาร 20 บาทอาจจะมีคำถามจากคนต่างจังหวัดว่านำเงินภาษีของเขาไปใช้เฉพาะคนกรุงเทพฯได้อย่างไร แต่หากพิจารณาเฉพาะภาษีในกรุงเทพฯ พบว่ามีประมาณการภาษีล้อเลื่อน ที่ในกรุงเทพฯ สามารถเก็บได้ในปี 2567 อยู่ที่14,500 ล้านบาท ก็น่าจะนำภาษีดังกล่าวมาใช้สนับสนุนค่าโดยสารถไฟฟ้าได้หรือไม่ อาจต้องหารือกับกรุงเทพมหานคร
“ที่ผ่านมา ผมไม่แน่ใจว่ากรุงเทพมหานคร เคยนำภาษีล้อเลื่อนมาใช้สนับสนุนในเรื่องรถสาธารณะหรือนำมาอุดหนุนค่าโดยสารเพื่อลดภาระการเดินทางของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด อาจนำมาใช้บ้างในเรื่องของ “สร้าง ซ่อม และขยาย” ถนนกับสะพานมากกว่าจะนำไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น”
ส่วนในเรื่องของการกำหนดค่าธรรมเนียมรถติดที่รัฐบาลประกาศว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมในเส้นทางรัชดาภิเษก สุขุมวิท สีลม หรือ เพชรบุรี ซึ่งประเมินว่ามีรถสัญจรราว 700,000 คันต่อวันนั้น นายอดิศักดิ์กล่าวว่า การกำหนดค่าธรรมเนียมรถติดในถนนที่มีการจราจรหนาแน่นนั้นมีความเป็นไปได้ แต่จำนวนเงินที่ได้จะเพียงพอกับการสนับสนุนค่าโดยสาร 20 บาทหรือไม่ ต้องมีการประเมิน ศึกษา จำนวนรถยนต์ที่เข้าไปใช้ถนนเส้นดังกล่าว รวมไปถึงเรื่องของเจ้าภาพในการเก็บค่าธรรมเนียมใครจะเป็นเจ้าภาพเพราะถนนมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานดูแล เช่น กรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร
ดังนั้นแนวทางนี้ก็ยังเป็นคำถามที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเท่าไหร่และประมาณการรายได้จำนวนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอในการสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลอาจลองถอดบทเรียนปัญหาการเก็บค่าผ่านทางของระบบ m-flow ว่าจะนำมาออกแบบระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้อย่างไร
“ผมคิดว่าขณะนี้ทุกแนวทางรัฐบาลยังเป็นเรื่องของการโยนหินถามทางเรื่องของค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ซึ่งหลังจากนี้ระหว่างที่รัฐบาลศึกษาอยากให้รัฐบาลออกมาแถลงความคืบหน้าของนโยบายนี้ทุกสองเดือน เพื่อให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น”
สารี อ๋องสมหวัง
ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวังเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคมีหลายข้อเสนอ ซึ่งเชื่อว่านโยบายข้อเสนอด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคจำนวนหนึ่งได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรคเพื่อไทยที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น นโยบายการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ในขณะที่ผู้บริโภคหลายคนอาจกังวลว่าเป็นนโยบายที่มีความเป็นได้ยาก แต่สภาผู้บริโภคมั่นใจว่าเป็นไปได้ ด้วยเหตุผลว่าสภาผู้บริโภคได้ทําข้อเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เรื่องที่จะทําให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน ทําให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้ทุกวัน
“สภาผู้บริโภคได้ศึกษาข้อมูลมาต่อเนื่อง ทั้งข้อมูลจาก กทม. กระทรวงคมนาคม รวมถึงข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องบริการเดินรถเฉลี่ย 10.30-16.10 บาทต่อคนต่อเที่ยว เพราะฉะนั้นทําให้มั่นใจมากขึ้นว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้”
นอกจากนี้ นางสาวสารียังเห็นว่า ในเรื่องของการใช้ตั๋วร่วม เดิมที่คิดว่าจำเป็นต้องออก พ.ร.บ ตั๋วร่วม แต่ปัจจุบันพบว่ารัฐมีทางเลือกอื่น เช่น พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน 2560ที่สามารถใช้ระบบการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไป
อย่างไรก็ดี ปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนนี้สภาผู้บริโภคเตรียมจัดเวทีเสวนา โดยเชิญผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าหากรัฐบาลจะซื้อโครงสร้างคืนหรือแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อที่จะซื้อคืนมีความเป็นไปได้อย่างไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี