มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เปิดเผยผลการวิจัย “นวัตกรรมการพัฒนาและยกระดับการสื่อสารผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นริมน้ำเขตคลองสามวา สำหรับผู้ประกอบการสูงวัย” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2566
โดยเป็นงานวิจัยที่การสนับสนุนแนวคิด “ต่อยอดอดีต” นำอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชุมชนมอญวัดแป้นทอง คลองสามวา ซึ่งมีรากฐานจากประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิม มาประยุกต์ใช้ร่วมกับนวัตกรรมการสื่อสารผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคผ่านสื่อดิจิทัลพร้อมสนับสนุน “การปรับปัจจุบัน”ยกระดับความสามารถในการเล่าเรื่องของผู้ประกอบการใน “ชุมชนแป้นทองสัมพันธ์ (มอญวัดแป้นทองคลองสามวา)”ผ่านการแต่งกาย อาหาร หรือ วัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในชุมชน บอกเล่าเรื่องราวผ่านวีดีโอคลิปในสื่อสังคมออนไลน์
หนึ่งในตัวอย่างของอัตลักษณ์ชุมชนแห่งนี้คือ “สไบมอญ” ซึ่ง อำพร แก้วจรัส ชาวชุมชนแป้นทองสัมพันธ์ เล่าว่า สไบมอญมีการใช้มานานแล้ว โดยเฉพาะ
เวลาไปวัด ไปงานบุญ แต่หลังจากที่พระครูสุวรรณเขมากร อดีตเจ้าอาวาสวัดแป้นทองโสภาราม อยากให้มีสไบมอญที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จึงนำ“ดอกมะตาด” ที่เป็นอาหารของชาวมอญ ดอกกระเจี๊ยบด้วย พร้อมกับประดับลาย “หงส์น้ำเค็ม” ซึ่งมีการเล่าตามประวัติศาสตร์มาเป็นสัญลักษณ์มาประดับอยู่ในสไบ โดยพระครูสุวรรณเขมากรได้ให้ทุนแก่ชาวบ้านมาหนึ่งก้อน เพื่อนำไปผลิต จากนั้นมีคนมาซื้อสไบมอญของชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดรายได้ในท้องถิ่นจากสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของเราเอง
หรือจะเป็น “ข้าวตอกตั้ง” ขนมที่ชุมชนทำสืบต่อกันมาหลายรุ่น โดยมีที่มีจากในอดีตที่ชาวมอญมีอาชีพเกษตรกร ที่ปลูกทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า เมื่อมีข้าวเหนียวเหลือจากการเก็บเกี่ยว ก็นำมาแปรรูปด้วยการตากแดด นำมาคั่ว เป็นข้าวตอก จนกลายเป็นขนมหวานสำหรับนำไปทำบุญที่วัดในเทศกาลต่างๆ นิยมทำรับประทานในเทศกาลเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ และปีใหม่ สูตรการทำข้าวตอกจะมีหลายสูตร เพราะทำกับแทบทุกครัวเรือน มีส่วนประกอบสำคัญคือข้าวตอก มะพร้าวทึนทึก มะพร้าวแก่ น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลมะพร้าว น้ำ เกลือ
โดยจะนำส่วนผสมทั้งหมดมากวนจนเหนียว เมื่อได้ที่แล้วจึงใส่ข้าวตอกที่ผ่านการคั่วจนแตกพองลงไป คนผสมกันจนเหนียวแล้วนำไปแต่งสีและแต่งกลิ่น แล้วนำมาบรรจุลงใส่ภาชนะต่อไป โดยรสชาติของแต่ละบ้านจะแตกต่างกันที่ความหวาน ตามความชอบของแต่ละบ้าน ซึ่งข้าวตอกตั้ง ของชุมชนแป้นทองสัมพันธ์ เคยที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในโครงการ “The Lost Taste รสชาติที่หายไป” ทำให้อาหารชนิดนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการสั่งซื้อในปริมาณที่สูงกว่าเดิม ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในชุมชน
วรพิชชา จุมังมอ ประธานชุมชนแป้นทองสัมพันธ์ เล่าว่า ชุมชนมอญวัดแป้นทองคลองสามวา มีความเก่าแก่มานานกว่า 100 ปี มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมอญมาอาศัยตั้งรกรากอยู่พอสมควร มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องเครื่องแต่งกาย อาหาร ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีความสามัคคี เช่น เมื่อเกิดงานบุญทุกคนในหมู่บ้านจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวมอญ นุ่งผ้าสวยงาม ห่มสไบมอญที่มีสีสัน โดยลายดอกมะตาดที่อยู่ด้านซ้าย และ ลายหงส์ที่อยู่ด้านขวาของสไบมอญ
เป็นการสื่อให้เห็นว่า ชาวมอญในชุมชนแห่งนี้เกิดมากับต้นมะตาด และหงส์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญทั้งสองอย่างถือเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของคนในชุมชนตลอดมา เป็นการเล่าเรื่องที่มีอยู่จริงในชุมชนแป้นทองสัมพันธ์แห่งนี้ พร้อมมองว่า ในอนาคตแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตขึ้นมาบ้าง แต่หากมีความยืดหยุ่นก็สามารถนำมาปรับประยุกต์ใส่ลงในสไบมอญได้เช่นกัน โดยให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นผู้ช่วยคิดค้นลวดลายอื่นลงบนสไบมอญให้มีสีสัน สวยงาม และคงความเป็นอัตลักษณ์ของชาวมอญเอาไว้ได้
ซึ่งการที่ มรภ.พระนคร นำนักศึกษาลงพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับชาวบ้านในชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนเรียนรู้ พร้อมสนับสนุนงานด้านต่างๆ พัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนให้โดดเด่นมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนได้รับความรู้และมีความมั่นใจมากขึ้นขณะที่นักศึกษาที่มาลงพื้นก็ได้รับความรู้เรื่องประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวมอญมากขึ้น เช่น แกงมะตาด แกงฮ้องข้าวตอกตั้ง ขนมเหนียว เพื่อนำไปสื่อสารผ่านช่องทางของตนเอง
“แม้ปัจจุบันชุมชนเมืองเริ่มขยายตัวมามากขึ้น แต่การรักษาประเพณีวัฒนธรรมในชุมชนแห่งนี้กลับเข้มแข็งขึ้น เพราะคนในชุมชนเริ่มตื่นตัว ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนคืออะไร และช่วยกันต่อยอดไปยังรุ่นลูกหลานได้ เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่า หากทุกคนในชุมชนช่วยกันรักษา ต่อยอดอย่างจริงจังอัตลักษณ์ของชาวมอญจะไม่หายไปอย่างแน่นอน” ประธานชุมชนแป้นทองสัมพันธ์ กล่าว
สำหรับคณาจารย์ มรภ.พระนคร ที่ร่วมทำงานวิจัยนี้มาจาก สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ โดย ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม , สิริมณฑ์ พึ่งสังวาลย์ และ นิศรารัตน์ วิไลลักษณ์ ซึ่ง ผศ.ดร.นิษฐา กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและตัวแทนสมาชิกของชุมชนมอญวัดแป้นทองคลองสามวา ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งข้าวตอกตั้งมอญ สไบมอญ และหงส์มอญ วัฒนธรรมของชุมชน ที่ยังมีการต่อยอดสร้างมูลค่าแก่ชุมชนในปัจจุบัน
“กระบวนการสำคัญที่ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน คือการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกส่วนในชุมชน ตั้งแต่ประธานชุมชน ชาวบ้านทุกคน รวมถึงนักศึกษานิเทศศาสตร์ที่เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ช่วยวิจัย ช่วยเก็บข้อมูลและผลิตสื่อสร้างสรรค์อีกด้วย ซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลายกลุ่ม ไม่เพียงทำให้การวิจัยครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังช่วยให้เกิดการยอมรับในชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับนวัตกรรมการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น” ผศ.ดร.นิษฐา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี