เป็นอันว่า “หมดอายุความ” ไปแล้วเรียบร้อยกับ“คดีตากใบ” หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการหายใจไม่ออกและหมดสติ ในระหว่างถูกนำตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เนื่องจากผู้ถูกจับกุมถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ แออัดบนรถบรรทุกตลอดการเดินทางหลายชั่วโมง
แม้จะมีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในแง่มุมต่างๆ จากคณะกรรมการอิสระ แต่การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกลับไม่คืบหน้า กระทั่งในวันที่ 23 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีจำเลยรวม 7 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 2.พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารรราบที่ 5 3.พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า 4.พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 5.พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตากใบ
6.นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 7.นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส โดยเป็นคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตร่วมกันยื่นฟ้องด้วยตนเอง ขณะที่ในเวลาไล่เลี่ยกัน วันที่ 12 ก.ย. 2567 อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 8 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชรในฐานะผู้สั่งการ 2.ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับ 3.พลทหาร วิษณุ เลิศสงคราม พลขับ 4.ร.ท.วิสนุการณ์ ชัยสาร ร.น. พลขับ 5.พลทหาร ปิติ ญาณแก้ว พลขับ
6.พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ 7.พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ควบคุมขบวนรถ และ 8.ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ พลขับ โดยสรุปแล้ว “รวมผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน” (พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร มีชื่ออยู่ทั้งในสำนวนที่ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้อง และในสำนวนที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง) อย่างไรก็ตาม “จำเลยและผู้ต้องหาทุกรายได้หลบหนี” จนถึงวันที่ 25 ต.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันครบอายุความ 20 ปี และหลังจากนั้นจะไม่สามารถนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อีก
“หนึ่งวันหลังคดีตากใบหมดอายุความ” ในวันที่ 26 ต.ค.2567 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งข้อสังเกตว่า “หากคดีดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ 15 ปีก่อน กระบวนการต่างๆ จะดีกว่านี้”ไม่ใช่เพิ่งมาเรียกร้องในช่วงสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงที่คดีกำลังถึงที่สุดที่โดยธรรมชาติไม่มีใครจะยอมขึ้นศาล พร้อมกับยืนยันว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเต็มที่มาตลอด แต่ก็เป็นธรรมดาที่มีคดีที่จับผู้ร้ายได้หรือไม่ได้ ไม่มีใครปรารถนาให้เป็นประเด็น หรือจุดที่จะทำให้เป็นปัญหาในอนาคต
ย้อนไปในวันที่ 23 ต.ค. 2567 หรือ 2 วันก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความ ถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีต สส.สงขลา ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นคดีตากใบ ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้เกี่ยวข้องมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ อาจทำให้เหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) กลับมารุนแรงอีกครั้ง ว่า สิ่งแรกของเป้าหมายการก่อความไม่สงบคือการแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ทั้งนี้ ในมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐไทย จะอยู่บนหลักคิดว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ขณะที่ในมุมมองของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จะกล่าวถึงรัฐปัตตานี มาตุภูมิ ศาสนา และที่สำคัญที่สุดคือชาติพันธุ์ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกันจึงเกิดเหตุความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม การกระทำของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนนั้นผิดกฎหมาย แต่ในทางกลับกัน หากเจ้าหน้าที่รัฐไปทำผิดกฎหมายก็ต้องไม่ถูกละเว้น สังคมจะอยู่กันได้ต้องมีความสมานฉันท์ จึงเกิดการเจรจาทั้งทางลับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา จนมาเปิดเผยกันในปี 2556 ที่เรียกว่าการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุข
แต่ปรากฏความไม่พึงพอใจ แกนนำต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มพูโล ตอนหลังยังมีกลุ่มเปอร์มูดอ ที่เรียกกันว่าพวกนักรบหน้าขาว หรือกลุ่มเยาวชน ถูกก่อตั้งขึ้นและก่อความไม่สงบเรื่อยมา แต่ขบวนการเหล่านี้จะไม่ยอมบอกว่ากลุ่มใดเป็นผู้ลงมือ กลุ่มเหล่านี้มีการจัดตั้ง ยุยงปลุกปั่น และทำพิธีซูเปาะ หรือการสาบานตนและฝึกปฏิบัติ ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปในพื้นที่ หลายคนก็ใช้อำนาจโดยมิชอบ ตั้งแต่การใช้ความรุนแรง ไปจนถึงการอ้างสถานการณ์เพื่อทำการทุจริต เช่น การจัดซื้อ-จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปัญหามีแต่พอกพูน
กระทั่ง “ในปี 2544 ในยุครัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี” ในวันที่ 7 เม.ย. 2544 เกิดเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จ.สงขลา มีผู้เสียชีวิต นายกฯ ทักษิณ ก็ถามผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9ในขณะนั้น ได้ทราบว่าเป็นเรื่องของผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนเมื่อถามว่ากลุ่มเหล่านี้เหลือสมาชิกเท่าใด สมาชิก 50-60 คน คาดว่า 5-6 เดือนน่าจะจัดการให้จบได้ นำไปสู่การใช้นโยบายกำปั้นเหล็ก แต่กลายเป็นทำให้เหตุการณ์ที่ดูจะสงบลงไปกลับมารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งในปี 2547 ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. เกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ปืนหายไป 413 กระบอก ทหารเสียชีวิต 4 นาย ต่อมาในวันที่ 28 เม.ย. เกิดเหตุปะทะระหว่างแนวร่วมขบวนการที่เป็นเยาวชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกัน 11 จุด ฝ่ายแนวร่วมขบวนการเสียชีวิต 107 ราย ฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5-6 นาย หรือเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จนมาถึงเหตุการณ์ตากใบ ในวันที่25 ต.ค. มีชุดรักษาหมู่บ้าน (ชรบ.) ถูกจับเพราะตำรวจไม่เชื่อว่าถูกปล้นปืน นำตัวมาฝากขัง แล้วก็มีผู้คนมาชุมนุมหน้าสถานีตำรวจ เรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. ที่ถูกจับ จากนั้นเกิดเหตุความรุนแรง
โดยเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 ราย แต่หลังจากนั้นระหว่างนำตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารเกิดเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 75 ราย ซึ่งการเสียชีวิตที่เกิดจากปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีกระบวนการไต่สวนในศาล เรียกว่าไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือหากการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องทำเป็นคดี ซึ่งคดีแรกสั่งไม่ฟ้องเพราะระบุตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะต้องส่งสำนวนให้อัยการสั่ง แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้กว่าจะส่งได้ก็มาถึงปี 2567 แล้ว
“สำนวนมันเดิน ส่งไปไต่สวนที่ศาล ศาลสั่งเสร็จแล้วก็ส่งกลับมา ตำรวจจะส่งให้อัยการ อัยการสูงสุดจะต้องสั่ง แต่ส่งช้า อันนี้ตั้งข้อสังเกต เมื่อญาติผู้ตายเขาไม่สามารถทนได้ก็ไปฟ้องเอง ศาลสั่งไต่สวนมีมูล 7 คนตกเป็นจำเลย ขณะนี้ถูกออกหมายจับ ส่วนคดีที่อัยการสูงสุดสั่งก็สั่งฟ้อง ดังนั้นปัญหามีอยู่ว่าเมื่อเอาตัวจำเลยมาดำเนินคดีในศาลไม่ได้ ถึงวันที่ 25 ต.ค. 2567 เที่ยงคืน ก็ขาดอายุความ เอามาดำเนินคดีไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น” นายถาวร กล่าว
นายถาวร กล่าวต่อไปว่า ส่วนคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น อย่างแรกคือจะมีการปลุกระดม ขยายความคิดว่ารัฐไทยเพิกเฉยต่อหลักนิติรัฐ-หลักความยุติธรรม เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องเคลื่อนไหวรุนแรงโดยใช้เรื่องนี้กล่าวอ้าง ทั้งนี้ “กระบวนการเจรจาสันติภาพ เริ่มต้นขึ้นสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แล้วก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็มาเกิดเหตุปล่อยปละละเลยในยุครัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร” โดยสรุปคือคดีตากใบ เหตุการณ์เกิดในยุคพ่อ มีความพยายามเจรจาในยุคอา แต่ก็มาเกิดปัญหาในยุคลูก
ซึ่งแม้จะมีความพยายามเยียวยา แต่นั่นเป็นเรื่องทางแพ่งกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย แต่การเพิกเฉยของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมตกเป็นเป้าโจมตี ดังนั้นอดีตนายกฯ ทักษิณไม่อาจหนีความรับผิดชอบไปได้ และเจ้าตัวก็เคยยอมรับแล้วว่าผิดพลาดที่ใช้นโยบายกำปั้นเหล็ก “ส่วนการเสนอแนวคิดให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อขยายอายุความของคดีนี้ออกไป ตนเห็นว่าการออก พ.ร.ก. ต้องมีเหตุผล เพราะแม้จะไม่ทำให้ขาดอายุความ แต่ก็จะมีคำถามว่าแล้ว 20 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมทำอะไรกันอยู่”
อย่างตำรวจเพิ่งส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ แม้อัยการจะสามารถทวงถามได้แต่ต้นเรื่องไม่อยู่ ทั้งที่การไต่สวนชันสูตรพลิกศพเพื่อระบุตัวตนผู้เสียชีวิตและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตนั้นเสร็จสิ้นไปนานแล้ว เมื่อส่งผลกลับไปให้ทางตำรวจ ซึ่งตำรวจก็จะต้องพิจารณาและส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัยว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ โดยสรุปคือสำหรับเรื่องนี้ต้องบอกว่ากระบวนการยุติธรรมเน่าเฟะ
ส่วนการจะไปออก พ.ร.ก. ก็ต้องถามกลับเรื่องหลักนิตินิยม ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถามว่ากล้าเสี่ยงทำหรือไม่เพราะแม้แต่พูดชี้แจงยังไม่กล้าเลย ส่วนคำถามว่า หากบรรดาผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับแล้วอยู่ระหว่างหลบหนี กลับมาปรากฏตัวหลังจากวันที่คดีหมดอายุความ จะยิ่งกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของคนในพื้นที่หรือไม่ ตนคิดว่าข้ออ้างที่ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเข้มแข็งขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องนี้ เพราะหากไปเอกซเรย์ว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เขาอยากให้แก้ปัญหาอะไร
อันดับที่ 1 ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง แต่เป็นความยากจน ต้องไปส่งเสริมการประกอบอาชีพของพวกเขา เกษตรกรรม ประมง ส่งเสริมให้ดี ไม่ใช่ใช้เงินทั้งหมดไปกับการทำรถไฟทางคู่รถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ต้องกระจายอำนาจและงบประมาณลงไป เพราะเมื่อคนไม่ยากจนแล้วจะคิดแบ่งแยกดินแดนไปเพื่ออะไร ขณะที่ปัญหาอันดับ 2 ของพื้นที่ชายแดนใต้ คือยาเสพติด เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนความมั่นคงนั้นเป็นปัญหาอันดับ 3
“อย่าลืมว่า 85% นับถือศาสนาอิสลาม เขาเชื่อผู้นำ อย่าลืมว่า 2 ล้านคนนิดๆ เป็นคนดั้งเดิม ฉะนั้นเมื่อคุณไม่อยู่ในหลักนิติรัฐ ไม่ปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถูกยุยง
ปลุกปั่นตลอดแน่นอน ผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่คัดจะแบ่งแยกดินแดน แต่ผมเข้าข้างความถูกต้อง ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเมื่ออยู่ในรัฐหลังจากนี้แล้วก็ต้องทำตัวให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกาของราชอาณาจักรนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายรัฐไทยก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความยุติธรรม โดยใช้หลักความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิมนุษยชน กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย” นายถาวร กล่าวย้ำ
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี