“ปัจจุบันจิตแพทย์ในประเทศไทย 1 คน ต้องดูแลประชากรมากถึง 100,000 คน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วการดูแลประชากร 100,000 คน เขามีจิตแพทย์รองรับถึง 5 คน ไทยจึงต้องเร่งผลิตบุคลากรด้านนี้แต่การผลิตต้องอาศัยเวลา คาดว่านับจากนี้ไปอีกประมาณ 5 ปี สถานการณ์ขาดแคลนจะดีขึ้น”
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนจิตแพทย์ในประเทศไทย ท่ามกลางปัญหาสุขภาพจิตที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่อาจมองข้ามประเด็นสำคัญอย่าง “การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต” ที่ยังคงเป็นความท้าทายหนึ่ง แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยก็ยังมีจำนวนจำกัด
ทั้งนี้ “คนที่ทำความรุนแรงในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวช แต่หากเป็นคนที่อยู่ในชุมชนที่บางครั้งมีอาการทางจิตเวชซ่อนเร้นของอยู่ เมื่อถูกกระตุ้นก็จะแสดงความรุนแรงออกมา” แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบสนับสนุนที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยลดปัญหาและเพิ่มการเข้าถึงบริการที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในชุมชนเพื่อลดอคติและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วยต่อไป
ซึ่ง รพ.ศรีธัญญา เป็นหนึ่งในภาคี “โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต” ที่มีหลายองค์กรมาร่วมขับเคลื่อน อาทิ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ มูลนิธิบุญยง-อรรณพ เพื่อให้สังคมเล็งเห็นและตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินจัดระบบการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเชิงรุก
“ศรีธัญญาเองจะมีวิทยากรออกไปอบรมให้ความรู้ให้กับชุมชนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตไม่จำเป็นต้องรอกรมสุขภาพจิตหรือกระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ก็สามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่นร่วมกันเป็นคู่ขนานได้” พญ.มธุรดา กล่าว
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ “ลิ้นจี่โมเดล” ที่ดำเนินการโดย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปากคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ด้วยเพราะข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตใน จ.สมุทรสงคราม พบผู้ที่มีความพยายามคิดฆ่าตัวตายเฉลี่ย 3 คน/สัปดาห์ และฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน/เดือน ขณะที่ในพื้นที่ ต.คลองเหมืองใหม่ที่มีประชากรประมาณ 4,000 กว่าคน แต่กลับพบผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจำนวนมาก
นิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ กล่าวว่า ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลเหมืองใหม่ที่มีทีมงานชุมชนเข้มแข็ง ได้ร่วมดำเนินโครงการเหมืองใหม่สุขภาพจิตดีกับ มสช. มาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันซึ่งเห็นผลชัดขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถถ่ายทอดและขยายพื้นที่ดำเนินงานในลักษณะกลุ่ม เขตพื้นที่ และภูมิภาคได้ ล่าสุดในปี 2567 ได้พัฒนาแนวทางการทำงานในเชิงลึกที่เน้นดูแลสุขภาพจิตให้ประชากรทุกช่วงวัย และบูรณาการการป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยแนวคิด “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันดูแลคนในชุมชน
“พระสามารถพูดคุยเยียวยาจิตใจคนในชุมชน ขณะที่นักส่งเสริมสุขภาพจิตระดับชุมชนท้องถิ่น หรือ นสช. ก็มีบทบาทในการรับฟังปัญหาและเสริมสร้างกำลังใจ ช่วยส่งต่อข้อมูลความรู้ สืบค้นปัญหา ร่วมกับทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาล ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ก็จะช่วยดูแลสุขภาพกาย เป็นดั่งม้าเร็วเยี่ยมติดตามผู้ป่วยและประเมินสุขภาพเบื้องต้น ด้านฝ่ายบริหารทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านก็ร่วมกันทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และยังมีที่ปรึกษาเป็นนายอำเภอเพื่อให้เกิดการขยายผลทั้งพื้นที่อีกด้วย” นิพนธ์ ระบุ
เช่นเดียวกับที่ “รพ.สต.หมู่ที่ 5 ต.บางบัวทอง จ.นนทบุรี” ซึ่ง ผอ. ของที่นี่อย่าง เกศชัย บุญธรรม เล่าว่า จากดำเนินการร่วมกับ รพ.ศรีธัญญา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เทศบาลเหมืองใหม่ จ.สมุทรสงคราม และ มสช. ทางรพ.สต.ได้จัดอบรม “นักส่งเสริมสุขภาพจิตระดับชุมชนท้องถิ่น (นสช.)” ของ ต.บางบัวทอง จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพ อสม.ที่มีอยู่เดิม
จากนั้นให้ลงพื้นที่ออกเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับทาง รพ.ศรีธัญญา เมื่อเดือน มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า อสม.ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร นสช. สามารถคัดกรองภาวะสุขภาพจิตชุมชนได้ และนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลวางแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับท้องถิ่น โดยมีเทศบาลเหมืองใหม่เป็นแกนหลักการดำเนินงาน ในเบื้องต้นถือว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าที่วางไว้
“มีข้อเสนอเพิ่มเติมคืออยากให้ผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้านเป็น นสช.ด้วย ขณะที่การออกเยี่ยมอยากให้เป็นทีมสหวิชาชีพ นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าเพิ่มเติมคือให้มี นสช.ในทุกครัวเรือน หรืออย่างน้อยมี นสช.ในทุกหมู่บ้าน มีคณะทำงานระดับตำบล มีฐานข้อมูลกลางในการออกเยี่ยมผู้ป่วย และมีการบรรจุแผนสุขภาพจิตในแผนสุขภาพตำบล เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดสรรงบประมาณให้สนับสนุนตอนออกเยี่ยมบ้าน และให้มีการเข้าถึงกองทุนบริการจิตเวช เป็นต้น” เกศชัย กล่าว
ด้าน ชาญวิทย์ โวหาร เลขาธิการมูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ กล่าวถึงข้อสรุปจากงาน “เวทีสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น (Community Mental Health Forum)” ที่เพิ่งจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะด้านการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่นตลอดช่วงชีวิต 6 ข้อ ที่จะขยายผลการทำงานพื้นที่ต้นแบบให้ขับเคลื่อนสู่ระดับประเทศต่อไป ดังนี้
1.นำเครื่องมือดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น (Community Mental Health Index) ไปใช้สำหรับเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานะสุขภาพจิตในระดับชุมชน และขยายผลต่อยอดไปสู่การเป็นเครื่องมือหลักในการประเมินสุขภาพจิตชุมชนในทุกๆ ชุมชนทั่วประเทศในอนาคต 2.สนับสนุนการขยายผลการสร้างและพัฒนา นสช. ให้กระจายไปทุกชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยหนุนเสริมพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่เดิม และพัฒนาศักยภาพตัวแทนประชากรกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
3.สนับสนุนและจัดให้มีคลินิกสุขภาพจิตในทุกโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พร้อมสนับสนุนทรัพยากรดำเนินงาน 4.สนับสนุนให้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับต่างๆ ขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดเป็นแผนงานและงบประมาณของหน่วยงาน
5.สนับสนุนให้มีหน่วยงานและบุคลากรทำหน้าที่การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานศึกษาโดยจัดตั้งเป็นคลินิกสุขภาพจิต และสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาต่างๆ บูรณาการกิจกรรมด้านสุขภาพจิตเข้ากับหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนการสอนนักเรียน-นักศึกษา และ 6.สนับสนุนงบประมาณและความรู้วิชาการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ นสช. และชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมามสช. มีโอกาสนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับสุขภาพจิตในหลายเวที ซึ่งเป็นการดำเนินงานในโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต ที่มุ่งเน้นการควบคุมหรือลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
และจากการทำงานกับภาคีเครือข่ายจำนวน 15 พื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่ร่วมดำเนินการ พบว่า ต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสุขภาพจิตนั้นได้ทำงานบนฐานของความเป็นวิชาการ เช่น การสร้างดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเป็นระบบ การสร้าง นสช. ในทุกพื้นที่ สามารถเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นทั่วประเทศได้อย่างน่าชื่นชม
“ระบบบริการสุขภาพจิตอาศัยแต่จิตเวชหลักไม่ได้ แต่จิตแพทย์ยังต้องเป็นแกน เพราะชาวบ้านจะไม่มีความมั่นใจว่าถ้าดูแลสุขภาพจิตแล้วไม่มีโอกาสได้รับคำแนะนำหรือความรู้ นอกจากนี้หากต้องการให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีสิ่งที่ต้องดำเนินการคือระบบสังคม ที่จะไม่ใช่เรื่องของแพทย์ ของโรงพยาบาล ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี