ผ่านพ้นไปแล้วกับ “โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานสำหรับคนพิการ (รุ่นที่ 11) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการและการประกอบอาชีพ” ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเพิ่งมีพิธีปิดไปเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการ
ทั้งด้านทักษะการทำงาน การปรับตัว และการอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงเพื่อการทำงานในสถานประกอบการ แต่ยังเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานดูแลคนพิการ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ 2 ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง และสำนักงานเขตทุ่งครุ รวมถึงบุคลากรภายใน มจธ. ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการนี้
“การอบรมเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานในสถานประกอบการ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการทำงานและการประกอบอาชีพ และเสริมสร้างความมั่นใจในการดำรงชีวิตและสร้างคุณค่าให้กับคนพิการ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพ” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว
ขณะที่ นายสุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานสำหรับคนพิการ เปิดเผยว่า ในปีนี้ทางโครงการฯ ได้เปิดอบรมมาตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ต.ค. 2567 ใช้ระยะเวลา 6 เดือน มีคนพิการเข้าร่วมอบรม จำนวน 42 คน แบ่งเป็นพิการด้านความเคลื่อนไหว 32 คน ด้านสติปัญญา 7 คน ด้านการได้ยิน 2 คน และด้านการมองเห็น 1 คน ผ่านการอบรมใน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน 18 คน หลักสูตรการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล 12 คน และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น 12 คน
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 รวม 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด, บริษัท ศรีไทย มิยากาวา จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สโตเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน), และ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งในการดำเนินงาน มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการฝึกอบรมและเครื่องมือในการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา
“มีการให้คนพิการฝึกใช้แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งระบบอออนไลน์ผ่านโปรแกรมซูม (zoom) และใช้ระบบการเรียนออนไลน์ (E-learning) ในการเรียนการสอน ทำให้การติดตามและการให้คำปรึกษาเป็นไปอย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหวังว่า คนพิการที่ผ่านการอบรมและฝึกงานในโครงการฯ จะได้นำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพเพื่อดูแลตัวเอง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้” นายสุเมธ กล่าว
ตัวอย่างผู้เข้าร่วมโครงการ น.ส.ทิพยรัตน์ จันทรสุวรรณ เล่าว่า เคยทำงานเป็นผู้ช่วยธุรการในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้ลาออกจากงานและกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด พอได้ทราบว่าได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ รู้สึกดีใจมาก ส่วนที่เลือกเรียนการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เพราะเป็นหลักสูตรที่สนใจอยากเข้ามาเรียนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แม้ไม่เคยเรียนหรือมีความรู้เรื่องการออกแบบมาก่อน แต่พอได้เข้ามาอบรมพบว่าไม่ยากอย่างที่คิด หากไม่เข้าใจก็ได้เพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ สามารถเรียนรู้และผลิตเป็นชิ้นงานได้จริง
“เหมือนเป็นหลักสูตรเร่งรัด ผลงานที่ได้ทำขึ้น คือ ออกแบบรูปเป็ดบนร่มให้กับแบรนด์ ‘ทำ’ รู้สึกภูมิใจ ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมอบรม ทำให้ได้ทักษะในการออกแบบมากขึ้น ต่างจากก่อนหน้าที่ไม่รู้อะไรเลย ตอนนี้ได้พื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบสื่อฯ ค่อนข้างครบที่เหลือก็อยู่ที่เราจะต้องหมั่นฝึกฝนพัฒนาฝีมือให้เก่งขึ้น เพื่อให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเองก็จะคอยฝึกฝนเพื่อนำไปสร้างอาชีพฟรีแลนซ์ต่อไป” น.ส.ทิพยรัตน์ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายสิทธิกานต์ เพชรเกตุ ที่เล่าว่า เมื่อปี 2562 เกิดอุบัติเหตุรถล้ม ต้องหยุดเรียนไป 1 ปี เพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดระนอง และต้องกลายเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หลังจากนั้นก็กลับไปฝึกสอนจนจบปริญญาตรี แต่เพื่อไม่ต้องการให้เป็นภาระของครอบครัว ได้เห็นลู่ทางการแก้วแฮนด์เมด D.I.Y. ด้วยการนำขวดที่ไม่ใช้แล้วมาตัดเป็นแก้วหรือแจกัน แล้วเพนท์ลายนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว แต่เมื่อเห็นว่ามีโครงการนี้ ก็อยากเข้ามาร่วม เพราะอยากก้าวข้ามความรู้สึกที่ว่าทำไม่ได้
“โครงการนี้ทำให้ผมเห็นคุณค่าของตัวเองและคนพิการคนอื่นๆ ที่หลายคนมีความลำบากมากกว่าเรา แต่พวกเขาก็ยังออกมาพัฒนาตัวเอง จึงตัดสินใจเข้าร่วมเพราะเห็นคุณค่าและโอกาสที่ดี และหลังจากจบหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานแล้ว ตั้งใจว่าปีหน้าจะมาสมัครเข้าอบรมต่อในหลักสูตรการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เพื่อได้มีความรู้หลายด้านมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวเราเองและจะได้เอาความรู้ไปพัฒนา ไปสอนเด็กๆ ในชุมชนต่อไป เพราะเด็กต่างจังหวัดยังขาดโอกาสในการเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมต่างๆ อีกมาก” นายสิทธิกานต์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี