“ผมต้องย้ำอย่างนี้ว่า การแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ถ้าเราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไร้บ้าน คือคนไร้บ้านไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไร้บ้าน ถ้าเราแก้ไขได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในสังคม และปัญหาอื่นๆ ก็จะได้รับการแก้ไข เนื่องจากกลุ่มคนไร้บ้าน อาจจะเรียกว่ากลุ่มคนที่อยู่ล่างสุดของสังคม ฉะนั้นสิ่งที่เราจะมาคุยกัน มันไม่ได้ตอบโจทย์แค่ประเด็นคนไร้บ้าน นวัตกรรมด้านคนไร้บ้านมันสามารถส่งต่อให้กับคนกลุ่มอื่นในสังคมได้”
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “สถานการณ์ แนวโน้ม และความท้าทายทางประชากร ต่อการสนับสนุน และขับเคลื่อนงานคนไร้บ้าน” ในการประชุม “หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อคนไร้บ้าน : จากการตั้งหลักสู่ความมั่นคง” ในเดือน ต.ค. 2567 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
สืบเนื่องจาก “โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat)” กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น “วันที่อยู่อาศัยโลก (World HabitatDay)” เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาคมโลกว่าด้วย “ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย” หนึ่งในปัจจัย 4 และเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงเข้าถึง โดยในเดือนดังกล่าว หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ จะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ ซึ่งร่วมถึงการประชุมและบรรยายนี้ด้วย
อนรรฆ ยกตัวอย่างโครงการ “จ้างวานข้า” โดย “มูลนิธิกระจกเงา”ที่เป้าหมายแรกเริ่มคือการหางานให้คนไร้บ้านมีรายได้ แต่ต่อมาได้ขยายไปเป็นการจ้างงานผู้สูงอายุ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาคนไร้บ้านไม่อาจทำโดยลำพัง เช่น จะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปทำเรื่องสุขภาพหรือเรื่องตรวจสอบสถานะทางทะเบียนราษฎรของบุคคลเพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ จึงต้องดึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านนั้นเข้ามามีส่วนร่วม
ข้อมูลการสำรวจคนไร้บ้าน ช่วงปี 2561, 2563 และ 2566 พบจำนวนคนไร้บ้านอยู่ราวๆ 2-3 พันคนเศษๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากนัก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาขับเคลื่อนงานด้านคนไร้บ้านอย่างไรก็ตาม “การแก้ปัญหาคนไร้บ้านยังมีความท้าทายสำคัญ” อาทิ 1.คนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกในอนาคต
ดังนั้น “แม้จำนวนคนไร้บ้านจะไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่การเป็นผู้สูงอายุทำให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยาก” เมื่อเทียบกับคนไร้บ้านที่เป็นวัยแรงงาน เพราะการเป็นผู้สูงอายุมักมาพร้อมกับอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง 2.จะรีบดึงคนไร้บ้านหน้าใหม่ออกไปจากภาวะไร้บ้านได้อย่างไร? คนไร้บ้านหน้าใหม่ หมายถึงเพิ่งออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้ยังไม่เกิน 2 ปี ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า ยังเป็นระยะเวลาที่คนไร้บ้านจะสามารถกลับไปตั้งหลักชีวิตได้ไม่ยาก
3.คนไร้บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าออกมาเป็นคนไร้บ้านแล้วมีปัญหาสุขภาพจิต แต่หมายถึงมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ก่อนแล้วแต่
ที่บ้านไม่สามารถดูแลได้ หรือใช้ชีวิตอยู่คนเดียวแล้วต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน 4.สถานะทางทะเบียนราษฎรของบุคคลยังคงเป็นปัญหาสำคัญ สำรวจเมื่อใดก็จะพบคนไร้บ้านไม่มีบัตรประชาชนอยู่เสมอ เช่น บัตรหาย 5.การศึกษาน้อย ส่วนใหญ่จบเพียงระดับประถมศึกษา ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และ 6.คนไร้บ้านที่ไม่มีรายได้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่จำนวนมากเป็นวัยแรงงานซึ่งอาจเป็นเรื่องสมรรถนะในการทำงานที่น้อยลง
“สรุปได้ว่าจำนวนไม่เพิ่ม-ไม่ลด แต่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีพลวัตมากขึ้นระหว่างกลุ่มไร้บ้านกับกลุ่มเสี่ยงไร้บ้าน กลับไป-กลับมา ดังนั้นกลุ่มนี้ก็จะ
เป็นกลุ่มเป้าหมายของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เรียกว่ากลุ่มไร้ที่พึ่ง คืออาจจะอยู่ปริ่มๆ ระหว่างไร้กับไม่ไร้บ้านคนไร้บ้านสูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกจังหวัดยกเว้นชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงานและมีความสัมพันธ์กับเรื่องของยาเสพติด เนื่องจากทำงานในภาคบริการและมีปัญหาทางจิตเวช” อนรรฆ ระบุ
จากสถานการณ์ข้างต้น “โจทย์สำคัญของการออกแบบนโยบายในอนาคต” ประกอบด้วย 1.ต้องมีนวัตกรรมและกระบวนการใหม่ ดังจะเห็นว่าคนไร้บ้านมีหลายกลุ่ม เช่น คนไร้บ้านหน้าใหม่ คนไร้บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตรวมถึงคนที่มีความเสี่ยงกลายเป็นคนไร้บ้าน แต่ละกลุ่มต้องการนโยบายที่แตกต่างกัน 2.ต้องมีหุ้นส่วนการทำงานที่เข้มแข็งมากขึ้น ภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นรวมถึงภาคประชาสังคม ในการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน และ 3.นโยบายต้องยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี