นายกเทศมนตรีตำบลสตึก จ.บุรีรัมย์ เผยหลังสิ้นสุด “งานแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดบุรีรัมย์ ชิงถ้วยพระราชทานฯ” ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์งานประเพณีของท้องถิ่น ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัด มีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แห่เที่ยวชมงานคึกคักมากกว่า 5 หมื่นคน ส่งผลให้มีเงินสะพัดภายในจังหวัดกว่า 30 ล้านบาท
5 พฤศจิกายน 2567 นายวีรวิชญ์ พีรยศพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลสตึก จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ภายหลังสิ้นสุดการจัด “งานแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดบุรีรัมย์ ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ซึ่ง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม อำเภอสตึก เทศบาลตำบลสตึก ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านในอำเภอสตึก ได้ร่วมกันจัดขึ้น ณ ลำน้ำมูล บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์งานประเพณีของท้องถิ่น อีกทั้ง ยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นสื่อในการที่จะเชื้อเชิญให้แขกต่างถิ่นได้เข้ามาเยี่ยมเยียนอีกทางหนึ่ง ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย
โดยการจัดงานมีกิจกรรมมากมาย ทั้งขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทานฯ ขบวนแห่ชุมชน 3 เผ่า ขบวนนางรำ ขบวนช้างแห่ ซึ่งบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวจังหวัดบุรีรัมย์เป็นการสื่อถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของท้องถิ่น
ซึ่งทาง “หม่ำ จกม๊ก” ได้มาร่วมงาน สร้างสีสันทำให้บรรยากาศคึกคักมากขึ้น เรียกเสียงฮาหัวเราะ ให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ที่มาเที่ยวชมงานเป็นอย่างมาก
สำหรับในปีนี้ มีเรือยาวจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 27 ลำ แบ่งการแข่งขันเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทเรือไม้ ก ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 55 ฝีพาย จำนวน 6 ลำ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวประเภทเรือไม้ ข ขนาดกลางไม่เกิน 40 ฝีพาย จำนวน 8 ลำ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประเภทเรือท้องถิ่น เรือโลหะไม่เกิน 36 ฝีพาย จำนวน 13 ลำ มีที่เดียวของประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งการแข่งขันทั้งสามประเภทเรือ ชิงถ้วยพระราชทาน ถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า 5 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังมีมหรสพรื่นเริงต่างๆ การจัดการแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์จากทุกท้องถิ่น ของกินของดีเมืองสตึก ให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานได้เลือกซื้อไปเป็นของฝาก และของที่ระลึก ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวบ้าน และผู้ผลิตสินค้าโอท็อปได้เป็นอย่างดี
นายวีรวิชญ์ กล่าวต่อว่า ตลอดการจัดงาน ได้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ และจากต่างจังหวัด รวมถึงชาวต่างชาติ เดินทางมาเที่ยวชมงานกันอย่างคึกคัก มากกว่า 50,000 คน ซึ่งคาดการณ์ว่าตลอดการจัดงาน ทำให้มีเงินสะพัดในจังหวัดจำนวนกว่า 30 ล้านบาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี