เวทีเสวนาทิศทางกลไกชุมชนท้องถิ่นกับการส่งเสริมสุขภาพจิตภายใต้หัวข้อ “สานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น” ในงานประชุม “เวทีขับเคลื่อนเชิงนโยบายภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น” โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต เมื่อเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นให้เห็นถึงบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตใน 3 ประเด็นคือ
1.สถานการณ์ความรุนแรง 2.แนวทางการดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่นกับการส่งเสริมสุขภาพจิต และ 3.ข้อเสนอแนะการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมสร้างแนวทางที่ทำได้จริงและให้ทุกชุมชนสามารถเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน มีตัวอย่างความสำเร็จในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้แก่ อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร, อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย และ อบต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
มานะ วุฒฑยากร นายก อบต.วังกรด เล่าว่า อบต.วังกรด ได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุกลุ่มงานรักช่างไม้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำโลงศพ ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดโครงการใหม่นั่นคือ “งานศพจบที่เรา” โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในกิจกรรมทำดอกไม้จันทน์และพับเหรียญโปรยทาน นับเป็นการเปิดโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงา แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุติดบ้าน ส่งเสริมความสุขในชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง
“สำหรับแนวทางการต่อยอดในอนาคต ในฐานะของ อปท. ต้องคิดให้แตก คิดให้ต่าง นำนโยบายของภาครัฐมาปรับให้เข้ากับพื้นที่ โดยมีกลุ่มคนเป็นที่ตั้งและต้องมีการบูรณาการร่วมกัน พร้อมทั้งยกระดับการดำเนินงานให้ทันสมัย ไม่จมปลักกับอดีต มองไปยังอนาคต โดยตอนนี้กำลังริเริ่มตั้งโครงการใหม่ ‘เล่าเรื่องเก่าเท้าความหลัง’ ด้วยการพัฒนาผู้สูงอายุวัยเก๋าให้เป็นนักบำบัดสุขภาพจิตตัวยง ผ่านวิธีการเล่าเรื่องเก่าแลกเปลี่ยนกัน เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืน” นายก อบต.วังกรด กล่าว
ขณะที่ ยุทธ บุญเกษ ตัวแทนจาก อบต.วังสะพุง เล่าถึงโครงการ “เสมาโมเดล” ว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐเพื่อร่วมป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน โดยเฉพาะการทำงานของ นักส่งเสริมสุขภาพจิตระดับชุมชนท้องถิ่น (นสช.) ที่มาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นสช.ในพื้นที่ได้เสนอให้เห็นถึงความสำคัญของการมี “หลักสูตรจิตวิทยา”เพื่อช่วยโน้มน้าวและสร้างความเข้าใจให้กับผู้ป่วยและญาติ โดยเน้นการเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจ
“ที่ผ่านมาดำเนินการโดยขาดความรู้ในการบำบัดและการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ ส่งผลให้มักใช้วิธีการที่รุนแรง เช่น การจับกุมและการนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยไม่มีการให้ความช่วยเหลือทางจิตวิทยา ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวและไม่พอใจ ที่สำคัญพื้นที่ตลาดวังสะพุงเป็นตลาดลอตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาผู้พิการฆ่าตัวตายจากการถูกตัดสิทธิ์ในการขายลอตเตอรี่ การเข้าไปดูแลผู้ป่วยในพื้นที่อย่างทันท่วงทีจึงมีความสำคัญ โดย นสช.จะต้องใช้แนวทางที่เข้าถึงได้จริง” ยุทธ ระบุ
ด้าน ณปภัช บวรศักดิ์โสภณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน อบต.ผักไหม กล่าวถึงโครงการ“จุดพักใจผักไหมแคร์” ว่า หลังทางพื้นที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาความร่วมมือฯ และจัดอบรมพัฒนาแกนนำนสช. ในพื้นที่ 54 คน พร้อมลงชุมชนเก็บข้อมูล พบว่าใน ต.ผักไหม ที่ประกอบด้วย 17 หมู่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางมีปัญหาสุขภาพจิตทั้งหมด 75 คน จึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางแผนการช่วยเหลือปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ
“มีภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่ร่วมกัน ในการจัดจ้างอาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อช่วยดูแลและบริบาลผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางต่างๆ ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจากนี้ อบต.ผักไหม จะเดินหน้าสู่การเป็นตำบลต้นแบบแห่งความสุขอย่างยั่งยืน ที่เน้นการดูแลสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ” ณปภัช กล่าว
สำหรับ “โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต” เป็นความร่วมมือกันของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลศรีธัญญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานร่วมกับ มสช. และภาคีเครือข่ายใน 15 พื้นที่ ว่า การดำเนินงานช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตในระยะเริ่มต้น ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของโรคและเพิ่มโอกาสในการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ขณะเดียวกันกลุ่มวัยทำงานและผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจนยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องดำเนินการเพิ่มมากขึ้น
ส่วนโครงการระยะที่ 2 ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการทบทวนการพัฒนาเครื่องมือ Community Mental Health Index (CMHI) หรือ ดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งทางโครงการจะพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตระดับชุมชนต่อไป ทั้งนี้ ความท้าทายที่สำคัญของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คือการทำงานร่วมกับ อปท.ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ
“การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตไม่เพียงเริ่มจากด้านสาธารณสุข แต่ยังขึ้นอยู่กับงานด้านการปกครองที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่น่าอยู่และมีความสุข มากกว่าการยึดติดกับแนวทางการเมืองหรือเศรษฐกิจอีกด้วย” พญ.มธุรดา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี