“แรงงานนอกระบบเป็น 61% ของคนทำงานบนโลกใบนี้ อยู่ในภาคการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการ หรือประมาณ 2 พันล้านคน ที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ความท้าทายเหล่านี้ถ้าเกิดว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่สักประมาณ 18% น้อยมาก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะอยู่ที่สัก 67-90% อยู่ในเกณฑ์สูงมาก ในขณะที่ประเทศไทยมีสักประมาณ 52% อยู่ในภาคนอกระบบ หรือประมาณสัก 21 ล้านคน จากผู้มีงานทำประมาณ 40 ล้านคน”
บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “นำเสนอผลการศึกษา ผลการสำรวจสถานะทางสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และการใช้ยาของแรงงานนอกระบบและประชากรเปราะบาง” ในงานประชุมและเสวนาวิชาการ “สุขภาพและการเข้าถึงยา : เมื่อเศรษฐกิจ ชีวิตและสุขภาพ มีผลต่อแรงงานนอกระบบ” เมื่อเร็วๆ นี้
ซึ่งนิยาม “แรงงานนอกระบบ” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ หมายถึงกลุ่มที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น การกำหนดวัน-เวลาทำงาน สวัสดิการต่างๆ ที่คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับเหมือนกับแรงงานในระบบ (อาทิ ข้าราชการที่มีสวัสดิการข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33) จึงไม่มีความมั่นคงในอาชีพและรายได้
งานวิจัยชิ้นนี้เก็บข้อมูลระหว่างเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2566 จากนั้นสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มเพิ่มเติมช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 2567 มีกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 400 คน แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 8 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน คุณสมบัติกลุ่มตัวอย่างต้องมีอย่างน้อย 3 ด้าน คือต้องอยู่ในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล ต้องประกอบอาชีพนั้นๆ มาไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องเป็นผู้ที่ป่วยหรือมีประสบการณ์ป่วยและมีการใช้ยารักษาโรค เป็นต้น
“แรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีอายุเฉลี่ย 55 ปี” สะท้อนภาพความคาบเกี่ยวระหว่างแรงงานนอกระบบกับภาวะ “สังคมสูงวัย” กลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ยเป็นหญิงมากกว่าชาย ยกเว้นอาชีพขับรถแท็กซี่ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย) มีการศึกษาเฉลี่ยเพียงระดับประถมศึกษา ความยาวนานของการอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยเฉลี่ยคืออยู่มาแล้ว 34 ปี ส่วนความยาวนานในการประกอบอาชีนั้นๆ โดยเฉลี่ยคือ 19 ปี ซึ่งถือว่านานพอสมควร ทำให้การเปลี่ยนอาชีพหรือปรับพฤติกรรมทำได้ยาก แม้โรคภัยไข้เจ็บบางโรคจะมีสาเหตุจากการประกอบอาชีพก็ตาม
แรงงานนอกระบบทำงานเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 25 วันต่อเดือน ยกเว้นกลุ่มขับแท็กซี่ ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และหาบเร่แผงลอย ที่มีชั่วโมงการทำงานต่อวันสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นพิเศษ เพราะต้องการให้มีรายได้ในวันนั้นเพียงพอเสียก่อน)รายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่คือ 776 บาทต่อวัน ในจำนวนนี้หาบเร่แผงลอยมีรายได้สูงที่สุด 1,513 บาทต่อวัน (ซึ่งยังไม่หักต้นทุนที่ใช้ในการประกอบอาชีพ)
“แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่พึ่งพาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง สปสช.) ในการรักษาพยาบาล” ขณะที่เมื่อมาดู “ข้อมูลสุขภาพของแรงงานนอกระบบ” ไล่ตั้งแต่ 1.ดัชนีมวลกาย ส่วนใหญ่อยู่ที่ 25 ถือว่ามีรูปร่างอ้วนหรือมีภาวะโภชนาการเกิน ซึ่งนอกจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารแล้วยังมาจากปัจจัยอื่นๆ ได้อีก เช่น ความเครียด พักผ่อนน้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
โดยการออกกำลังกายนั้น บางกลุ่มแม้มีเวลาแต่ไม่สามารถทำได้ เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม้มีช่วงว่างระหว่างวัน แต่การยืดเส้นยืดสายทำให้มีเหงื่อและกลิ่นไม่พึงประสงค์ กระทบต่อผู้ใช้บริการ ส่วนการบริโภคอาหาร กลุ่มหาบเร่แผงลอยมักกินอาหารที่เพื่อนๆ ในกลุ่มขายกันเอง หรือกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน นายจ้างกินอะไรลูกจ้างก็มักจะได้กินแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพอาหารที่เพื่อนๆ ในกลุ่มผลิตหรือที่นายจ้างบริโภค
2.พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม หลักๆ คือการดื่มชากาแฟและเครื่องดื่มชูกำลัง แต่บางกลุ่มจะแตกต่างออกไป เช่นกลุ่มคนไร้บ้านชอบดื่มน้ำอัดลมรสหวาน คนขับแท็กซี่-ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้พืชกระท่อม ซึ่งอย่างหลังคาดว่าใช้เพื่อให้ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้มากขึ้น 3.โรคประจำตัว ส่วนใหญ่ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด เบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มคนทำการผลิตที่บ้านและหาบเร่แผงลอย คือกลุ่มที่พบอาการป่วยมากที่สุด
อนึ่ง “ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของแรงงานนอกระบบ”เช่น อากาศร้อน ฝนตก ฝุ่นควัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องทำงานกลางแจ้ง มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ 4.ความเครียดซึ่งไม่ได้มาจากสภาพการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน
5.การใช้บริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย แม้จะมีสิทธิบัตรทองสปสช. รองรับ แต่ส่วนใหญ่นิยมซื้อยากินเอง เพราะการไปพบแพทย์หมายถึงต้องหยุดงานซึ่งเท่ากับขาดรายได้ แต่บางกลุ่มจะมีโอกาสไปโรงพยาบาลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น หาบเร่แผงลอยที่ขายช่วงบ่าย อาจเลือกไปพบแพทย์ช่วงเช้า หรือคนขับแท็กซี่-ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่เดินทางได้ง่าย ในทางกลับกัน มีบางกลุ่มขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น ลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติ คนไร้บ้าน
6.พฤติกรรมการใช้ยา แรงงานนอกระบบนิยมใช้“ยาคลายกล้ามเนื้อ” เพื่อคลายความเมื่อยล้าจากการทำงาน ขณะที่บางกลุ่ม เช่น คนเก็บของเก่า ขับแท็กซี่ ลูกจ้างทำงานบ้าน พบการใช้ยาชุด ที่น่าสนใจคือ “ลูกจ้างทำงานบ้านพบการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ” ซึ่งอาจเป็นเพราะแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้มีรายได้ค่อนข้างดีและไม่ต้องการป่วยจนต้องไปโรงพยาบาล นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรม “ลืมกินยา” ด้วยเหตุผล เช่น รูปแบบการทำงานที่ลากยาวตั้งแต่เช้าถึงเย็นหรือค่ำ ทำให้เวลารับประทานอาหารไม่แน่นอน
ส่วน “ข้อเสนอแนะ” เช่น “สนับสนุนการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงแต่ละอาชีพ” อาทิ กลุ่มคนขับแท็กซี่-ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ควรเข้าถึงการตรวจการมองเห็นและการได้ยิน “สนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพในการร่วมกันดูแลสุขภาพ” เพราะไม่มีใครเข้าถึงและสื่อสารกับผู้ประกอบอาชีพได้ดีกว่าคนในกลุ่มด้วยกันเอง “ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพ” เช่น บริการนอกเวลา นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดเวลารอคิวพบแพทย์ เป็นต้น
“เรื่องบางเรื่องอาจไม่ใช่เฉพาะสุขภาพอย่างเดียวแต่ความเครียดเป็นอุปสรรคสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การดูแลผู้อยู่ในอุปการะ เรื่องของความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และการคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันและเป็นเรื่องสำคัญ” บวร กล่าวในตอนท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี