มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดเสวนาหัวข้อ “ชีวิตของผู้ค้าอยู่ตรงไหนภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายฯ ใหม่” เมื่อช่วงปลายเดือนต.ค. 2567 ที่ผ่านมา
บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ให้ความสำคัญกับหาบเร่แผงลอย”ว่าต้องให้ผู้ค้ามีความมั่นคงในอาชีพ โดยแบ่งออกเป็น 4 นโยบาย 1.สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้า ประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ในการช่วยกันดูแลพื้นที่ 2.ฐานข้อมูลของผู้ค้า พร้อมติดตามการดำเนินการว่าผู้ค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 3.เตรียมพื้นที่รองรับ นั่นหมายถึงหาบเร่แผงลอยจะไม่หายไป และ 4.ดึงหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนเข้ามา เพื่อให้มีพื้นที่ค้าเพิ่มขึ้น
เมื่อประกอบกับการออกประกาศผังเมืองใหม่ มีหลักเกณฑ์การให้ FAR Bonus ซึ่งหมายถึงรัฐออกมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองโดยการทำโครงการให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แลกกับสิทธิประโยชน์ในการก่อสร้างพื้นที่อาคารเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม“ประเด็นหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ มีความท้าทายสำคัญ” อาทิ 1.จุดผ่อนผันและพื้นที่ทำการค้ามีแนวโน้มลดลง ซึ่งหากยุครัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าลดฮวบแล้ว ภายใต้กฎระเบียบใหม่ของ กทม. ก็จะยิ่งลดลงอีก อาจถึงขั้น “เซตซีโร่” เริ่มจากศูนย์กันใหม่
บวร ยกตัวอย่างจุดผ่อนผันแผงลอย 171 จุด ผู้ค้า 7,947 คน ต่อมาจุดผ่อนผันลดลงเหลือ 86 จุด และจำนวนผู้ค้าก็ลดลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ กทม. พบการค้านอกจุดผ่อนผันอีก 544 จุด อีกทั้งในพื้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เช่น โบ๊เบ๊ สีลม สยามสแควร์ พระโขนง บางนา ทองหล่อ จะมีการดูแลเป็นพิเศษ มีการจัดระเบียบที่ค่อนข้างเข้มแข็งและยังมีการประชาสัมพันธ์ว่า กทม.ตั้งเป้าหมายลดพื้นที่ทำการค้าลง พยายามผลักให้ผู้ค้าเข้าไปอยู่ในซอย พยายามให้เป็นพื้นที่ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) รวมถึงเป็นพื้นที่เอกชนมากขึ้น
2.การแบ่งพื้นที่หาบเร่แผงลอย ซึ่งตามทฤษฎีจะแบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ 2.1 นอกจุดผ่อนผัน ต้องเสียค่าปรับ และไม่มีความมั่นคงในอาชีพ 2.2 Hawker Center หรือศูนย์อาหาร เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชน แต่ก็ไม่มีความยั่งยืน เจ้าของพื้นที่ยกเลิกได้ 2.3 ในจุดผ่อนผัน ผู้ค้ากลุ่มนี้ดูจะมีโอกาสดีกว่า เช่น สามารถเข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้สัมผัสอาหารได้ และกำหนดเวลาทำการค้าไว้ 1-2 ปี
และ 2.4 พื้นที่เชิงอัตลักษณ์ พบในย่านท่องเที่ยวต่างๆ เช่น เยาวราช ถนนข้าวสารแม้จะใช้พื้นที่สาธารณะในการทำการค้าแต่ก็ถือเป็นหน้าตาของ กทม. ซึ่ง “บรรดาผู้ค้านอกจุดผ่อนผันที่หมายถึงในอดีตเคยอยู่ในจุดผ่อนผันแต่จุดผ่อนผันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว พยายามที่จะเข้าไปอยู่ในอีก 3 กลุ่มพื้นที่” โดยเฉพาะในพื้นที่เชิงอัตลักษณ์ เพราะมีความมั่นคงสูงที่สุด 3.การจัดสรรพื้นที่และคัดกรองผู้ค้าตามกฎหมายใหม่ ทั้งในแง่ 3.1 พื้นที่ เช่น ที่ตั้ง ขนาดแผงค้า
3.2 ผู้ค้า ที่เงื่อนไขค่อนข้างเข้มงวด ทั้งเจ้าของร้านและผู้ช่วยต้องเป็นคนไทย ต้องยื่นภาษีเพราะมีเรื่องของเพดานรายได้ที่อนุญาตให้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอย และอนุญาตให้ทำการค้าได้เพียง 1-2 ปี และ 3.3 การบริหารจัดการ ลงทะเบียน ส่งเสริมการรวมกลุ่ม มีคณะกรรมการระดับพื้นที่ จัดทำฐานข้อมูลผู้ค้า สนับสนุนสินเชื่อและระบบการจ่ายเงิน ซึ่งนอกจากผู้ค้าแล้ว แม้แต่เจ้าหน้าที่เทศกิจก็อาจลำบากใจในการปฏิบัติหน้าที่
อาทิ ความพร้อมในการลงทะเบียน การสำรวจพื้นที่และคุณสมบัติผู้ค้า จนถึงการบริหารจัดการ อีกทั้งยังต้องทำทุกๆ ปีเพราะต้องจัดสรรพื้นที่ใหม่ นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น ความหลากหลายของพื้นที่และผู้ค้า ซึ่งอาจมีคุณสมบัติบางด้านไม่ครบถ้วน ราคาและคุณภาพสินค้า การสร้างความสัมพันธ์ในพื้นที่การสร้างความมั่นคงยั่งยืนของผู้ค้า เช่น ทุนในการประกอบอาชีพ เทคโนโลยีต่างๆ
และ 4.ความท้าทายอื่นๆ ที่มากไปกว่าความพร้อมของผู้ค้าและเจ้าหน้าที่ เช่น โอกาสประกอบอาชีพของคนตัวเล็กๆ ในเมืองจะยังมีอยู่อีกหรือไม่? ปัญหาการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเพียงใด? ไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งทุน องค์ความรู้และตลาดที่จะเกิดขึ้น หรือการให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมหารือ ที่ผ่านมามีแต่ระบบ Traffy Fondue ให้ร้องเรียน แต่ไม่เคยมีการนำเรื่องร้องเรียนที่พบบ่อยๆ มาคุยกันอย่างจริงจังว่าจะแก้ไขกันอย่างไร การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) สุขภาพอนามัยและความปลอดภัย หลักประกันทางสังคมที่สร้างความมั่นคง
“สุดท้ายคือเรื่องการพัฒนา ทำอย่างไรที่จะไม่ไล่รื้อ ปรับปรุงทางเท้า จะทำอย่างไรให้ผู้ค้ากล้ามาพูดถึงปัญหาตรงนี้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าพูดเขามีโอกาสถูกยกเลิกพื้นที่ค้าหรือเปล่า? หรือพื้นที่นั้นจะต้องถูกทำถนน-ทำทางเท้าหรือเปล่า? อันนี้เป็นความท้าทายซึ่งจะแยกคนออกเป็น 2 กลุ่มโดยไม่เกิด Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) เลยจากปรากฏการณ์นี้” บวร กล่าว
รศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำงานกับ “สตรีทฟู้ด (Street Food)” หรือผู้ค้าอาหารริมทาง พบว่า 1.ผู้บริโภคหลักคือคนไทย มากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.ผู้บริโภคกลุ่มหลักเป็นคนอายุน้อย เนื่องจากยังมีรายได้ไม่สูง 3.ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีปัญหาภาวะโภชนาการเกิน หรือรูปร่างอ้วนเพราะน้ำหนักเกินจากการเก็บข้อมูลผู้บริโภคสตรีทฟู้ดเกือบทุกวัน พบมากถึง 1 ใน 3
4.การยกเลิกจุดผ่อนผันให้หมดไปไม่สามารถทำได้ ในความเป็นจริง ผู้ค้าที่ถูกยกเลิกจุดผ่อนผันไปแล้วเข้าไปอยู่ในซอยบ้างไปอาศัยพื้นที่เอกชนบ้าง ซึ่งในมุมของนักวิชาการด้านโภชนาการ เคยมีการเก็บตัวอย่างอาหารสตรีทฟู้ดไปวิเคราะห์ในห้องแล็บ พบการได้รับสารอาหารทั้งไม่ครบถ้วนและมากเกินไป เช่น ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม มีโซเดียมสูงถึง 3,000 มิลลิกรัม เกินกว่าประมาณที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวัน คือ 2,000 มิลลิกรัม ข้าวมันไก่ที่แทบไม่มีผักและข้าวก็มีความมัน เป็นต้น
จากข้อค้นพบดังกล่าว ทำให้ต้องเข้าไปแนะนำการปรับเปลี่ยนสูตรอาหาร เช่น ข้าวมันไก่ก็ลดความมันลง แทนที่จะใช้ไขมันไก่ที่เป็นไขมันอิ่มตัว ก็เปลี่ยนไปใช้ไขมันดี อาทิ น้ำมันรำข้าว หรือใช้เนื้อไก่ส่วนอก เพิ่มแตงกวาในจาน เพิ่มฟักในถ้วยน้ำซุป ลดความเค็มของน้ำจิ้มและน้ำซุป หรือกรณีอาหารไม่ปลอดภัย เช่น หมูสะเต๊ะใช้กะทิในการปิ้ง พบการใช้กะทิถ้วยเดียวกันทั้งเนื้อหมูดิบและสุกในการปิ้ง จึงเกิดการปนเปื้อนเชื้อ แต่เมื่อแนะนำให้แยกเป็น 2 ถ้วย พบว่าทำแล้วปัญหาหมูสะเต๊ะปนเปื้อนเชื้อก็หายไป
ซึ่ง “การยกเลิกจุดผ่อนผันแต่การค้ายังมีอยู่ในความเป็นจริง ผลคือการตรวจสอบความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการโดยรัฐจะไม่สามารถทำได้เลย หรือแม้ทำได้แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น” เช่น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ก็ยอมรับว่า หลังยกเลิกจุดผ่อนผันก็มีทั้งที่ไม่ออกไปเก็บตัวอย่างอาหารมาตรวจ และที่เก็บมาตรวจแบบปล่อยผ่านแม้ข้อเท็จจริงจะไม่ควรให้ผ่าน
“ต่างชาติมากินหนเดียวแล้วก็กลับ OK เงินเข้าประเทศ แต่จริงๆ สุขภาพของคนไทยที่กิน ที่เราเป็นห่วง และสุขภาพของคนขายด้วย อย่างในสถานที่ขายเดียวกันก็จะกินข้ามกันไป-มา ชีวิตก็อยู่ตรงนั้นในฐานะที่อยู่คณะสาธารณสุข ยังเคยคิดว่าจะตรวจสุขภาพคนขาย ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นอีกอันที่น่าจะดูในเรื่องสุขภาพของคนขาย” รศ.ดร.เรวดี กล่าว
พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ทำงานกับแรงงานนอกระบบหลายกลุ่ม เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลูกจ้างทำงานบ้าน ฯลฯ รวมถึงหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจแย่มาก อาทิ หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พบยอดขายลดลงร้อยละ 50-70 หลายคนกลายเป็นหนี้นอกระบบ และหากเทียบกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไทยมีอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 ช้ามาก เพราะไม่ค่อยเห็นภาครัฐให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชนหรือท้องถิ่น
ซึ่งหากดูข้อมูลจะพบว่า “ในประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบสูงถึง 20 ล้านคน หรือหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ จำนวนผู้ค้าที่แท้จริงคือ 2 แสนคน ไม่ใช่ 2 หมื่นคน แต่กลับไม่มีการออกนโยบายที่เป็นการวางแผนระยะยาว” เช่น หากผู้ว่าฯชัชชาติ พ้นวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว หาบเร่แผงลอยจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะกติกาเป็นไปตามผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคน ขณะที่วิธีคิดของฝ่ายปกครองก็ยังมองแต่การขับไล่ นอกจากนั้น “การกระจายอำนาจก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง” ผู้อำนวยการเขตยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง
“เรื่องการมีงานทำ เรามองปัญหากันเป็นจุดๆ ถามหาบเร่แผงลอยเขาไม่ได้อยากเป็นนะ เขาอยากเป็นหมอ เป็นครู อยากรับราชการเหมือนกัน แต่มันมีไหมงานแบบนั้นให้เรา? ถ้ารัฐไม่ได้สร้างงานแต่กลับปลดคนออกจากงาน เพราะจริงๆ คนที่อยู่ได้ตรงนั้นมันเป็นอาชีพ จริงๆ เราก็แปลกใจ เราทำเรื่องพวกนี้มาเป็นสิบปี ทุกครั้งที่มีเวทีแบบนี้แล้วเราเจอข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ท่านก็จะบอกว่าแต่ก่อนแม่ผมก็ขายข้าวแกง ขนาดท่านรัฐมนตรีบางคนก็ยังบอกว่าผมโตมาได้ทุกวันนี้เพราะแม่ขายของ แต่เราทุบหม้อข้าวของเรา” พูลทรัพย์ กล่าว
ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ยังกล่าวด้วยว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยให้คำแนะนำว่า “เราไม่สามารถพูดถึงการกินดีอยู่ดีและงานที่มีคุณค่าได้หากไม่พูดถึงการสร้างงาน” แต่วิธีการจัดการของรัฐกลับทำให้คนที่เคยพึ่งพาตนเองได้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่รัฐบาลเพิ่งแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้ประชากรกลุ่มเปราะบาง แล้วพบว่าเศรษฐกิจกลับไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง เท่าที่ทราบคือหลายคนนำเงินนั้นไปใช้หนี้ และคนค้าขาย 1 คนบางครั้งก็เลี้ยงคนทั้งครอบครัว ซึ่งเงินหมื่นเงินแสนก็แก้ปัญหาไม่ได้หากคนไม่มีงานทำ
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เมื่อพูดถึงหาบเร่แผงลอย มองว่าครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องนโยบาย แต่อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องมุมมองทั้งของผู้กำหนดนโยบายและผู้สนับสนุนนโยบาย ทั้งนี้ “สิทธิที่มีชีวิตในเมืองและกำหนดความเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี” เป็นประเด็นที่มี 2 ด้าน 1.คนยากจน หรือคนจนอาศัยอยู่ในเมือง กับ 2.คนที่ไม่จนแต่แปลกแยกในเมือง เช่น พวกที่อยากให้มีดนตรีในสวน อยากมีพิพิธภัณฑ์
ซึ่ง “คน 2 กลุ่มนี้มองเมืองต่างกัน” กลุ่มแรกคือคนไม่มีกิน-มีใช้ ขณะที่กลุ่มหลังแม้จะมีกิน-มีใช้แต่ก็รู้สึกว่าเมืองยังไม่เติมเต็มความฝัน “เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นคนกลางจึงต้องเหนื่อย” ฝั่งหนึ่งอยากมีทางเท้าไว้วิ่ง ถ่ายรูปโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ แต่อีกฝั่งเห็นพื้นที่ว่างๆ ก็ขอขายของได้หรือไม่เพราะไม่มีจะกินแล้ว เจ้าหน้าที่แม้จะถือกฎหมาย แต่เมื่อเข้าไปแตะเรื่องพวกนี้ก็มีแต่ความขัดแย้ง
อีกทั้ง “กฎที่ตั้งมายังแฝงไว้ด้วยอคติบางอย่าง” เช่น บนโลกออนไลน์มีการพูดคุยกันถึงโครงการพัฒนาเมืองที่หรูหราล้ำสมัย แต่ไม่ได้บอกว่ามีใครที่ถูกขับไล่หรือได้รับผลกระทบบ้าง ส่วนที่หลายคนชอบอ้างตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ในการจัดการหาบเร่แผงลอย หากดูประวัติศาสตร์จะพบความพยายามดำเนินการมาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว โดย Hawker แปลว่าหาบเร่ ในยุคแรกๆ ที่สิงคโปร์เริ่มจัดระเบียบ ใช้คำว่า Hawker Shelter แปลง่ายๆ คือทำให้หาบเร่ที่เคลื่อนย้ายไป-มา เข้ามาเป็นแผงลอยที่ตั้งอยู่นิ่งๆ ก่อน แล้วจึงยกระดับเป็น Hawker Center
“เราชอบพูดไม่ครบ คุณทำได้ทั้งหมดเพราะคุณเป็นเจ้าของที่ดิน ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินคุณทำได้ยาก แต่เขาคิดเสมอ สิงคโปร์ไม่ได้ไล่คนออก เขามองวิกฤตเป็นโอกาส เขามองว่า Hawker Center มันสำคัญหลายด้าน เคลียร์ของเก่าจริงแต่ไม่ได้ย้ายนะ เขามองว่าหาบเร่เป็นเครื่องมือพัฒนาเมือง เป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ จุดนี้ต่างจากเรา ของเรามองเป็นการสงเคราะห์ สงสาร เป็นคนจน ให้อยู่แต่อย่าโตมากนะ เว้นแต่พื้นที่พิเศษที่มันดังอยู่แล้ว แต่ถ้าโตก็ไล่ออก” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว
ผศ.ดร.พิชญ์ อธิบายในส่วนนี้ว่า การพัฒนาพื้นที่ใหม่ๆ ของเมือง สิงคโปร์จะนับรวมผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเข้าไปอยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับผู้คนที่อาศัยกิน-อยู่บริเวณนั้น แต่ไทยจะมองว่าเป็นการผ่อนผัน ไม่ได้มองว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญหรือเป็นจักรกลในการพัฒนา ขณะที่รัฐไทยหรือ กทม. ก็ไม่มีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของเมืองอย่างจริงจัง ซึ่งเมื่อพูดถึงหาบเร่แผงลอยจะมี 3 เรื่องต้องพิจารณา 1.สถานที่ขาย จะให้ขายหรือไม่ มาก-น้อยเพียงใด 2.การจัดการพื้นที่ จะทำอย่างไร และ 3.การพัฒนาผู้ค้า เช่น ความปลอดภัย โอกาสในการพัฒนาตนเอง
ปิดท้ายกันที่ วรชล ถาวรพงษ์รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่าหากยึดตามกฎหมายจริงๆ จะไม่สามารถมีหาบเร่แผงลอยได้เลย แต่ กทม. เห็นใจผู้ค้า จึงนำมาสู่การออกประกาศหลักเกณฑ์และการบริหารจัดการผู้ค้า ซึ่งในอดีตเคยมีผู้ว่าฯ กทม. บางท่านอาจได้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้ามามาก เมื่อเข้ารับตำแหน่งจึงประกาศให้ค้าขายได้เสรี ในยุคนั้นเทศกิจก็ปล่อยเกียร์ว่างและมีผู้ค้าเกิดขึ้นเต็มพื้นที่จนเป็นปัญหาเรื้อรัง กระทั่งในวันสุดท้ายก่อนหมดวาระ ผู้ว่าฯ กทม. ท่านนี้ ก็เรียกเทศกิจประชุมพร้อมกันแล้วกล่าวขอโทษเพราะเข้าใจความเป็นจริง
พอมาถึงยุคผู้ว่าฯ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองก็มีการยกเลิกไปหลายจุด ซึ่งบางจุดก็เป็นเรื่องยากกว่าจะทำได้ เช่น คลองโอ่งอ่าง มาจนถึงยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็เริ่มคิดถึงการให้ผู้ค้าอยู่ได้ เช่น ย่านโบ๊เบ๊ มีข้อเสนอให้พัฒนาย่านเก่าด้านการขายเสื้อผ้าบ้าง ลดวันขายบ้าง ลดขนาดแผงค้าบ้าง แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ต้องยืนหยัด เพราะหากประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ค้าไปฟ้อง ป.อาญา ม.157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือ ผอ.เขต กับหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโบ๊เบ๊ก็ผ่านไปได้โดยกระบวนการพูดคุยกัน
ทั้งนี้ “ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ” ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงนามเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 อาจไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดแม้จะผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว และในอนาคตก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร กทม. หรือเมื่อบังคับใช้ไปแล้วสักระยะหนึ่ง ซึ่ง “ประกาศฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเข้าสู่ปี 2568 เป็นต้นไป”
อนึ่ง “ต้องยอมรับว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องวินัย” เช่น ผู้ขายอาหารบางทีก็ล้างภาชนะกันตรงบริเวณที่ทำการค้า ซึ่งเข้าใจได้ว่าอาจขายดีหรือมีเวลาน้อยในการมาดูแลความสะอาด หรือผู้ซื้อบางครั้งก็มาทำสกปรกเช่นกัน แต่การอนุญาตโดยไม่มีหลักเกณฑ์อย่างไรก็ต้องเกิดความสกปรกไม่เรียบร้อย ซึ่งหลายท่านในวงเสวนานี้ทำงานกับคนจนหรือแรงงานนอกระบบอาจรู้สึกเห็นใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีประชาชนอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการมีผู้ค้าในพื้นที่ที่สมควรให้สะอาดเรียบร้อยและมีไว้เดิน
“ผมเป็นผู้ปฏิบัติ แต่ถ้าถอดหัวโขนออกไป ผมเป็นคนธรรมดา ผมก็บอกว่าต้องการให้ทางเท้าสะอาด ไม่มีใครมาขายบนถนน พูดแบบนี้อาจจะมองว่าผม Bias (อคติ) หรือเปล่า? ไม่เป็นกลาง จริงๆ ไม่ใช่ เราเห็นใจอยู่แล้วและพยายามหาจุดร่วมที่เป็นไปได้ทุกฝ่าย” รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี