เป็นอันว่า “ชัดเจน” กับท่าทีของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่จะเดินหน้า “MOU44” หรือบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2544 ในการนำไปใช้เป็นกรอบเจรจากับกัมพูชา ผ่านการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ที่รัฐบาลของแต่ละฝ่ายจะตั้งคณะผู้แทนขึ้นมาหาทางออกร่วมกัน
โดยในการแถลงข่าวเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 พ.ย. 2567 นายกฯ แพทองธาร ย้อนถามกรณีมีเสียงเรียกร้องให้ “ยกเลิก MOU44” ว่า “ยกเลิกแล้วได้อะไร?” พร้อมกับอธิบายว่า ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมี MOU ว่าหากคิดไม่เหมือนกันก็ต้องคุยกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ และย้ำว่า MOU44 ไม่ได้ยอมรับการลากเส้นเขตแดนของกัมพูชา และไม่ได้เป็นการทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูดอย่างที่กังวลกัน
“อันนั้นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร MOU ดังกล่าวคือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 เราขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำ MOU ขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้” นายกฯแพทองธาร กล่าว
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2567 นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายที่มาที่ไปของปัญหาความขัดแย้งเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของ MOU44 ไว้ว่า เนื่องจากไทยและกัมพูชาต่างประกาศเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งทั้ง 2 ชาติ ต่างอ้างสิทธิ์ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 2525 (UNCLOS 1982)
โดยกัมพูชาบอกว่าอ้างสิทธิ์ตามนั้น ส่วนไทยก็อ้างเช่นกัน (กัมพูชาประกาศในปี 2515 จากนั้นไทยประกาศในปี 2516) จึงเกิดการทับซ้อนกัน ซึ่งแบ่งได้ 2 ส่วน หากดูแผนที่ประกอบ คือ 1.ส่วนด้านบน ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ต้องมาแบ่งเขตทางทะเล กับ 2.ส่วนด้านล่าง หรือใต้เส้น 11 องศาเหนือลงมา ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร ใช้คำว่าเขตพัฒนาร่วม (Joint Development Area) แต่ต้องย้ำว่า MOU44 ไทยไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ แต่ในทางกลับกัน กัมพูชาก็ไม่ยอมรับเส้นไหล่ทวีปที่ไทยประกาศ
ซึ่งเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่ยอมรับ ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นได้ และมีเพียง 2 ทางเลือก คือหากไม่ทำสงครามรบกันให้แพ้-ชนะไปข้างหนึ่ง อย่างที่เห็นรัสเซียทำสงครามแย่งชิงดินแดนกับยูเครน ก็ต้องเจรจาโดยสันติวิธี อย่างประเทศที่มีความศิวิไลซ์ และทั้งไทยกับกัมพูชาเลือกอย่างหลัง คือตกลงเจรจาไม่รบกัน จึงเป็นที่มาของ MOU44 ที่ไทยไม่ได้ยอมรับการประกาศไหล่ทวีปของกัมพูชา แต่เป็นการที่ทั้ง 2 ชาติมาตกลงกันในสิ่งซึ่งตกลงไม่ได้ เป็นกลไกในการเจรจาเท่านั้นเอง
ส่วนที่มีข้อมูลว่า “แม้กัมพูชาจะอ้างกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง UNCLOS แต่กัมพูชาก็ไม่ได้เข้าร่วมอนุสัญญาUNCLOS เพราะเกรงว่าเข้าแล้วจะทำให้เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในการเจรจา” ประเด็นนี้ต้องบอกว่า 1.UNCLOS เป็นกฎหมายจารีตที่ผูกพันแม้ประเทศนั้นจะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกก็ตาม ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศในหลายเรื่องแม้เราไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น กฎหมายว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม
2.ไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น กัมพูชาไม่สามารถเลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะอย่างน้อยกัมพูชาก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) ดังนั้นการเจรจาในอนาคตก็ต้องอยู่ในกรอบของ UNCLOS1982 เพราะเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ
“กลไกในการเจรจาก็คือคณะกรรมการเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Technical Committee (JTC) ซึ่งในอดีตก็มี ผมเข้าใจว่ารองนายกฯ ท่านหนึ่งก็แล้วกัน ลองไปหาข้อมูลดู ก่อนรัฐบาลเศรษฐาท่านเป็นประธาน JTC ในรัฐบาลนี้ยังไม่ได้ตั้งยังไม่ได้เข้าคณะรัฐมนตรี ฉะนั้นกลไกในการเจรจา JTC ยังไม่เกิดขึ้น เห็นมีพรรคการเมืองหนึ่งเรียกร้องที่จะให้บอกว่า MOU44 จะทำให้เสียดินแดน แต่มันก็มีการตั้งคำถามว่าแล้วในอดีตทำไมไปเจรจาบนพื้นฐานของ MOU44 ลองไปคิดดูนะ ผมไม่คิดว่า MOU44 ทำให้ไทยเสียดินแดน” นายนพดล กล่าว
นายนพดล กล่าวต่อไปว่า คนที่ลงนาม MOU44 คืออดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ดำรงตำแหน่งในเวลานั้นอย่าง สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งนายสุรเกียรติ์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศในระดับหาตัวจับยาก ตนจึงไม่คิดว่านายสุรเกียรติ์จะเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายกัมพูชา ดังนั้น การเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่ากัมพูชาจะเป็นหรือไม่เป็นภาคีก็ตาม
ส่วนประเด็น “เกาะกูด” แน่นอนว่า “เป็นของไทย” ตามที่สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 2450 (Franco–Siamese Treaty of 1907) ระบุไว้อย่างชัดเจน และปัจจุบันเกาะกูดก็เป็นอำเภอหนึ่งใน จ.ตราด อีกทั้งตนได้ตรวจสอบกับทางกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ก็ไม่พบว่ากัมพูชาเคยอ้างสิทธิ์เหนือเกาะกูด ดังนั้นเกาะกูดอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทยล้านเปอร์เซ็นต์
“ส่วนที่มีการไปเทียบเคียงกับกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่มีบันทึกความตกลงร่วม ปี 2543 หรือ MOU43 แล้วศาลโลกตัดสินให้ไทยเสียดินแดนแม้จะไม่ได้
ระบุชัดเจนก็ตาม จะซ้ำรอยหรือไม่?” ต้องอธิบายก่อนว่า ตัวปราสาทไทยยกให้กัมพูชาไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 หลังแพ้คดีในศาลโลก แต่ที่มีปัญหาคือในเวลานั้นศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนจึงเกิดการกล่าวอ้างที่ทับซ้อนกัน
โดยฝ่ายไทยยึดแนวสันปันน้ำ แต่ฝ่ายกัมพูชายึดตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เหลื่อมกันประมาณ 14.6 ตารางกิโลเมตร กระทั่งช่วงปี 2549 หรือ 2550 กัมพูชาจะนำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก พร้อมกับนับรวมพื้นที่ทับซ้อนนั้นไปด้วย อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ คือเอาไปทั้งศาลพระภูมิและสนามหญ้าหน้าศาล ทั้งที่ในส่วนของสนามหญ้านั้นไทยยืนยันความเป็นเจ้าของ
ดังนั้น ตอนที่ตนเป็น รมว.ต่างประเทศ จึงได้ไปเจรจาให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ให้เอาไปขึ้นเฉพาะตัวปราสาท แล้วเขียนแผนผังใหม่ เรื่องก็มีเพียงเท่านี้ แต่ตนกลับถูกกล่าวหาว่าขายชาติ ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน แต่ข้อเท็จจริงก็อยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2558 ที่ยกฟ้องตน เป็นการยืนยันว่าตนไม่ได้ขายชาติอีกทั้งยังช่วยปกป้องดินแดนด้วยซ้ำ
ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องขอความเป็นธรรมด้วย ใครจะไม่ชอบตน ไม่ชอบ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หรือไม่ชอบพรรคพลังประชาชน ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ดูข้อเท็จจริง อย่าบิดเบือนใส่ร้ายตนและคนที่ทำแบบนั้นตนขออโหสิกรรมให้บางคนก็ติดคุกหรือตกต่ำทางการเมืองไปส่วนความขัดแย้งว่าด้วยกัมพูชาจะนำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ มีการปะทะกันตามแนวชายแดน ทำให้ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2554 กัมพูชาจึงไปยื่นเรื่องที่ศาลโลก และมีคำตัดสินออกมาในวันที่ 11 พ.ย. 2556
โดยระบุว่า พื้นที่บริเวณปราสาท (Vicinity) ศาลบอกไว้ชัดเจน อยู่ในย่อหน้าที่ 98 ของคำตัดสิน ซึ่งจะกินความแค่ไหนทั้ง 2 ประเทศต้องไปเจรจา เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่จุดเด่นอย่างหนึ่ง ตนเข้าใจว่าอยู่ในย่อหน้าที่ 25 ระบุว่า กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท โดยไม่รวมพื้นที่พิพาท (Disputed Area) หรือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร และนี่คือผลงานของตนและรัฐบาลอดีตนายกฯ สมัครได้ทำไว้
“ที่ถามว่ามันจะซ้ำรอยไหม? จะไม่ซ้ำรอยเอาว่าใครจะเป็นคนที่มีคำตัดสินยุติเรื่องพิพาทระหว่างประเทศ ก็คือศาลโลก ก็ต้องยึดกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้นในเมื่อ MOU44 ศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารไม่ได้อาศัย MOU43 เพื่อไปกำหนดในการเจรจา และไม่มีวันที่ศาลโลกจะเอา MOU44 เพื่อไปเป็นผลร้ายกับประเทศไทย อันนี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งปฏิเสธไม่ได้” นายนพดล ระบุ
นายนพดล ยังกล่าวอีกว่า MOU43 ซึ่งเป็นเรื่องทางบก ไม่สามารถเทียบเคียงกับ MOU44 ซึ่งเป็นเรื่องทางทะเลได้ เพราะทางบกมีการฟ้องร้องและมีคำตัดสินไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 อีกทั้งทางบกมีการอ้างเส้นเขตแดนคนละเส้น ส่วนทางทะเลยังไม่เคยมีการฟ้องร้องกัน ยังเป็นเพียงการเจรจา และในความเห็นส่วนตัว ตนเชื่อว่าจะไม่ซ้ำรอยเสียดินแดนอย่างกรณีเขาพระวิหาร ส่วนที่กัมพูชาลากเส้นเขตแดนในการตกลงกับเวียดนาม และลากยาวเข้ามายังพื้นที่เกาะกูดของไทย จะส่งผลกระทบอะไรกับไทยหรือไม่?
เรื่องนี้ก็ต้องย้ำว่าไทยไม่ได้ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก ดังนั้น ตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงไม่มีผลผูกพันใดๆ กับไทย กัมพูชาจะลากอย่างไรก็เรื่องของเขา หากเราไม่ยอมรับก็ไม่ผูกพัน ส่วนที่มีการพูดถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กับ ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ดังนั้น จะเป็นอย่างไรหากให้นายทักษิณเข้ามาร่วมเจรจาเพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ ตนขอเรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการเทคนิคร่วม หรือ JTC ที่จะเป็นกลไกหลักในการเจรจา
โดยคณะกรรมการนี้จะประกอบด้วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เจ้ากรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ ด้านความมั่นคงครบถ้วน ดังนั้น ไม่มีเกี้ยเซียะ และตนคิดว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ คงไม่ได้เกี่ยวข้องในการเจรจา และเป็นการเจรจาที่ยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่า ครม. จะตั้งใครเป็นประธานคณะกรรมการ อย่าง JTC ชุดก่อน มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน
ส่วนรัฐบาลปัจจุบันที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ก็ยังไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร แต่ก็คงไม่นาน น่าจะมีการขับเคลื่อน ซึ่งที่มีการจุดประเด็นขึ้นมาตนคิดว่าดีแล้ว แต่ขอให้จุดประเด็น อย่าหยุดกระแส คือเอาความจริงมาพูดกัน โดยคนเป็น รมว.ต่างประเทศ ต้องฟังกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เจ้ากรมอุทกศาสตร์ เจ้ากรมแผนที่ทหาร สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้บัญชาการทหารบก คือมีกลไกในการหารือกันอยู่แล้วไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารก็ตาม
ส่วนคำถามว่าในเมื่อทั้งเกาะกูดและพื้นที่ทางทะเลเป็นของไทย เหตุใดต้องแบ่งผลประโยชน์ทางพลังงานกับกัมพูชาด้วย ในส่วนของเกาะกูดชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นของไทย ส่วน MOU44 จะมี 2 พื้นที่ ส่วนที่อยู่เหนือเส้น 11 องศาเหนือขึ้นไป เป็นเรื่องการแบ่งเขตแดน (Delimitation) หรือแบ่งพื้นที่ทางทะเล แต่ส่วนที่อยู่ใต้เส้น 11 องศาเหนือลงไปเป็นเขตพัฒนาร่วม เพราะตามกฎหมายระหว่างประเทศ เขตแดนคือ 12 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน (Baseline) ออกไป ประเทศจะมีอำนาจอธิปไตยเต็มที่ เช่น เรื่องภาษี เรื่องการศุลกากร
แต่เลยจากนั้นออกไปอีก 12 ไมล์ทะเล จะเรียกว่าเขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) และต่อจากนั้นออกไปอีกก็จะเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) หรือประกาศเขตไหล่ทวีป ซึ่งแต่ละประเทศจะไม่ได้มีอำนาจสมบูรณ์ และในเมื่อเกิดการซ้อนกันแล้วจะให้ทำอย่างไร ซึ่งตนก็ไม่ได้อยากให้มีพื้นที่ทับซ้อน แต่ประเทศที่มีชายแดนใกล้ๆ ติดกัน พอประกาศเขตออกไป 200 ไมล์ทะเล มันซ้ำซ้อนกันโดยสภาพอยู่แล้ว
เช่น มหาสมุทรที่กั้นระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับมลรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว แต่ทะเลอ่าวไทยกับทะเลจีนใต้ บริเวณ จ.ตราด ของไทย กับเกาะกงของกัมพูชา มันใกล้ชิดกัน ประกาศ 200 ไมล์ทะเล อย่างไรก็ซ้อนกัน และการพัฒนาร่วมกันก็มีตัวอย่างแล้ว คือเขตพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ที่แบ่งปันทรัพยากรน้ำมันร่วมกัน ปัจจุบันก็ยังมีสถานะเป็นพื้นที่ทับซ้อนแต่มีการพัฒนาร่วมกัน เนื่องจากใช้กฎหมายทะเลในลักษณะที่ว่าในเมื่อยังทะเลาะกันไม่จบแบ่งเขตยังไม่ได้ก็เอามาพัฒนาร่วมกันผลประโยชน์หาร 2 ไทยกับมาเลเซียคนละครึ่ง
แต่กรณีอ่าวไทยจะทำแบบเดียวกันหรือไม่ ตนว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำแบบนั้นเพราะใน MOU44 ระบุว่า การเจรจาเขตแดนเหนือเส้น 11 องศาเหนือ และการพัฒนาร่วมใต้เส้น 11 องศาเหนือ แยกจากกันมิได้ (Indivisible Package) คือต้องเจรจาควบคู่กันไป ดังนั้นการจะตกลงกันว่าเรามาพัฒนาร่วมกันก่อนแล้วค่อยพูดคุยเรื่องเขตแดนจึงไม่สามารถทำได้ ทั้ง 2 ส่วนมีผลผูกกัน ไม่สามารถเลือกทำเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่ย้ำว่า MOU44 ไม่ใช่การยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา เป็นเพียงกลไกในการมาพูดคุยกันเพราะมีการอ้างสิทธิ์ทางทะเลซ้อนกัน
“ท่านมองว่าถ้าเกิดการฟ้องร้องกันในอนาคต ศาลโลกจะยึดเอา MOU44 เป็นผลร้ายต่อไทย ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะ MOU44 ไม่ได้ตกลงอะไรกัน มันเป็นการตระหนักว่าเส้นที่คุณอ้างเราไม่ยอมรับถึงต้องพูดคุยกันเท่านั้นเอง มันไม่ได้ไปบอกว่าเรายอมรับเส้นของกัมพูชา ไม่ได้ถูกอ้างเป็นผลร้าย แล้วถ้าสมมุติไม่ใช่ MOU44 นะ ยกเลิก MOU44 แล้วไปเจรจา รัฐบาลจะถูกด่า เขาก็จะบอกว่าอยากได้ผลประโยชน์ทางพลังงานจนตัวสั่นเลยไปเจรจาพัฒนาร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน คือจะไปซ้ายหรือขวาก็โดนด่า เลือกไปทิศที่ถูกต้องดีกว่า” นายนพดล กล่าวย้ำ
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี