“ข้อตกลงปารีส อีก 80 ปีข้างหน้า เราจะไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เขามองว่า 1.5 องศาเซลเซียสจะมาในปี ค.ศ.2033 (พ.ศ.2576) เท่านั้นเอง ด้วยโลกปัจจุบันนี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจาก 80 ปีข้างหน้า ค.ศ.2100 (พ.ศ.2643) มาเป็น ค.ศ.2033 เร็วกว่ากันตั้ง 60 ปี 1.5 องศาเซลเซียสมาแล้ว นอกจากนั้น เขายังบอกว่าจะไปถึง 2 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ.2058 (พ.ศ.2601) ด้วยความเป็นไปได้มากกว่า 86%”
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวในวงเสวนา “ทางรอดกรุงเทพ : วิกฤตน้ำท่วม” ว่าด้วยความพยายามในระดับนานาชาติที่จะสกัดกั้นไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม เพราะจะส่งผลต่อภัยพิบัติต่างๆ บนโลกที่จะทวีความรุนแรงขึ้น โดยทุกๆ 2 ปี รัฐบาลแต่ละประเทศต้องส่งข้อมูลไปที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าได้ทำตามข้อตกลงปารีสหรือไม่?
เมื่อดูที่ประเทศไทย ซึ่งจากการทำงานร่วมกับ IPCC จึงมีข้อมูล จะเห็นว่า “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่” เนื่องจากเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีแนวโน้มมีอุณหภูมิสูงมากหรือมีอากาศร้อนจัด โดยคาดการณ์ว่า ในอนาคตกรุงเทพฯ จะมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส ยาวนานถึง3 เดือนต่อปี จากปัจจุบันที่ในเดือนเมษายนจะอยู่ที่ 15-16 วัน ขณะที่ปริมาณฝนที่ตกในกรุงเทพฯ ในอนาคตจะอยู่ที่ 150-250 มิลลิเมตร
และเมื่อทดลองทำแบบจำลองใน 4 ย่าน คือหัวหมากบางกะปิ ประเวศ และสวนหลวง หากเกิดปรากฏการณ์“ฝน 100 ปี” จะทำให้มีน้ำท่วมในย่านดังกล่าวสูงตั้งแต่ 50 ซม. – 2 เมตร และหากประเมินปริมาณน้ำ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำถึง 300 เครื่อง ซึ่งนี่เป็นเพียงการจำลองเหตุการณ์เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ยังไม่ใช่ทั้งกรุงเทพฯ ดังนั้นหากไม่วางแผนรับมือ กรุงเทพฯ มีเหนื่อยแน่นอน ส่วนปริมาณน้ำเหนือ เมื่อดูลุ่มเจ้าพระยาก็มีแนวโน้มเพิ่มทั้งตอนบนและตอนล่าง เช่นเดียวกับน้ำทะเลหนุนสูง
เมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่บอกว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี เป็นการประเมินจากข้อมูลในอดีต แต่ในอนาคตข้างหน้า น้ำท่วมระดับเดียวกับในปี 2554 จะอยู่ที่รอบ 10 ปี ซึ่งเมื่อหันไปดูนโยบายป้องกันน้ำท่วมของภาครัฐ จะพบว่าเน้นไปที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และบางพื้นที่ที่ต้องเวนคืนที่ดินก็เผชิญกับความขัดแย้งสูงเพราะมีหมู่บ้านจัดสรรอยู่มาก แต่ยังขาดแผนการดำเนินการของภาครัฐเขายังไม่คิดไปถึงลุ่มเจ้าพระยาตอนบน หรือเหนือจาก จ.นครสวรรค์ ขึ้นไป
และเมื่อดูเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง หากไม่ทำอะไรเลยก็จะเห็นสิ่งที่เป็นอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร รวมถึงเขตบางขุนเทียนของกรุงเทพฯ ซึ่งมีหลายมาตรการ เช่น 1.ยกถนนขึ้นเป็นเขื่อนกั้นน้ำ (Flood Dike) เช่น ถนนสุขุมวิท ยกสูงเพิ่มอีก 1.5 เมตร 2.ปิดอ่าวไทยด้วยการสร้างทางด่วน จากเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ถึง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 3..ถมแผ่นดินเป็นเขื่อนกั้นน้ำ (Wide Green Dike)ใช้วิธีถมทะเลและปลูกป่าชายเลนบนพื้นดินที่ถมนั้น กั้นด้วยคันซีเมนต์กันน้ำซึม ถัดเข้ามาอีกชั้นปลูกหญ้าสีเขียวแล้วจึงเป็นแนวถนน เป็นต้น
“ด้วยมาตรการต่างๆ เราศึกษาทุกประเทศแล้ว เขาใช้เวลาดำเนินการ 20 ปี ถามว่าทำไมนานอย่างนั้น? ใช้เวลาทะเลาะกัน 15 ปี และสร้าง 5 ปี อย่าลืมว่าผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียมันมหาศาล อย่างถ้าท่านทำ Flood Dike ฟาร์มจระเข้ต้องมาประท้วงเพราะเขาจะอยู่นอกทันที เขาท่วมแน่ หรือเราจะทำ Wide Green Dike ก็ต้องคุยกับเจ้าของที่ดินอย่างมโหฬารเลย
หรือจะปิดอ่าวแล้วประมงชายฝั่งว่าอย่างไร? น้ำในนี้จะกลายเป็นน้ำจืดมากขึ้น เพราะมีแต่น้ำจืดไหลลงแต่น้ำทะเลไม่เข้าหรือเข้าเป็นบางครั้ง” รศ.ดร.เสรี กล่าวถึงข้อท้าทายในการดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
งานเสวนาครั้งนี้ซึ่งจัดโดย พรรคประชาธิปัตย์ ยังมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีปริมาณฝนตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 201 มิลลิเมตร ซึ่งโชคดีที่บริเวณนั้นอยู่ใกล้คลองแสนแสบทำให้ระบายน้ำได้สะดวก หรือวันที่ 19 ส.ค. 2567 มีฝนตกต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง ปริมาณฝน 126 มิลลิเมตร พื้นที่ฝนตกหนักที่สุดอยู่ที่เขตสะพานสูง
วันที่ 20-21 ก.ย. 2567 ก็พบปริมาณฝนเฉลี่ย 120 มิลลิเมตร และวันที่ 4 ต.ค. 2567 106 มิลลิเมตร สะท้อนภาพฝนที่ตกหนักขึ้นและถี่ขึ้นในกรุงเทพฯ นอกจากนั้นข้อมูลช่วงปี 2566-2567 ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนที่เข้ามาในร่องความกดอากาศต่ำ แม้จะเกิดห่างออกไปอย่างภาคเหนือของไทยหรือเลยขึ้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กรุงเทพฯก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย และหากย้อนไปดูในปี 2565 จะพบว่า สถิติปริมาณฝนในกรุงเทพฯ เดือน ก.ย. 2565 สูงถึง 800 มิลลิเมตร ส่วนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 2,355.5 มิลลิเมตร
สำหรับมาตรการรับมือ สิ่งที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเตรียมการ เช่น การพร่องน้ำล่วงหน้า มีพื้นที่แก้มลิงไว้หน่วงน้ำในช่วงรอการระบายหรือเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ระบบระบายน้ำทั้งแบบตามแรงโน้มถ่วงและการใช้เครื่องสูบน้ำ
มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนมีเวลายกสิ่งของขึ้นที่สูง “แต่ความท้าทายประการหนึ่งคือการระบายน้ำข้ามเขตปกครอง” เช่น จากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.นนทบุรี หรือ จ.สมุทรปราการ จะมีปัญหาเกิดขึ้นตลอด ผู้บริหารของพื้นที่เหล่านี้จึงต้องมาหารือร่วมกันเพื่อตกลงวางหลักการระบายน้ำไว้ล่วงหน้า
“อันนี้มีความจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่พอถึงเวลาแล้วไปขอกรมชลประทาน สูบน้ำไปแปดริ้ว (จ.ฉะเชิงเทรา) เลย น้ำท่วมลาดกระบังตั้งเยอะแยะ การจะสูบไปแปดริ้ว คนแปดริ้วก็ต้องนั่งมอง เขาก็ขีดเส้นแดงไว้ ถ้าหากว่าสูบแล้วเกินเส้นแดงต้องหยุดสูบนะ แล้วยังมีปัญหาอีก ใครจะจ่ายค่าไฟฟ้าเครื่องสูบน้ำ? อันนั้นก็เป็นปัญหาถัดมา ก็คงต้องมีการตกลงกันให้เรียบร้อยว่าเราจะร่วมมือกันอย่างไรในระหว่างข้ามเขตปกครอง ไม่ว่าจะเป็นปากเกร็ด (จ.นนทบุรี) เอาน้ำออกจากแจ้งวัฒนะ (กรุงเทพฯ) ไม่ทัน จะเอามาลงคลองเปรมประชากร ช่วยคนปากเกร็ดได้ไหม?” ชวลิต ยกตัวอย่าง
นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า เรื่องของท่อระบายน้ำ มีข้อมูลว่าการลอกท่อที่อยู่ใกล้บ้านของแต่ละคนในกรุงเทพฯ จะวนกลับมาลอก ณ จุดเดิมทุกๆ 7 ปี แต่ในระหว่างนั้นจะมีขยะอยู่ในท่อเต็มไปหมด ที่สำคัญคือ “ไขมันจากครัวเรือนและร้านอาหาร” ที่ลงท่อไปติดกับตะกอนและขยะต่างๆ ซึ่งทำให้การลอกท่อยากขึ้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีบ่อดักไขมันทุกบ้านและสถานประกอบการ
รวมถึง “การย้ายคนจากบ้านรุกล้ำคลองขึ้นมาอยู่บนขอบคลอง” ที่ได้ทยอยดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ก็ต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร รวมถึงบางพื้นที่ที่มีการต่อต้านก็ต้องเข้าไปทำความเข้าใจ ส่วนเรื่องมวลน้ำที่ลงมาจากทางเหนือ ต้องมีการสร้างและเสริมคันกั้นน้ำ รวมกันทั้งกรุงเทพฯ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี การเบี่ยงน้ำ ซึ่งจะเชื่ยมโยงกับการระบายน้ำข้ามเขตปกครองจากกรุงเทพฯ ออกไปยังจังหวัดปริมณฑล หรือบางช่วงเวลาก็ต้องยอมให้ระบายน้ำผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯซึ่งต้องสอดคล้องกับระบบระบายน้ำที่รับได้
สุดท้ายคือเรื่องน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจากการคำนวณพบว่า ปี 2593 ระดับน้ำทะเลหนุนจะสูงราว 74-78 เซนติเมตร ในลุ่มน้ำท่าจีนเข้าไปลึกได้ถึง จ.สุพรรณบุรี ส่วนลุ่มเจ้าพระยาขึ้นไปสูงได้ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ในจุดที่ติดกับ จ.อ่างทอง ดังนั้น คันกั้นน้ำก็จะต้องสูงขึ้นด้วย รวมถึงต้องทำประตูน้ำปิด-เปิด ทั้งแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยาและบางปะกง หรือยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น การปิดปากอ่าว การพัฒนาเกาะเทียมและเขื่อนกั้นน้ำ การทำกระเปาะแก้มลิงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า นอกจากนักวิชาการทั้ง 2 ท่านข้างต้น ยังมีอีกหลายท่านทั้งในและต่างประเทศที่พูดตรงกันว่า “หากเราไม่ทำอะไรเลย กรุงเทพฯ จมทะเลแน่นอน” และการจัดงานเสวนาครั้งนี้ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นงานของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องการให้ทุกพรรคการเมืองทำแบบเดียวกัน เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัย “ความตั้งใจทางการเมือง (Political Will)” ของผู้มีอำนาจทุกคนในการทำให้กรุงเทพฯ ไม่จม
“ทุกสำนักข่าวทั่วโลกพูดมาเป็นสิบปีว่ากรุงเทพฯ คือหนึ่งในเมืองที่จมน้ำแน่นอนถ้าเกิดไม่ทำอะไร พาไปดูแล้วดูอีก หมุดเลขที่ 28-29 (จุดแบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ กับ จ.สมุทรส
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี