“วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อเมืองอย่างไร? เราได้ยินคำว่า Climate Change (การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ) มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ครั้งนี้เรากำลังพูดถึง Climate Crisis (วิกฤตสภาพภูมิอากาศ) มันต่างกันอย่างไร? เวลาเราพูดถึง Climate Change มันเป็น Long Term (ผลระยะยาว) เราจะมีน้ำน้อยลง จะมีพลังงานหล่อเลี้ยงเมืองได้ยากขึ้น มันจะมีการเปลี่ยนแปลงระยะยาว แต่ใน Climate Change จริงๆ เราจะพูดเรื่อง Crisis (วิกฤต) อยู่ในนั้นด้วย หมายถึง Climate Change อาจทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศบ่อยขึ้นและแรงมากขึ้น”
รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวันผังเมืองโลกพ.ศ.2567 (World Town PlanningDay) เรื่อง Urban Solution forClimate Crisis : เมืองเพื่อการรองรับวิกฤตภูมิอากาศ จัดโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา อธิบายคำว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis)” ปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจาก “การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)” ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงในสังคมเมือง
ทั้งนี้ ในทางสากลมีการตั้งข้อสังเกตว่า “หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผ่านพ้นไป ผู้คนหันมาใช้ชีวิตกันแบบสุดเหวี่ยงราวกับอัดอั้นมานานมีการเดินทางและใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมาก” ทำให้เกิดข้อกังวลจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่า “หากยังใช้ชีวิตแบบนี้กันต่อไป อาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 3.1 องศาเซลเซียส” ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล และทรัพยากรหลายอย่างอาจสูญสลายไป ซึ่งปัจจุบันประชาคมโลกพยายามจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (โดยเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม)
เพราะเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขั้น ชั้นบรรยากาศแปรปรวน นำไปสู่การเกิด “สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event)” เช่น เกิดภัยจากน้ำท่วมและความแห้งแล้งที่รุนแรงได้ง่ายขึ้น ขณะที่เมื่อมาดูความเป็นเมือง จะพบว่า “ไม่ว่าจะพัฒนาเมืองแบบใดล้วนใช้ทรัพยากรจากภายนอกทั้งสิ้น” ทั้งพลังงาน น้ำ ไฟฟ้า อาหาร เพื่อหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ “แต่สภาพอากาศสุดขั้วก็ส่งผลต่อเมือง” เช่น จากเดิมที่เมืองมีอากาศหนาว เคยส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาวได้ ก็อาจไม่หนาวอีกต่อไป คำถามคือแล้วเมืองจะปรับตัวอย่างไร?
“ขณะเดียวกันเมืองก็ไม่หยุดโต การพัฒนาเมือง การเคลื่อนย้ายประชากรมีอยู่ต่อเนื่อง นำมาสู่ความต้องการการใช้น้ำ อาหาร พลังงาน ที่สูงขึ้นเช่นกัน ในขณะเดียวกันเมืองก็มีการโยกย้ายถ่ายเทของเสียออกไปอยู่พื้นที่นอกเมืองมากขึ้น ดังนั้นสมดุลแบบนี้จะได้รับผลกระทบ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เมืองพัฒนาโดยพึ่งตัวเองได้มากขึ้น ในขณะที่เราอาจจะหยุดโลกร้อนไม่ได้” รศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าว
ตัวอย่างผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เมืองในประเทศไทยพบแล้ว เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทำให้น้ำจืดหายากขึ้น ทำให้ในช่วงฤดูแล้งราคาน้ำจืดแพงขึ้น อย่างใน จ.ภูเก็ต ปัจจุบันภาครัฐที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับภาระในส่วนนี้ในการจัดหาน้ำจืดมาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเมือง ซึ่งในอนาคตก็อาจต้องแบกรับมากขึ้น รวมถึงระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการทรุดตัวของถนนริมชายฝั่ง ทำให้ระยะหลังๆ ใน จ.ภูเก็ต เริ่มหาแนวทางที่จะไม่ให้ถนนได้รับความเสียหาย
ขณะเดียวกัน สภาพอากาศที่ร้อนจัดยังส่งผลต่อแรงงานในเมืองที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือการที่ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมก็ส่งผลต่อการคมนาคม เช่นที่เพิ่งเกิดขึ้นใน จ.เชียงราย ในเดือน ก.ย. 2567 กระแสน้ำกัดเซาะจนสะพานข้ามแม่น้ำกกขาด หรือเกิดเหตุดินถล่มใน จ.ภูเก็ต เมื่อเดือน ส.ค. 2567 เป็นต้น ดังนั้น “วิกฤตภูมิอากาศจึงไม่ใช่เพียงประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสุขภาพ” โดยเฉพาะกับประชากรกลุ่มเปราะบาง
“การจัดการขยะ” จะเป็นอีกเรื่องที่ได้รับผลกระทบหากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น เช่น ความร้อนทำให้กองขยะเกิดมลภาวะจากกลิ่นไม่พึงประสงค์ เกิดโรคระบาด เกิดเพลิงไหม้ อนึ่ง “ความรุนแรงของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเมือง มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางธรรมชาติประกอบเข้ากับปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์” เช่น เหตุดินถล่มใน จ.ภูเก็ต ปัจจัยทางธรรมชาติคือฝนตกหนักและสภาพภูมิประเทศที่เป็นหินแกรนิตซึ่งมีอัตราการเกิดดินถล่มสูงที่สุดในประเทศไทยอยู่แล้ว ส่วนปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินส่งผลต่อทิศทางการไหลของน้ำ
หรือเหตุน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปัจจัยทางธรรมชาติคือมีฝนตกหนักถึง 7 ครั้งในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ส่วนปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ คือการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความหนาแน่นมากอีกทั้งเมืองยังขยายตัวรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ระบายน้ำ และนี่คือเหตุผลที่ “การจัดการผังเมืองมีผลต่อการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งในประเทศไทยนั้นมี “แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP)” ที่มี 6 ด้าน ว่าด้วยการปรับตัวของเมือง
“มีทั้งแนวการออกแบบอาคารที่มัน Adaptive (ปรับตัวได้)อยู่ได้ทั้งท่วมและแล้ง ความร้อน เอาน้ำ-ไฟเข้ามาอย่างไร ใช้อย่างไรให้พึ่งพิงภายนอกอาคารให้น้อยที่สุด โจทย์เป็นแบบนั้น แต่สิ่งสำคัญของเมืองเราคือ Climate Urban Resilience Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ) คือโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่กับท่วมและแล้งได้ แล้วก็การวางผังเมือง มาตรฐานอาคารที่สำคัญยิ่งในเมือง” รศ.ดร.วิจิตรบุษบา ระบุ
อีกทั้งประเทศไทยยังมี “ธรรมนูญผังเมือง” ซึ่งใน “ข้อ 15”ระบุว่า “การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงความสำคัญในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งถือเป็น “ต้นน้ำ” หากสิ่งแวดล้อมไม่ดีย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังด้านอื่นๆ ขณะที่ “ข้อ 16” ระบุว่า “การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงการวางแผนการตั้งถิ่นฐานให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากสาธารณภัย” อธิบายแบบง่ายๆ คือจะออกแบบเมืองอย่างไรเพื่อลดผลกระทบให้น้อยลงและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
หรือ “ข้อ 21” ที่ระบุว่า “การวางผังเมืองต้องออกแบบวางผังพื้นที่ กลุ่มอาคาร สิ่งก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม” เป็นต้น ส่วน “การจัดการความเสี่ยงในระดับพื้นที่” สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องรู้คือ 1.การระบุภัย ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน 2.การประเมินความเสี่ยง ต้องรู้ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง เช่น ชนิดของความเสี่ยง โครงสร้างพื้นฐานที่มี ใครบ้างได้รับผลกระทบ 3.การประเมินความเปราะบาง คนในพื้นที่มีความสามารถในปรับตัวมาก-น้อยเพียงใด และ 4.การออกแบบมาตรการ โดยพิจารณาจากข้อมูล 3 ข้อก่อนหน้า
“ทุกวันนี้เรามีการระบุภัยในงานผังอยู่แล้ว เรามีการออกแบบมาตรการที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดี ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราอาจต้องเพิ่มกระบวนการ 2 (การประเมินความเสี่ยง) และ 3 (การประเมินความเปราะบาง)” รศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี