ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลแต่ละวันสูงถึง 25 ช้อนชา หรือ 100 กรัม/วัน ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำคือบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัม/วัน และจากข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดลเมื่อปี 2562 ทำให้ทราบเพิ่มว่า แต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยมากกว่า 3 แก้ว โดยเฉพาะเครื่องดื่มชงเย็นรสหวานอย่าง ชานมไข่มุก กาแฟ หรือน้ำแต่งรสต่างๆ รวมไปถึงน้ำตาลที่ซ่อนอยู่ในอาหารคาว-หวานระหว่างมื้อ ของกินเล่น และน้ำจิ้มต่างๆ ด้วย
จากพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้คนไทยร้อยละ 75 ป่วยและเสียชีวิต จากโรค NCDs และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี มีตัวเลขยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขยืนยันปี 2565 พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 70,000 ราย/ปีเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
“เครือข่ายอ่อนหวานอาหารปลอดภัย” จังหวัดพัทลุง หนึ่งแนวร่วมเข้มแข็งทางภาคใต้ที่ทำงานร่วมกับ“เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” สสส. จนเกิดโครงการ“โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย อ่อนหวาน” มี 11 โรงพยาบาลทั้งจังหวัดร่วมขับเคลื่อนลดการบริโภคน้ำตาลเกินมาตรฐานซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาโรค NCDs
ทพญ.ชนิฎาภรณ์ สอนสังข์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สสจ.พัทลุง เปิดเผยว่าโครงการ “โรงพยาบาลอ่อนหวาน อาหารปลอดภัย” เป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้นำเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการอาหารจังหวัด คณะกรรมการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย และฝ่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคของโรงพยาบาล เกิดการขับเคลื่อนทำงานผ่านเภสัชกรของโรงพยาบาล มีคณะทำงานเป็นเครือข่ายนักโภชนาการ ซึ่งมีความเข้าใจเรื่องอาหาร และส่วนประกอบของน้ำตาล
นอกจากนั้น ยังได้ชักชวนนักสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบเรื่อง NCDs มาร่วมด้วย จนเกิดเป็นงานบูรณาการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายและทุกทุกส่วนงานพร้อมที่จะทำร่วมกัน เนื่องจากเป็นเนื้องานเดิมที่ทำกันอยู่แล้ว แต่เมื่อเอางานของโครงการเพิ่มเข้าไป จึงเกิดเนื้องานที่มีความเชื่อมโยงและทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน
“ทั้งเภสัชกร นักโภชนากรและนักสาธารณสุข ช่วยกันวางแผนออกแบบการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่มีการจัดการอาหารเพื่อสุขภาวะครบวงจร เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นต้นแบบในด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และเริ่มทำกิจกรรมในชุมชน ซึ่งเป็นการต่อยอดกิจกรรมที่แต่ละโรงพยาบาลจะวางแผนและคิดกันเอง” ทพญ.ชนิฎาภรณ์ กล่าว
โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ โรงพยาบาลพัทลุง โรงพยาบาลควนขนุน โรงพยาบาลเขาชัยสน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลป่าบอน โรงพยาบาลบางแก้ว โรงพยาบาลปากพะยูน โรงพยาบาลป่าพะยอม โรงพยาบาลตะโหมด โดยทั้งหมดต้องผ่านเกณฑ์ชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่ ร้านค้าสหกรณ์ในโรงพยาบาลต้องไม่ขายน้ำอัดลม,โรงพยาบาลต้องจัดเมนูอาหารอ่อนหวาน และ เครื่องดื่มหวานน้อยให้แก่ผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 5 เมนู หรือมี เมนูอาหารว่างอ่อนหวาน Healthy Break และต้องประชาสัมพันธ์รณรงค์และชูนวัตกรรมในชุมชน
พัชรีย์ ใหม่พุ่ม นักโภชนาการ โรงพยาบาลควนขนุน เล่าถึงการทำโครงการ “โรงพยาบาลอ่อนหวาน อาหารปลอดภัย” ว่า เริ่มจากการปรับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลก่อน ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องโภชนาการลดหวานมันเค็ม แล้วก็ทำแปลงผักสร้างสุขเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษส่งโรงครัวของโรงพยาบาลและแจกให้เจ้าหน้าที่ไปทานที่บ้าน หลังจากนั้นก็ส่งเสริมเจ้าหน้าที่ปลูกผักทานเองที่บ้าน เมื่อปลูกและมีจำนวนมากจึงเปิดตลาดเขียวทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30-09.00 น. เพื่อขายผักที่เจ้าหน้าที่ปลูก พร้อมกับรับประกันขายผักทุกครั้ง ถ้าขายไม่หมดก็จะมีคณะกรรมการซื้อผักทั้งหมดไว้เองส่วนผักที่ปลูกก็จะมีฟักเขียว ถั่วฝักยาว กวางตุ้ง ผักกาดขาว พริก ฟักทอง ต้นหอม ผักบุ้งจีน เป็นต้น
หลังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของเจ้าหน้าที่ เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เช่น จากที่เคยทานอาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มต้องหวานร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า ปัจจุบันเปลี่ยนมาทานหวานลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยเบิกกาแฟทรีอินวันมาทาน ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเบิกกาแฟดำมาทานแทน
“ที่ผ่านมาเราอาจจะละเลยในเรื่องนี้ จึงกลับเน้นการส่งเสริมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลก่อน และต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพกันใหม่ ตลอด 2 ปีที่ทำโครงการฯ เห็นได้ชัดว่าทุกคนเปลี่ยนไปและมีสุขภาพดีขึ้นมาก และก็จะมีคณะกรรมการของ DPAC คอยตรวจเช็คสภาพร่างกายของเจ้าหน้าที่ ตรวจแล้วไม่ผ่านก็จะต้องไปเข้าค่ายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน มัน เค็ม จึงเหมือนกึ่งบังคับไปในตัว ยิ่งทำให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น” นักโภชนาการ พัชรีย์ กล่าว
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกรมอนามัย และผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวเสริมและสนับสนุนที่เกิดการปรับพฤติกรรมสุขภาพของเจ้าหน้าที่ เป็นแรงส่งให้เกิด Role Model หรือโรงพยาบาลต้นแบบว่า ถ้าโรงพยาบาลทำได้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะไม่ว่าโรงพยาบาลเล็กหรือใหญ่ก็ไม่ควรบอกว่า ทำไม่ได้ และถ้ามีบุคลากรร่วมมือทำกันมากขึ้นแล้วโรงพยาบาลผ่านเกณฑ์นี้ไปได้ ก็จะเกิดต้นแบบในส่วนของโรงพยาบาลให้เห็นเพื่อเป็นตัวอย่างให้โรงพยาบาลอื่นๆ ทำตาม
“การทำงานในโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคนตั้งแต่ระดับคนสวน หมอ ไปถึงผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าคนตั้งแต่ระดับบนสุดถึงล่างสุดทำได้ก็จะเป็นตัวอย่างให้รู้ได้อย่างดีว่า ถ้าบุคลากรในโรงพยาบาลทานอ่อนหวานแล้วใช้ชีวิตปกติได้ คนทั่วไปก็สามารถทำได้เช่นกัน พอคนเริ่มชินก็เริ่มขยับไปเอาน้ำอัดลมออกจากโรงพยาบาล จนทำให้เป็นเรื่องปกติและยิ่งมีคนพูดถึงเรื่อง lifestyle medicine และชะลอวัยมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการปฏิเสธความหวานมากขึ้นตามไปด้วย” ทพญ.ปิยะดา กล่าว
นอกจากนั้น ทพญ.ปิยะดา ยังได้กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งตัวอย่างของโรงพยาบาลที่ผู้บริหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างชัดเจนคือโรงพยาบาลพัทลุง นอกจากจะปรับที่บุคลากรในองค์กรแล้ว ผู้บริหารยังห้ามขายน้ำอัดลมในร้านค้าสหกรณ์ของโรงพยาบาลด้วย รวมไปถึงร้านกาแฟอ่อนหวานที่อยู่ในโรงพยาบาลก็จัดโปรโมชั่นสร้างแรงจูงใจให้ทานหวานน้อยลง ด้วยโปรโมชั่นสั่งกาแฟหวานน้อยลด 2 บาท
เสาวนีย์ จินดารักษ์ เจ้าของกาแฟสปันจ์ ที่จัดโปรโมชั่นสั่งกาแฟหวานน้อยลด 2 บาท กล่าวว่า สปันจ์ เป็นร้านแฟที่อยู่ในโรงพยาบาลพัทลุงมานาน และพร้อมสนับสนุนทุกกิจกรรมที่โรงพยาบาลจัดขึ้น และโดยปกติแล้วร้านส่งเสริมให้ลูกค้าทานหวานน้อยอยู่แล้ว จึงจัดกิจกรรมสนับสนุนลดให้ 2 บาทแก่ลูกค้าที่สั่งหวานน้อย ปรากฏว่า มีลูกค้าจำนวนมาก แต่ถ้าลูกค้าไม่สั่งหวานน้อยเราก็จะถามนำเพื่อเชิญชวนเพราะอยากให้เขาได้ทานหวานน้อย
“เราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องขาดทุนหรือกำไร เพราะความตั้งใจเมื่อทำร้านกาแฟในโรงพยาบาล เรารู้อยู่แล้วว่าลูกค้าเป็นผู้ป่วย ญาติ หรือคนสูงอายุ จึงไม่ตั้งราคาสูง การจัดโปรโมชั่นก็เพราะต้องการให้ลูกค้าทานหวานน้อยลง ดีต่อสุขภาพเขาเอง นอกจากโปรโมชั่นซึ่งได้รับความนิยมแล้วก็คิดว่าจะคิดโปรโมชั่นอื่นต่อไปเพื่อให้เกิดแรงจูงใจสั่งหวานน้อยมายิ่งขึ้น” คุณเสาวนีย์ กล่าว
นพ.กวิน กลับคุณ รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) สสจ.พัทลุง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การจัดโปรโมชั่นจูงใจแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีมากที่เอาเศรษฐกิจใกล้ตัวมากระตุ้น สร้างแรงจูงใจให้คนที่ไม่เคยทานหวานน้อยสนใจ อนาคตก็อยากให้มีโปรโมชั่นเพิ่มให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนสมัยนี้ อาจจะเป็นการสะสมแต้ม หรือการเอาแก้วมาเองและสั่งหวานน้อยลด 5 บาท ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ทางร้านต้องไปคิดต่อยอดต่อ
“ผมว่าเราต้องทำงานแบบบูรณาการกับโรคปัจจุบันให้ได้ว่า น้ำตาลมีข้อเสียอะไร ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายไหน อย่างกลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มวัยทำงานก็คาดว่าจะมีเยอะ รวมถึงกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น แล้วกลุ่มไม่ว่าจะผู้หญิงหรือชาย เรื่องความสวยงามมีผลกับเขาเยอะ ก็เอาเรื่องความสวยความงามเข้ามาคุยว่า ตัวอันตรายคือ น้ำตาล เขาอาจจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้นก็ได้ ก็เป็นการบูรณาการการทำงานแบบใหม่ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและวิถีคนในปัจจุบัน” นพ.กวินกล่าวในตอนท้าย
เห็นได้ชัดว่า เพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบัน การจะชักชวนให้คนดูแลสุขภาพโดยเฉพาะลดน้ำตาล จึงต้องหาวิธีการรูปแบบใหม่เพื่อดึงดูดใจให้เกิดการตระหนัก เพราะในกลุ่มที่ยังถึงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะใช้ชีวิตแบบไม่ระวังตัวแต่ขณะนี้ทุกคนเข้าสู่เบาหวานได้เร็วขึ้น อายุ 30 ปี ก็เริ่มเป็นเบาหวานแล้ว และเบาหวานเกิดจากการกินน้ำตาลเกิน ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการแบบใหม่อาจจะช่วยให้เกิดผู้ทานอ่อนหวานหน้าใหม่มีมากเพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี