นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ : ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย
นพ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็นสุรากับเรื่องสุขภาวะของคนไทยก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจะสะท้อนถึงความหลากหลายของความคิดเห็นในสังคม ทั้งซึ่งการปรับเพิ่มกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และการผ่อนปรนกฎหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่ การให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนจึงควรเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายสาธารณะ เมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดีเศรษฐกิจก็จะเติบโตตามมาเองในระยะยาว
“มีหลายประเด็นที่ต้องแสดงข้อห่วงใย โดยเฉพาะเรื่องการขยายเวลาจำหน่าย และการควบคุมการโฆษณาออนไลน์ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกการตัดสินใจมาจากหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง หรือแม้แต่การมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมสุราเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นการให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้ามาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องแก้ไข 1.การโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ข้อจำกัดเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 3.การออกใบอนุญาตขายสุราเป็นจำนวนมากโดยไม่มีนโยบายจำกัดการออกใบอนุญาต ทำให้ไม่สามารถบรรลุเจตนารมณ์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ 4.เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชน ทั้งการกำหนดหน้าที่ของผู้ขาย ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค 5.ยกเลิกบทลงโทษอาญาในบางกรณี โดยบัญญัติเป็นโทษปรับทางปกครอง หรือการทำงานบริการสังคม หรือเพื่อสาธารณประโยชน์แทน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ และอาชญากรรม มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ มีอิทธิพลต่อการผลิต การตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมสุราอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการสั่งซื้อและจัดส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การเติบโตและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ และแนวคิดที่เปลี่ยนไปของกลุ่มคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่า การมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สามารถควบคุมเรื่องเหล่านี้ได้ แม้ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่ถือเป็นผลประโยชน์สาธารณะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี