ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ “สุขภาพและการเข้าถึงยา : เมื่อเศรษฐกิจ ชีวิต และสุขภาพมีผลต่อแรงงานนอกระบบ” เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีวิทยากรหลายท่านร่วมให้มุมมอง อาทิ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าถึงการเก็บข้อมูลการทำงานของแรงงาน 2 กลุ่มประกอบด้วย
1.มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 93) เป็นวัยทำงานตอนปลาย อายุ 46-59 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 43) รองลงมาคือวัยทำงานตอนกลาง อายุ 36-45 ปี (ร้อยละ 32.5) มีระดับการศึกษาอยู่ที่มัธยมต้นมากที่สุด (ร้อยละ 35.8) รองลงมาคือระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 32.8) และมีจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี
สภาพการทำงาน พบเกือบ 3 ใน 4 (ร้อยละ 72.3) ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด (7 วัน/สัปดาห์) เวลาทำงานต่อวัน พบว่า มากที่สุดคือ 14 ชั่วโมง (ร้อยละ 23.3) รองลงมา คือ 12 ชั่วโมง (ร้อยละ 18.5) และ 10 ชั่วโมง (ร้อยละ 14.2) พฤติกรรมการใช้สารเสพติด พบว่า ในส่วนของบุหรี่ ส่วนใหญ่ไม่สูบ (ร้อยละ 59) แต่รองลงมาจะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คือสูบตั้งแต่ 10 มวนขึ้นไปต่อวัน (ร้อยละ 31) ขณะที่ในส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่ไม่ดื่ม (ร้อยละ 55.3)รองลงมา คือ ดื่ม 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 24)
การวิ่งรถในแต่ละวัน ส่วนใหญ่ได้ระยะทาง 100-150 กิโลเมตร (ร้อยละ 47.3) รองลงมาต่ำกว่า 100 กิโลเมตร (ร้อยละ 37.5) ด้านการเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยประสบอุบัติเหตุ (ร้อยละ 43.4) รองลงมาคือเคยประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย (ร้อยละ 38.3) โดยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หลักๆ แล้วจะใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่หากค่ารักษายังไม่เพียงพอก็จะใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาท) เพิ่มเติม
การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย พบว่า การเจ็บป่วยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ การตากแดดและฝน (ร้อยละ 66.5) เช่น เป็นหวัด ปวดเมื่อย ดังนั้น จึงนิยมซื้อยากินเองและพักผ่อนอยู่กับบ้าน (ร้อยละ 68) กับ 2.ไรเดอร์ส่งอาหาร ซึ่งเก็บข้อมูลในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พบว่า 1 ใน 3 ของไรเดอร์ เคยประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก และเกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง พบใช้เวลาการทำงานสูงถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ที่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
โดยแรงกดดันที่ทำให้ไรเดอร์ต้องทำงานต่อวันเป็นเวลานาน ซึ่งส่งผลต่อสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ มาจากจำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มมากขึ้นบวกกับระบบการจ่ายงานของแอปพลิเคชั่น ส่วนการใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลจะเหมือนกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อนึ่ง แม้จะมีบริษัทแพลตฟอร์มไรเดอร์บางเจ้ามีการทำประกันชีวิตให้ไรเดอร์ แต่ก็ให้บนเงื่อนไขบางอย่าง ในขณะที่การเจ็บป่วยทั่วๆ ไปจะซื้อยากินเองและพักผ่อนอยู่กับบ้าน
“อาจมีบางคน มีจำนวนไม่มากที่ทำงานนี้เป็นอาชีพเสริม เขาก็อาจมีการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมอยู่บ้าง ในมาตรา 33 แต่มาตรา 40 ไม่ค่อยมีทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างและไรเดอร์ ถามว่าทำไมไม่เข้า? เขาก็บอกว่าไม่ค่อยจูงใจเท่าไร และรู้สึกว่าเป็นภาระพอสมควรในการจ่ายประกันตน แม้จะทำได้ง่าย ผ่านร้านสะดวกซื้อก็ทำได้ แต่เขารู้สึกว่าพอมาพิจารณาแล้วสิ่งที่จะได้รับกลับคืนมามันไม่ค่อยคุ้มกับการลงทุน” อรรคณัฐ กล่าว
สมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งทำงานกับ “คนไร้บ้าน” ที่มี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ข้อมูลเฉพาะในกรุงเทพฯ ตามการสำรวจเมื่อปี 2566มีอยู่ราว 1,300 คน มีความเสี่ยงป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บสูงเพราะเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภค เช่น ห้องน้ำ หรือโรคผิวหนังที่มีผลมาจากการนอนรวมถึงโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะใช้ชีวิตในที่สาธารณะจึงมีโอกาสเผชิญกับมลพิษ ฝุ่นควันต่างๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป และมักเข้าไม่ถึงสิทธิ์การรักษา เพราะแม้จะมีสิทธิ์แต่สิทธิ์ก็อยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งเนื่องจากไม่ได้ย้ายชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านในพื้นที่ที่อาศัย
ขณะที่สภาพการทำงาน คนไร้บ้านหากได้งานทำก็จะเป็นการที่ไม่มีสภาพการจ้างที่แน่นอน เช่น ตรงไหนมีการก่อสร้างแล้วคนงานไม่พอก็จะมาจ้าง นอกจากนั้นการไม่มีสภาพการจ้างที่เป็นระบบก็ทำให้ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงด้วยตนเองจากการเกิดอุบัติเหตุ และการเข้าไม่ถึงสิทธิ์การรักษาพยาบาลไม่ว่ารูปแบบใดๆ (ประกันสังคม, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ทำให้คนไร้บ้านจำเป็นต้องซื้อยากินเอง หรือแม้แต่ใช้ยาที่ได้รับบริจาค ที่น่าห่วงคือ จำนวนคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะนั่นหมายถึงการมีโรคประจำตัวหรือภาวะสมองเสื่อม
“เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เขาไม่ได้รู้หรอกว่ากินยาแบบไหนถูกวิธี แต่เขากินตามอาการของเขา หรือสิ่งที่จำเป็นที่พรุ่งนี้เขาจะมีงานอีก อย่างเวลาเขาป่วย อาจจะมีปวดหัวตัวร้อน เขาไม่รู้ว่าต้องกินยาตามน้ำหนัก เช่น 2 เม็ดผ่านไป 3 ชั่วโมงยังไม่ดีขึ้น เพิ่มจาก 2 เป็น 4 เม็ดอย่างนี้ อันนี้แค่ไข้หวัดนะ บางทีไม่แน่ใจว่าจากการกินอาหารไม่ตรงเวลาหรือกินอาหารที่เขารับแจกมา อาจจะเริ่มเสียแล้วแต่เขากิน ไม่แน่ใจว่าอาหารเป็นพิษหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็ใช้วิธีมียาอะไรอยู่ในมือก็กินไว้ก่อนเพื่อบรรเทา อันนี้คือเรื่องการเข้าถึงและไม่เข้าใจระบบสุขภาพและการใช้ยา” สมพร ระบุ
สมพร เล่าต่อไปว่า ยังมีคนไร้บ้านอีกกลุ่มคือ 2.กลุ่มที่อยู่ในศูนย์พักคนไร้บ้าน เช่นที่ จ.ปทุมธานี ที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ รวมถึงโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง ในย่านหัวลำโพง กรุงเทพฯ หลายคนเป็นผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ซึ่งแม้จะเข้าถึงยาแต่ก็พบปัญหาการได้รับยาต่อเนื่อง เช่น บางครั้งไม่มีค่าเดินทางไปโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมาย อย่างไรก็ตาม คนไร้บ้านกลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพมากกว่ากลุ่มแรก เพราะศูนย์พักคนไร้บ้านทำงานประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ อาทิมีการจัดวันตรวจสุขภาพ
พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพกล่าวว่า คนไทยโชคดีกว่าอีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเพราะมีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาพยาบาลคือการป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพยังทำงานในส่วนนี้ได้น้อย กระทั่งในปี 2566 ที่เริ่มจัดโครงการตรวจสุขภาพลูกจ้างทำงานบ้านราว 300 คนพบข้อมูลที่น่าตกใจ เช่น มีไขมันในเลือดสูง นอกจากนั้น ราวร้อยละ 40 ยังมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากลูกจ้างทำงานบ้านส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง
ขณะเดียวกัน สภาพการทำงานของแรงงานระบบ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่ราว 20 ล้านคนชีวิตต่อวันและต่อเดือนอยู่กับการทำงานในระดับที่แทบไม่มีวันหยุดหรือเวลาพัก หรือกลุ่มที่ต้องขับขี่ยานพาหนะหลายครั้งต้องกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ซึ่งการใช้เวลาชีวิตไปกับการทำงานนั้นเชื่อมโยงกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเศรษฐกิจไม่ดี แรงงานต้องทำงานหนักแทบไม่ได้หยุดพัก ย่อมส่งผลต่อสภาพร่างกายที่ทรุดโทรม มีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าให้ต้องมาไล่ทำการรักษา แต่ครั้นจะไปโรงพยาบาลก็ลังเลเพราะหยุดงานเท่ากับขาดรายได้ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
“เราต้องทำ 2 เรื่องในเวลาเดียวกัน ทั้งเรื่องของสุขภาพ การใช้ยา การป้องกันเป็นเรื่องหนึ่ง กับเรื่องของการทำงานว่าเราจะทำอย่างไรที่เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของเรา เราถึงจะป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งก็แปลว่าเราต้องมีค่าแรงที่สูงขึ้น มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เวลาการทำงานที่ลดลง เราดีใจที่ปีนี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พูดเรื่องเศรษฐกิจกับสุขภาพ เพราะว่าอันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึง” พูลทรัพย์ กล่าว
กชพร กลักทองคำ ประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวถึงกลุ่ม “คนรับงานไปทำที่บ้าน” ว่า ในขณะที่ปัญหาเดิมๆ ทั้งค่าตอบแทน ต้นทุน ชั่วโมงการทำงานและสุขภาพ ยังคงดำรงอยู่ ก็มีปัญหาใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในปัจจุบันคือสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไปแต่มาตรการคุ้มครองตามไม่ทัน บวกกับการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกแต่คุณภาพต่ำจากประเทศจีนผ่านแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ ทำให้กลุ่มคนรับงานไปทำที่บ้านกลายเป็นคนว่างงาน เพราะคนที่เคยจ้างงานก็หันไปนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมาขาย
และแม้จะมีการขึ้นค่าจ้างหรือค่าตอบแทน แต่ ณ ปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะดีใจได้อย่างในอดีตเนื่องจากต้นทุนในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้น รายได้ในความเป็นจริงจึงลดลง ซึ่งปัญหาสุขภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยาหรือไม่ แต่อยู่ที่รายได้ของคนทำงาน เพราะการมีรายได้น้อยทำให้ไม่สามารถเข้าไปรับบริการตามระบบที่มีได้ เช่น ไปโรงพยาบาลต้องรอนานกว่าจะได้พบแพทย์
“ความเครียดมีอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องไปนั่งรอรับบริการ เราจะเกิดความเครียดสะสมเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นเราเลือกที่จะซื้อยาเพื่อประทังไม่ใช่รักษา เพื่อประทังเท่านั้นเอง อีกส่วนหนึ่งเราคิดว่าสุขภาพของพวกเรามันมาจากหลายๆ ส่วน เราเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงาน และเกิดจากงานของเพื่อนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย ถ้าใครอยู่ต่างจังหวัดหรือชานเมือง อยู่ใกล้คนทำนาทำสวนจะรู้ดี คนที่ทำนาก็ฉีดยาฟุ้งไป อาหารก็ดี พอเรามีรายได้น้อย ที่บอกว่าครบ 5 หมู่ไม่ต้องพูด เอาแค่ครบ 3 มื้อพอ แต่คุณภาพอยู่ตรงไหนเราไม่รู้” กชพร กล่าว
ในมุมของภาครัฐ นาวิน ธาราแสวงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบ กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเรียกแรงงานนอกระบบว่าแรงงานอิสระ ตามสภาพการทำงานที่ไม่มีนายจ้าง ขณะที่ผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม หากเป็นมาตรา 33 สำหรับแรงงานในระบบ จะมีสิทธิประโยชน์ครบถ้วนและมีการปรับปรุงคุณภาพอยู่เสมอ เช่นเดียวกับมาตรา 39 สำหรับอดีตแรงงานในระบบที่ออกมาเป็นแรงงานนอกระบบแล้วยังคงสมัครใจส่งเงินสมทบต่อเนื่อง
ส่วนมาตรา 40 นั้นเกิดขึ้นมาสำหรับคนที่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งไม่เคยเข้าไปเป็นแรงงานในระบบมาก่อน และสามารถส่งเงินสมทบได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ก็ยอมรับว่าได้รับเสียงสะท้อนมาพอสมควรเรื่องสิทธิประโยชน์ยังไม่จูงใจมากพอให้สมัครเป็นผู้ประกันตน ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้น ขณะที่ทางกระทรวงแรงงานก็รอให้ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ เข้าสู่การพิจารณาในกระบวนการของรัฐสภา
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือ การส่งเสริมการรวมของกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือแรงงานอิสระ ซึ่งแม้ในทางปฏิบัติจะมีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้วเพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายรองรับ และหากกลุ่มมีสถานะทางกฎหมายก็จะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามมา เช่น การขอทุนทำโครงการส่งเสริมสุขภาพหรือเพิ่มศักยภาพสมาชิกในกลุ่ม คล้ายกับกลไกสนับสนุนภาคีเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงมีกองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ หนึ่งในนั้นคือเพื่อการจัดหาหลักประกันความมั่นคงของแรงงานอิสระ
“ไรเดอร์นี่บังคับเข้ากองทุนเลย บริษัทแพลตฟอร์มเขามีการจัดประกันให้ก็จริงแต่ไม่ทั่วถึง ไม่ใช่ไรเดอร์ของเขามีประกันทุกคน เขามีเงื่อนไข แต่ถ้ากฎหมายเกิดขึ้นไรเดอร์ทุกคนจะเป็นสมาชิกกองทุน และกองทุนจะเป็นคนจัดหาประกันให้ ฉะนั้นก็จะทำให้ท่านเข้าถึงถ้าเกิดประสบอุบัติเหตุ ต่อไปถ้ากองทุนเติบโตก็อาจจะขยายเป็นประกันสุขภาพ ก็จะทำให้ท่านเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้มากขึ้นและเป็นหลักประกันว่าไรเดอร์ทุกคนได้ ไม่ใช่เป็นบางคนที่ทำตามเงื่อนไขของเขาถึงจะได้” นาวิน กล่าว
ปิดท้ายด้วย พญ.ดร.สุธี สฤษฎิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนาตั้งข้อสังเกตว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีโอกาสมากในการตรวจคัดกรองสุขภาพ อย่างในปี 2566ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งเป้าหมายว่าจะมีประชาชนเข้ารับบริการ 1 ล้านคน แต่เอาเข้าจริงหลายคนไม่มารับบริการ บ้างกลัวเสียเวลาทำมาหากิน หรือบ้างก็กลัวจะรับรู้ว่าตนเองเป็นโรคอะไรบางอย่าง หรือบ้างก็เชื่อว่าตนเองแข็งแรงดีคงไม่เป็นอะไร ซึ่งจริงๆ คนเรานั้นไม่ป่วยคือเรื่องดี แต่โรคบางโรคเราสามารถรู้ความเสี่ยงก่อนมีอาการป่วยได้หากไปตรวจ
ซึ่งมุมหนึ่งในขณะที่เรามองหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่อีกมุมหนึ่งลองคิดว่าหากตนเองป่วยขึ้นมาจะทำอย่างไร ยิ่งเป็นแรงงานนอกระบบที่มีรายได้แบบวันต่อวันหรือตามชิ้นงานที่ทำได้ หลายคนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายชีวิตในบ้าน ในฐานะที่เป็นแพทย์ไม่อยากให้ใครป่วย ดังนั้น การตรวจคัดกรองสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อดูว่าสถานะทางสุขภาพของเราเป็นอย่างไร
“แต่ละวัยมันมีความเสี่ยง วัยรุ่นก็มีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเพศสัมพันธ์ บุหรี่ แอลกอฮอล์ผู้หญิงก็มีความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก มันสามารถป้องกันได้ บางโรคมันป้องกันได้ มันอยู่ที่พฤติกรรมว่าเราจะดูแลอย่างไร NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) เจอเยอะมาก ส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งที่เราหาทำ ไม่ว่าจะกินหวาน มัน เค็ม สมัยหมอเล็กๆ ได้ยินว่าผงชูรสต้องใส่แค่ปลายนิ้วก้อย เดี๋ยวนี้เคยเห็นในยูทูบ ในเฟซบุ๊ก เคาะใส่กะละมัง ไม่ใช่น้ำตาล นั่นคือผงชูรสซึ่งมีโซเดียม ทำไมเรานิยมกินปลาหมึกดิบ แล้วเราก็เผยแพร่ บอกแซ่บ เชื่อไหมว่าพวกนี้มันส่งผลถึงเรา” พญ.ดร.สุธี ยกตัวอย่าง
พญ.ดร.สุธี ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มโรค NCDs คนส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองไม่น่าจะเป็น เช่น หลายคนคงไม่คิดว่าตนเองจะเสี่ยงเป็นโรคไตแต่จากที่เคยสอบถามผู้ป่วยโรคไต พบว่าก่อนจะเป็นโรคไตก็มีอาการของโรคความดันและโรคเบาหวาน และเมื่อถามอีกก็ทราบว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมกินอาหารรสหวานและรถเค็ม ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือดที่อยู่ทั่วร่างกาย เชื่อมต่อทั้งสมอง หัวใจ ไต ฯลฯ
หากไม่ควบคุมที่หลอดเลือด วันหนึ่งอาจป่วยมีอาการแขนใช้การไม่ได้ จากที่เคยขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของได้ ก็อาจทำไม่ได้แม้แต่ใช้แขนข้างนั้นจับช้อนตักข้าวกิน หรืออาจถึงขั้นตาบอดหรือต้องตัดขา ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพและการดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ และเอาเข้าจริงๆ แล้วความเสี่ยงของโรคเหล่านี้มีได้ตั้งแต่อายุ 15 ขึ้นไป
และยิ่งเมื่ออายุล่วงเข้า 60 ปี โรคอื่นๆ ก็จะตามมา เช่น ภาวะสมองเสื่อม หลายคนมองว่าอาการหลงๆ ลืมๆ เป็นเรื่องปกติของคนแก่ ก็ไม่ได้พาพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ไปตรวจ และที่ปรากฏในข่าวประเภทจำอะไรไม่ได้ เดินไปหลงทางอยู่ในที่ห่างไกลจนกลับบ้านไม่ได้ นั่นคือเรื่องจริง หรือบางคนทำงานเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต วันหนึ่งกลับจำไม่ได้ว่ารหัสบัตร ATM ของตนเองคืออะไร กลายเป็นแม้จะมีเงินแต่ไม่สามารถใช้เงินได้
“ถ้าเราไม่ดูแลตัวเราเอง อุตส่าห์เก็บเงินรวยสิบล้าน ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นทุกอย่างเราต้องป้องกันได้” พญ.ดร.สุธี ฝากข้อคิด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี