“กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เที่ยวสนุก แต่เป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้คนที่อยู่อาศัยต้องเหน็ดเหนื่อยในการใช้ชีวิต เพราะอุปสรรคปัญหาต่างๆ มากมายเยอะเหลือเกิน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้หาเสียงไปกับ 212 นโยบาย แต่พอเข้ามาทำงานจริงพบว่าปัญหาที่มีอยู่เยอะมาก จาก 212 นโยบาย งอกมาเป็น 226+ เพราะไม่รู้ว่าจะมีนโยบายไหนงอกออกมาอีกบ้าง”
อาทิตยา บุญยรัตน์ ทีมสื่อสารกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “Empowering Connections with Data: สื่อสารข้อมูลผ่านVisual เพื่อกลุ่มคนหลากหลาย”ถึงการทำงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมผู้บริหารของ กทม. ตลอด 2 ปีกว่าๆที่ผ่านมา ภายใต้กรอบนโยบาย “9 ด้าน 9 ดี” อย่างไรก็ตาม “เมืองจะพัฒนาได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน” ดังนั้นหลักการสื่อสารนโยบายคือต้องมองประชาชนเป็นที่ตั้งและดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเมือง หรือก็คือการเป็น “พลเมือง” เป็นหุ้นส่วนของเมือง
ซึ่ง กทม. ใช้ช่องทางที่หลากหลายในการสื่อสารกับประชาชน ทั้งการจัดทำเว็บไซต์ เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และโดยเฉพาะ “ทราฟฟี่ฟองดู (Traffy Fondue)” แพลตฟอร์มที่เปิดให้ประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนพร้อมแจ้งความคืบหน้าว่าแต่ละเรื่องที่ร้องเข้ามาดำเนินการไปถึงขั้นใด หรือต้องส่งต่อไปยังหน่วยงานใดหากเรื่องนั้นไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. โดยตรง
การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานThe Visual Talk Data is All Around จัดโดยไทยพีบีเอส เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. 2567 อาทิตยา เล่าว่า ทราฟฟี่ฟองดู ถูกพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ตั้งแต่เมื่อราว 6-7 ปีก่อน และมีหลายจังหวัดสนใจนำไปใช้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ของตนเอง สำหรับ กทม. นั้น หลังจากที่นำมาใช้ได้ประมาณ 2 ปีกว่าๆ มีประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 7.4 แสนเรื่องซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้มุมมองว่า เป็นเพราะชาว กทม. เชื่อว่าเมื่อร้องเรียนเข้ามาแล้วจะได้รับการแก้ไข
“ทราฟฟี่ฟองดูยังช่วยให้ผู้ที่ส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาสามารถติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ทำงานแก้ปัญหาให้เขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการสื่อสารแบบเรียลไทม์ถ้าเจ้าหน้าที่ขาดข้อมูลก็ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคนที่ส่งเรื่องร้องเรียนมาได้ และเมื่อแก้ไขปัญหาเสร็จมีการปิดเรื่อง ประชาชนสามารถให้เรตติ้งการทำงานเจ้าหน้าที่ ถ้ามีโอกาสเข้าไปดูจะเห็นมีการให้เรตติ้งด้วยว่า ข้อมูลจากที่เราได้มาเห็นเลยว่าเขตไหนทำงานดีที่สุด และเรายังสามารถกรองได้ด้วยว่าปัญหาที่คนร้องเรียนเข้ามามีเรื่องไหนเป็นปัญหาเยอะที่สุด” อาทิตยา ระบุ
นอกจากทราฟฟี่ฟองดู กทม. ยังมีแพลตฟอร์ม“บางกอกทรี (Bangkok Tree)” ซึ่งเป็นโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ที่ กทม. ต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง และลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยตอนแรก กทม.ตั้งเป้าหมายว่าจะครบ 1 ล้านต้น ในปี 2568 แต่ ณ เดือน พ.ย. 2567 พบว่ายอดปลูกต้นไม้เกินเป้าไปแล้ว โดยอยู่ที่กว่า 1.2 ล้านต้น แพลตฟอร์มบางกอกทรี จะแสดงความหนาแน่นของต้นไม้ในแต่ละเขตของ กทม. และจุดรับต้นไม้ไปปลูกสำหรับประชาชนที่สนใจอยากมีส่วนร่วม
รวมถึงแพลตฟอร์ม “กรีนเนอร์ บางกอก (Greener Bangkok)” ที่รวมหลายโครงการของ กทม. เช่น “บีเคเค ฟู้ดแบงก์ (BKK Food Bank)” โครงการที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยรวบรวมอาหารส่วนเกิน แจกจ่ายให้ผู้เปราะบางฟรีในรูปแบบเหมือนมินิมาร์ท ซึ่งผู้รับสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการได้เอง เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับรู้สึกมีคุณค่าและมีความภาคภูมิใจ
อาทิตยา อธิบายว่า การออกแบบโครงการที่ให้ผู้รับสามารถเลือกสิ่งของที่จะรับบริจาคได้ ทำให้ผู้รับมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ซึ่งในช่วงเวลา 1 ปีหลังจากที่ กทม. เริ่มดำเนินโครงการ มีประชาชนและองค์กรต่างๆ ร่วมบริจาคสิ่งของเข้ามาเป็นจำนวนมาก ได้กระจายสิ่งของไปถึงมือกลุ่มคนเปราะบางแล้วกว่า 1 แสนคน หรือหากเทียบเป็นมื้ออาหารจะอยู่ที่กว่า 3 ล้านมื้อ
เช่นเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีหมวด “How to ทิ้ง” ให้ความรู้การทิ้งขยะชนิดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 144 ชนิดแล้ว เช่น ถุงแกง ขวดพลาสติก ขวดสเปรย์ กล่องกระดาษ ฯลฯ และหลายชนิดยังแยกย่อยๆ เช่น ขวดสเปรย์น้ำหอม ขวดสเปรย์สีหรือสารกำจัดแมลง ขวดสเปรย์ที่เป็นโลหะ เป็นต้น รวมถึงโครงการ “ไม่เทรวม” สืบเนื่องจาก กทม. ต้องใช้งบประมาณปีละ 8 พันล้านบาทในการกำจัดขยะ ขณะที่ผู้อาศัยใน กทม. สร้างขยะวันละ 8,700 ตัน
ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่สามารถทำได้ให้ช่วยแยกขยะ ซึ่งในส่วนของขยะอินทรีย์สามารถกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร นำไปเป็นอาหารให้กับหนอนแมลง BSF (Black Soldier Fly) โดยวงจรชีวิตจะอยู่ที่ 14 วัน วางไข่แล้วก็ตาย ซึ่งหนอน BSF ยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์อย่างไก่และปลาได้ ส่วนเปลือกของผักและผลไม้ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมมาจากตลาดสด จะถูกนำไปทำปุ๋ยหมัก และความภูมิใจของ กทม. คือในปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถประหยัดงบประมาณกำจัดขยะไปได้ 141 ล้านบาท
จากความสำเร็จข้างต้น กทม. จึงตั้งใจต่อยอดสู่โครงการ “ร้านนี้ไม่เทรวม” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับภาคเอกชนคือ Line Man Wongnai เปิดลงทะเบียนร้านอาหารทุกประเภท (รวมถึงสถานบันเทิงอย่างผับ บาร์ คาราโอเกะ) ในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมมือกับ กทม. ในการแยกขยะจากการประกอบอาหาร ข้อมูลนี้ช่วยให้ กทม. รู้ว่ามีร้านอาหารหนาแน่นในย่านใดบ้างของแต่ละเขต ขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคในฐานะพลเมืองได้เห็นว่าร้านใดมีการแยกขยะและเลือกสนับสนุนร้านเหล่านี้
“อยากเชิญชวนทุกคนมาช่วยทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับพวกเราทุกคน และอยากขอฝากโครงการร้านนี้ไม่เทรวม เชื่อว่าทุกคนคงได้มีโอกาสไปกินข้าวนอกบ้าน อย่างน้อยเลยก็คืออาหารตามสั่ง อยากเชิญชวนทุกคนเป็นกระบอกเสียงเพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการร้านอาหาร แยกขยะและสมัครเข้ามาร่วมกับโครงการร้านนี้ไม่เทรวม” อาทิตยา ฝากทิ้งท้าย
หมายเหตุ : สำหรับผู้สนใจโครงการ “ร้านนี้ไม่เทรวม” สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://greener.bangkok.go.th/join-ran-nee-mai-te-ruam/
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี