ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า บอร์ด สปสช. ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็นการสนับสนุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้มีการขยายการใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย โดยในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567ที่ผ่านมา ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน
ได้พิจารณาและเห็นชอบ “ข้อเสนอการขับเคลื่อนสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยมอบให้ สปสช. ดำเนินการตามข้อเสนอ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบบัตรทอง สืบเนื่องจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่12 ก.ย. 2567 ได้กำหนดนโยบายยกระดับการสาธารณสุขไทย (สธ.) สุขภาพแข็งแรงทุกวัยและเศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง
ทั้งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขด้านการยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อการแพทย์ ในระบบบริการสาธารณสุข รวมถึงข้อเสนอจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ได้เสนอมายัง สปสช. เพื่อขอรับการสนับสนุนการขับเคลื่อนบริการการแพทย์แผนไทยในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เนื่องจากการขับเคลื่อนบริการการแพทย์แผนไทยและการใช้ยาสมุนไพรนับเป็นนโยบายสำคัญของ สธ. จึงได้นำมาสู่ข้อเสนอนี้
สำหรับหลักการของการสนับสนุนยาสมุนไพรตามมติบอร์ด สปสช. นี้ จะมุ่งเน้นรายการยาสมุนไพรที่มีศักยภาพ และสามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันสำหรับผู้ป่วย 10 กลุ่มโรคและอาการสำคัญ ประกอบด้วย 1.กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ 2.กลุ่มอาการโควิด-19 ไข้หวัด ไอ เสมหะ 3.กลุ่มอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 4.กลุ่มอาการท้องผูกริดสีดวงทวารหนัก 5.กลุ่มอาการวิงเวียนคลื่นไส้ อาเจียน 6.กลุ่มอาการทางผิวหนัง แผล 7.กลุ่มอาการชาจากอัมพฤกษ์ อัมพาต 8.กลุ่มอาการนอนไม่หลับ
9.กลุ่มอาการท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ)และ 10.กลุ่มอาการเบื่ออาหาร รวมทั้งหมดจำนวน 32 รายการ นอกจากนี้ ยังจะกำหนดการจ่ายชดเชยค่ายาสมุนไพรตามคอร์สการรักษาต่อครั้ง และการพัฒนาศักยภาพให้คลินิกแพทย์แผนไทยของภาคเอกชน ให้สามารถเบิกจ่ายยาสมุนไพรได้ โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานตามที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเสนอ ได้แก่ การเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร อย่างน้อย 10% จากปี 2567 และลดการใช้ยาแผนปัจจุบันในกลุ่มอาการเดียวกันกับการใช้ยาสมุนไพรอย่างน้อย 5%
“หลังจากมติที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบนี้ ทางสำนักงานฯ จะประสานกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการพัฒนาศักยภาพสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้สามารถจัดบริการนวด อบ ประคบ เพื่อการรักษา และสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการอื่นตามมาตรา 3 ในระบบบัตรทอง และให้ สปสช. ออกแบบกลไกบริหารงบประมาณ แหล่งบประมาณ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายชดเชย เสนออนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และกลับมาเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี