ห่วงเมืองไทยก่อความรุนแรงรายวัน ปี’66 พบข่าวผ่านสื่อกว่า 1 พันเรื่อง มากกว่า 50% ไม่พ้นน้ำเมา-ยาเสพติด เป็นตัวกระตุ้น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ บ.บีบีดีโอ กรุงเทพ -สสส. ชูแคมเปญ “เลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง” ยกเคสน้องจีจี้กระตุกสังคม แก้ปัญหาดึงประเทศพ้นตราบาปมีคนทำร้ายกันในครอบครัวเพิ่มขึ้น
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด (BBDO Bangkok) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง
โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ เสี่ยงต่อการมีสุขภาวะ 1.ด้านสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน 2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน 3.ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ สูญเสียค่ารักษาทางการแพทย์มหาศาล หน้าที่การงานมีปัญหา ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ ประเทศขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งต่อเด็กและผู้หญิง จากการศึกษาการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด - 19 กรณีศึกษาประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ(SAB) จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,692 คน ระหว่างวันที่ 17 – 23 ตุลาคม 2564 พบว่า ประชาชน 80% ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ก่อความรำคาญ ทะเลาะวิวาท
“สสส. เห็นความสำคัญของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดปัญหา จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานเชิงรุก ขับเคลื่อนประเด็น สะท้อนปัญหา และถอดบทเรียนไปสู่การหาแนวทางแก้ไขมาตลอด เพราะความรุนแรงในครอบครัว เสี่ยงต่อการมีสุขภาวะทั้ง กาย จิต ปัญญา และสังคมที่ไม่ดี หากไม่ได้รับการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง การรณรงค์ในปีนี้มาพร้อมกับแนวคิด Bring Back 2nd Chance of Life คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง นำประสบการณ์ไปสู่การขับเคลื่อนสังคม พิจารณามาตรการทางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ด้าน นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 รวม 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% โดยแบ่งเป็น 5 ประเภทข่าว ได้แก่ 1.ทำร้ายกัน 433 ข่าว คิดเป็น 39.9% เป็นเรื่องระหว่างสามี-ภรรยามากที่สุด 152 ข่าว คิดเป็น 35.1% พ่อ-แม่-ลูก 108 ข่าว คิดเป็น 24.9% คู่รักแบบแฟน 102 ข่าว คิดเป็น 23.6% เครือญาติ 71 ข่าว คิดเป็น 16.4% สาเหตุเพราะหึงหวง ง้อขอคืนดีไม่ได้ โมโห บันดาลโทสะ 2.ฆ่ากัน 388 ข่าว คิดเป็น 35.7% เกิดขึ้นในคู่สามี-ภรรยา 168 ข่าว คิดเป็น 43.3% เครือญาติ 94 ข่าว คิดเป็น 24.2% คู่รักแบบแฟน 64 ข่าว คิดเป็น 16.5% พ่อ แม่ ลูก 59 ข่าว คิดเป็น 15.2% และฆ่ายกครัว 3 ข่าว คิดเป็น 0.8% สาเหตุเพราะหึงหวง ตามง้อไม่สำเร็จ บันดาลโทสะ โมโหที่ถูกบอกเลิก ขัดแย้งเรื่องการเงิน 3.ฆ่าตัวตาย 213 ข่าว คิดเป็น 19.6% โดยผู้ชายเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 140 ข่าว คิดเป็น 65.7% ผู้หญิงเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 68 ข่าว คิดเป็น 31.9% และ lgbtq+ฆ่าตัวตาย 5 ข่าว คิดเป็น 2.4% สาเหตุเพราะน้อยใจคนรัก เครียดปัญหาหนี้สิน ตกงาน ป่วยจากโรคซึมเศร้า 4.ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 46 ข่าว คิดเป็น 4.2% โดยเกิดระหว่างเครือญาติ พ่อเลี้ยงทำกับลูกเลี้ยง ที่น่าตกใจคือพ่อทำกับลูกแท้ๆ ถึง 11 ข่าว คิดเป็น 23.9% และ 5.ความรุนแรงในครอบครัวอื่นๆ จำนวน 6 ข่าว คิดเป็น 0.6%
นางสาวอังคณา กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอในการแก้ปัญหา 1.สมาชิกในครอบครัวสังเกตพฤติกรรมความรุนแรงคนในครอบครัว สื่อสาร แก้ปัญหาร่วมกัน 2.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงควรสื่อสารปัญหาให้คนที่ไว้วางใจฟัง หรือปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มองเป็นเรื่องปกติ 3.ชุมชนเป็นฐานในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว บูรณาการงานร่วมกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศูนย์ยุติธรรมชุมชน กระทรวงยุติธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้4.มีมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น ทั้งอาวุธปืน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด โดยเฉพาะอาวุธปืนที่ต้องมีการขึ้นทะเบียน ต้องควบคุมและปราบปรามอาวุธเถื่อนอย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด
ด้าน นายทสร บุณยเนตร หัวหน้าครีเอทีฟ บจก.บีบีดีโอ กรุงเทพ กล่าวว่า การพัฒนาแคมเปญรณรงค์ปีนี้ มีแนวคิด “อย่าให้โอกาสความรุนแรง ครั้งที่ 2” โดยยกกรณี น้องจีจี้-นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 1 ครั้ง มีการยื่นโอกาสให้กับคนรัก สุดท้ายเสียชีวิตทั้งคู่ ทั้งนี้ ได้ปรึกษาครอบครัวน้องจีจี้เพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้กับสังคมได้รับทราบในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณา อย่าให้โอกาสความรุนแรงกับคนอื่น แล้วเก็บโอกาสนั้นให้กับตัวเอง เพราะที่จริงแล้วน้องจีจี้ยังมีโอกาสในชีวิตอีกเยอะ ซึ่งน้องจีจี้กำลังจะเป็นนักร้อง ได้เล่นภาพยนตร์เรื่องแรกไปแล้ว แต่การให้โอกาสนี้กับความรุนแรง จึงทำให้ไม่มีโอกาสให้กับตัวเอง นอกจากนี้ยังนำเสนอช่องทางการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านกฎหมาย ที่พักชั่วคราว และแหล่งงาน
“ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมา 10 ปี มีแต่คำว่านับถือ เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ไม่ได้มาทำงานเพราะเงินแต่มาเพราะใจ และได้สสส. เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ผมจึงตั้งใจมากเพราะได้นำความรู้ความสามารถจากวิชาชีพโฆษณา ทำแคมเปญนี้ทำให้สังคมเกิดการรับรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็เป็นคำแนะนำเบื้องต้นให้คนที่เผชิญปัญหาอยู่ เพราะวันนี้ประเทศไทยมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงอันดับสูงเป็นที่ 2 ของโลก ผมอยากแก้ปัญหาให้ไทยติดอันดับด้านดีๆ มากกว่า” นายทสร กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี