หมายเหตุ : บทความนี้เดิมชื่อ “Climate Change กับอนาคตตลาดทุนไทย : ความเสี่ยงและโอกาสใหม่” เขียนโดยคณาจารย์และอดีตคณาจารย์จาก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส, ศ.ดร.ภรศิษฐ์ จิราภรณ์, ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน และ ผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ ก่อนได้รับการปรับปรุงเนื้อหาเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ฉบับหนังสือพิมพ์
งานวิจัยในหัวข้อ “Climate change and shareholder value: Evidence from textual analysis and Trump’s unexpected victory” ซึ่งเป็นงานวิจัยจากทีมวิจัยของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่องานวิจัยด้านบรรษัทภิบาลและการเงินเชิงพฤติกรรม สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้น
งานวิจัยดังกล่าวใช้การวิเคราะห์ข้อความและชัยชนะที่คาดไม่ถึงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2016 (2559) เป็นกรณีศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีปฏิกิริยาตลาดเชิงลบมากกว่าเมื่อทรัมป์ชนะ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ทรัมป์ ซึ่งสงสัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะลดการสนับสนุนทางกฎระเบียบในการรับมือปัญหานี้ ส่งผลให้บริษัทที่เปราะบางได้รับความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
“งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติและการตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองมีผลกระทบอย่างมากต่อมูลค่าหุ้นของบริษัทของบริษัทที่อยู่ในตลาด นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางกฎระเบียบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทำให้นักลงทุนต้องปรับกลยุทธ์ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อความอยู่รอดของบริษัทในอนาคต”
งานวิจัยได้สรุปประเด็นสำคัญไว้ 1.ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ภัยคุกคามและโอกาส หากมองในบริบทของประเทศไทย ความเสี่ยงจากน้ำท่วมเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น โรงงานในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยที่เผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ส่งผลให้หลายบริษัทต้องย้ายฐานการผลิตหรือลงทุนในมาตรการป้องกันน้ำท่วม การวางแผนรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
2.การวิเคราะห์กรณีศึกษาโดยใช้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวอย่างในการศึกษาผลกระทบของความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้นได้ชัดเนื่องจากทรัมป์เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ที่แสดงความสงสัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนทางนโยบายในช่วงเวลาที่เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยนักลงทุนแสดงความกังวลว่าแผนการรับมือของบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากการลดทอนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมองในบริบทของประเทศไทย ภาครัฐและภาคเอกชนควรคำนึงถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศคู่ค้า เช่น หากประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สหภาพยุโรป การเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน
3.การปรับตัวและโอกาสทางธุรกิจของบริษัทในตลาดทุนกับความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงแต่ก็ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับบริษัทที่สามารถปรับตัวได้ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด หรือโครงการที่เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่ยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมถือเป็นโอกาสสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหากหน่วยงานรัฐสามารถกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น่าจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ หรือการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด
“นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และหน่วยงานกำกับดูแล อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้นักลงทุนสามารถประเมินความเสี่ยง และตัดสินใจลงทุนได้อย่างรอบคอบ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต”
นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง รวมทั้งไทยที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย Net Zero (ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ.2608) ยังต้องคำนึงถึง “การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และเศรษฐกิจการเมือง (Geoeconomics)” ซึ่งภูมิรัฐศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบการลงทุนและการดำเนินงานของบริษัทมหาชน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลทั่วโลกกำลังผลักดันกฎระเบียบใหม่เพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ
อาทิ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การถอนตัวของประเทศมหาอำนาจ นักลงทุนอาจกังวลและกระทบต่อมูลค่าหุ้นของบริษัทที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างในประเทศไทยที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมส่งออกที่ต้องเผชิญกับมาตรการทางสิ่งแวดล้อมจากประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป (EU) หากบริษัทไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ได้ก็อาจสูญเสียตลาดหรือเผชิญกับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น
ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง เช่น การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สามารถส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อบริษัทมหาชน เช่น บริษัทที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะที่บริษัทที่ต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิลอาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีคาร์บอน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองยังอาจส่งผลต่อโอกาสทางการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เช่น บริษัทที่ลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาจสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้ขณะที่บริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ได้อาจสูญเสียโอกาสและกลายเป็นเป้าหมายของการถูกเลิกกิจการ
“การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2065 ถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่ต้องการการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ลดการปล่อยคาร์บอนยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านต้นทุนที่สูงและความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมือง นักลงทุนต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อตัดสินใจลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย
ยกตัวอย่างเช่น ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนพลังงานสะอาด ความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเติม และค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเทคโนโลยี สิ่งนี้อาจเป็นภาระต่อนักลงทุนและภาคเอกชนในระยะสั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แม้ว่าจะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือการสนับสนุนที่ไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้การพัฒนาไม่ยั่งยืนและกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว”
อนึ่ง “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technology Disruption)” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อนักลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย แม้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน แต่ก็ยังมาพร้อมกับข้อจำกัด เช่น การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่อาจล้าสมัยอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะสามารถให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยีและผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
การวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น จะเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืนและการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในอนาคต!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี